หลีกเลี่ยงนโยบายรัดเข็มขัดด่วน!! UN มองเศรษฐกิจปีนี้โตไม่ถึง 2% หลังเจอภาวะถดถอยจากเงินเฟ้อ-วิกฤตหนี้

ช่วงที่ผ่านมาหลายประเทศได้เริ่มประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจในเดือนธ.ค. 2565 ออกมามากมาย ทั้งอัตราเงินเฟ้อ ดุลการค้า และตัวเลข GDP นั่นทำให้ ‘องค์การสหประชาชาติ (UN)’ ได้ออกมาคาดการณ์ และเปิดเผยรายงานสถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกประจำปี 2566

โดย UN มองว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวเพียง 1.9% ซึ่งตัวเลขระดับนี้ถือว่าเป็นการเติบโตที่หดตัวอย่างมากจากปี 2565 ที่อาจจะขยายตัว 3% และการเติบโตไม่ถึง 2% ในปีนี้ถือว่าเป็นการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบหลาย 10 ปี

ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตลดน้อยลงเกิดจากประเทศในกลุ่มที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา มีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะถดถอยในปี 2566 โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา แรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในสหรัฐ สหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้อ่อนลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลกผ่านทางช่องทางต่าง ๆ มากมาย

เห็นได้จากสหรัฐที่ GDP จะขยายตัวเพียง 0.4% หลังจากที่มีการขยายตัว ประมาณ 1.8% ในปี 2565 แต่เศรษฐกิจจีนในปี 2566 จะขยายตัวถึง 4.8% โดยได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลจีนยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ในช่วงปลายปี 2565 รวมทั้งการผ่อนคลายนโยบายการเงินและการคลัง

อย่างไรก็ตาม UN เตือนว่า ภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตช้าลง ประกอบกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และภาวะเปราะบางที่เกิดจากวิกฤตหนี้สินนั้น จะส่งผลกระทบต่อความพยายามในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะยิ่งทำให้ผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในปัจจุบันทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกหลีกเลี่ยงการใช้นโยบายรัดเข็มขัดด้านการคลังที่จะเป็นการขัดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อภาคส่วนที่เปราะบางมากที่สุด อีกทั้งส่งผลกระทบต่อเป้าหมายในการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ และเป็นอุปสรรคต่อแนวโน้มการพัฒนาจากรุ่นสู่รุ่น

ซึ่ง UN แนะนำให้รัฐบาลทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการจัดสรรการใช้จ่ายด้านสาธารณะ ผ่านทางการใช้นโยบายแทรกแซงโดยตรงเพื่อกระตุ้นการสร้างงานและสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้นั้น รัฐบาลจะต้องเสริมสร้างระบบป้องกันสังคมให้แข็งแกร่ง รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะยังคงสนับสนุนเศรษฐกิจผ่านการใช้นโยบายอุดหนุนแบบเจาะจงเป้าหมายและใช้เพียงชั่วคราว ตลอดจนการปรับลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค ซึ่งสามารถดำเนินการได้ด้วยการปรับลดภาษีการอุปโภคบริโภคหรือภาษีศุลกากร

อย่างไรก็ตามถึงแม้เศรษฐกิจโลกจะเติบโตน้อยลง แต่หากมองเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉลียใต้แล้วถือว่ายังมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่า โดยที่ UN คาดเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกปีนี้โต 4.4% โดยที่เริ่มเห็นการฟื้นตัวท่ามกลางความไม่แน่นอนทั่วโลก

ที่มา : UN

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

#Businessplus #Business #นิตยสารBusinessplus #เศรษฐกิจ #GDP