หลังจากที่มีข่าวลือ ว่า UBER ตัดสินใจขายกิจการให้ Grab ในที่สุดดีลนี้ก็จบลงอย่างสวยงามภายใต้ข้อตกลงที่มีมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์การซื้อธุรกิจออนไลน์ในภูมิภาคคาดว่ามีมูลค่าอยู่ที่ 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 192,000 ล้านบาท
Grab ได้อะไรจากดีลนี้
ปัจจุบัน แอพพลิเคชั่นเรียกรถ Grab นี้มีผู้ดาวน์โหลดไปแล้วกว่า 86 ล้านครั้ง และเปิดให้บริการ 195 เมืองใน 8 ประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และให้บริการหลากหลายที่สุด ได้แก่ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ คาร์พูล รวมไปถึงบริการรับส่งอาหารและสินค้า
การที่ Grab เข้าซื้อกิจการ UBER ในครั้งนี้จะช่วยให้บริการเรียกรถโดยสารผ่านแอพพลิเคชั่นและรับส่งอาหาร ของ Grab แข็งแกร่งมากขึ้น และหลังการควบรวมธุรกิจ แกร็บจะมุ่งพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวสู่การเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการแบบ O2O (Online to Offline) และผู้ให้บริการรับส่งอาหารชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
UBER จะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นด้วย
การที่ UBER รีบตัดสินใจขายกิจการให้กับ Grab ส่วนหนึ่งมาจากแรงกดดันของ SoftBank และทาง Didi Chuxing กดดันให้มีการซื้อกิจการระหว่างกัน เพราะว่าเม็ดเงินที่ใช้ในศึกสงครามเรียกรถในแต่ละปีทำให้แต่ละฝ่ายขาดทุนไปมหาศาลถึงหลักพันล้านเหรียญเลยทีเดียว และทาง UBER เองก็พยายามจะทำให้บริษัทมีกำไรให้ได้เพื่อที่เป้าหมายจะได้นำบริษัทเข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์
สำหรับข้อตกลงในการขายกิจการครั้งนี้ UBER จะเข้าถือหุ้นใน Grab 27.5% และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของUBER จะเข้าร่วมเป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารของ Grab ด้วย
“ เราตื่นเต้นที่จะได้ทำงานกับแอนโธนี่และทีมของเขา และพร้อมแล้วที่จะร่วมก้าวใหม่ไปกับแกร็บในอนาคต และข้อตกลงครั้งนี้ ถือเป็นเครื่องแสดงถึงการเติบโตอย่างเยี่ยมยอดของธุรกิจอูเบอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา โดยจะช่วยให้เราสามารถเติบโตมากยิ่งขึ้น ในระหว่างที่เราลงทุนอย่างมหาศาลเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีเพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดในโลกให้แก่ลูกค้า” ดารา โคสโรว์ชาฮี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ UBER กล่าว
แผนการพัฒนาธุรกิจในอนาคต Grab เตรียมให้บริการ O2O (Online to Offline)
หลังจากการควบรวมกิจการ Grab เตรียมเดินหน้าพัฒนากิจการ เข้าสู่การเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการแบบ O2O (Online to Offline) ชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย Grab จะมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและขยายพื้นที่การให้บริการ ดังนี้
- บริการรับส่งอาหาร เตรียมขยายธุรกิจแกร็บฟู้ด (GrabFood) เพิ่มอีกสองประเทศ คือ สิงคโปร์และมาเลเซีย จากเดิมที่มีให้บริการอยู่แล้วในประเทศอินโดนีเซียและไทย ทั้งนี้ แกร็บ มีแผนเปิดให้บริการแกร็บฟู้ดในทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังการควบรวมธุรกิจของอูเบอร์อีทส์เข้ามาในบริการ
- บริการเดินทางขนส่ง Grab เตรียมขยายบริการท้องถิ่น พร้อมมอบโซลูชั่นที่มากขึ้นผ่านการร่วมมือกับผู้ให้บริการเดินทางและบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ นอกจากนี้ แกร็บจะสนับสนุนรัฐบาลและผู้ให้บริการขนส่ง เพื่อสร้างเครือข่ายการเดินทางสาธารณะที่หลากหลายในแบบไร้รอยต่อ หลังประกาศทดลองให้บริการ แกร็บไซเคิล (GrabCycle) บริการจักรยานและอุปกรณ์มือถือร่วม และบริการ แกร็บชัตเติ้ล พลัส (GrabShuttle Plus) บริการรถโดยสารประจำทางแบบออนดีมานด์ ไปก่อนหน้านี้
- บริการชำระเงินผ่านมือถือและบริการทางการเงิน เตรียมขยายและยกระดับการให้บริการต่างๆ ภายใต้ แกร็บไฟแนนเชียล (Grab Financial) ให้บริการชำระเงินผ่านมือถือ บริการกู้ยืมสำหรับรายย่อย (micro-financing) และบริการประกัน รวมไปถึงบริการอื่นๆ สำหรับลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน และผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยหลายล้านรายในภูมิภาค ทั้งนี้ บริการ Mobile Wallet ของแกร็บเพย์ จะพร้อมเปิดให้บริการในทุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Grab ภายในปลายปีนี้
เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่น แกร็บและอูเบอร์จะทำงานร่วมกันในการย้ายฐานข้อมูลรายชื่อคนขับ และผู้โดยสารจากแอพพลิเคชั่น UBER รวมไปถึงลูกค้าที่สั่งอาหาร ผู้จัดส่ง และพันธมิตรร้านอาหารจากแอพพลิเคชั่นอูเบอร์อีทส์ ไปยังแพลตฟอร์มของแกร็บ โดยแอพพลิชั่นอูเบอร์จะให้บริการต่อไปอีกเป็นเวลาสองสัปดาห์ เพื่อให้เวลาแก่คนขับในการเข้าไปลงทะเบียนสมัครกับแกร็บทางช่องทางออนไลน์ที่ grab.com
ทั้งนี้ แอพพลิเคชั่นอูเบอร์อีทส์ จะให้บริการต่อไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2561 และหลังจากนั้นข้อมูลรายชื่อผู้จัดส่งและพันธมิตรร้านอาหารก็จะถูกถ่ายโอนไปยังแอพพลิเคชั่นของแกร็บ
ข้อดีของการควบรวมกินการสำหรับผู้ใช้งานคือ ต้องเสียเวลาเปิดหลายๆแอปฯเพื่อเปรียบเทียบราคา ส่วนข้อเสียคือมีตัวเลือกในการใช้บริการน้อยลง