ตุรเคียประเทศที่เผชิญกับภาวะ ‘สมองไหล’ และค่าเงินที่เสื่อมถอยจากความตั้งใจของผู้นำ

ประเทศตุรเคีย (ตุรกี) เป็นประเทศที่มีพื้นที่อยู่ทั้งในทวีปยุโรปและเอเชีย ซึ่งการเป็นสะพานที่เชื่อมระหว่าง 2 ทวีป และมีวัฒนธรรมและความเป็นอยู่แบบยุโรป ทำให้ประเทศแห่งนี้เป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ดังนั้นโครงสร้างเศรษฐกิจของตุรเคียจะเน้นรายได้จากการผลิตเพื่อการส่งออก และการท่องเที่ยวเป็นหลัก แม้สถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมาทำให้ตุรเคียต้องเผชิญกับรายได้จากการท่องเที่ยวหดตัว ประกอบกับต้องเผชิญเงินเฟ้อในระดับสูงมานานจากการแทรกแซงนโยบายการเงินของรัฐบาล ส่งผลให้ค่าเงินลีราตุรเคียเสื่อมค่าอย่างหนักจนแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงปี 2566 แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่า ค่าเงินที่อ่อนค่าลงนี้ได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจำนวนมาก จนส่งผลให้ช่วงปลายปีนี้ การท่องเที่ยวตุรเคียได้กลับมาคึกคักอย่างเต็มรูปแบบ

จากการลงพื้นที่สำรวจตลาดในตุรเคียของ ‘Business+’ พบว่าประชาชนในพื้นที่ยังคงต้องเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพ ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค ไปจนถึงราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ถึงแม้ว่าเงินเฟ้อจะลดความร้อนแรงลงจากปี 2565 แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูง ล่าสุดเงินเฟ้อตุรกีพุ่ง 61.53% ในเดือน ก.ย. ซึ่งเงินเฟ้อที่สูงมากนี้ส่งผลให้บรรยากาศของตลาดสดในอิสตันบูล ซึ่งเป็นเมืองที่ปกติแล้วจะมีความคึกคักเป็นอย่างมาก ยิ่งมีความคึกคักมากข้นอีก เพราะยิ่งค่าเงินอ่อนค่าเท่าไหร่ สินค้าในตุรเคียก็จะถูกลงในสายตานักท่องเที่ยว

โดยปกติแล้ว อิสตันบูลเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศตุรเคีย (เมืองเชื่อมทวีปยูเรเชีย) ถึงแม้จะมีนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น และเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัว แต่หากมองในมุมของคนในประเทศเองแล้วนั้น ยิ่งค่าเงินด้อยค่าลงเท่ากับอำนาจเงินคนตุรเคียน้อยลง และเผชิญกับราคาสินค้าที่ยังคงสูง ประกอบกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจยังน้อยจึงทำให้ผู้บริโภคเลือกที่จะไม่ใช้จ่ายแบบฟุ่มเฟือย โดยเราพบว่าในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ราคาอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 72.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน ขณะที่เงินเฟ้อด้านบริการ เพิ่มขึ้นเป็น 79.6% จาก 69.7% ในช่วงเวลาเดียวกัน

 

เศรษฐกิจตุรเคีย มีปัญหาตั้งแต่ก่อน COVID-19

ทั้งนี้ หากอิงจากคอนเทนต์ก่อนหน้าที่ Business+ ได้นำเสนอในไปแล้วในคอนเทนต์เปิดตัวเลขเศรษฐกิจตุรเคียที่มีปัญหาก่อนโควิด พร้อมอัตราเงินเฟ้อสูงเป็นอันดับที่ 4 ของโลก’ ซึ่งสรุปภาพรวมง่าย ๆ อีกครั้งคือ  หากเราดูข้อมูลของตัวเลขเศรษฐกิจตุรเคีย (GDP) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจของตุรเคียเริ่มฟื้นคืนหลังจากสถานการณ์ COVID-19 โดยในปี 2563 ตัวเลข GDP อยู่ที่ 720.29 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และปี 2564 ขึ้นมาอยู่ที่ 819.03 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนปีล่าสุด 2565 อยู่ที่ 905.99 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งดูเหมือนการฟื้นตัวจะเป็นไปได้ค่อนข้างดีเพราะในปี 2563 ตัวเลขเศรษฐกิจนั้นพลิกฟื้นกลับขึ้นมายืนเหนือปี 2560 ซึ่งเป็นปีที่ยังไม่เผชิญกับ COVID-19 เสียด้วยซ้ำ

แต่เราได้พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า จริงๆ แล้วในช่วง 7 ปีก่อนจะเผชิญกับ COVID-19 ตัวเลขเศรษฐกิจของตุรเคียซึมตัวลงอย่างต่อเนื่อง หากย้อนกลับไปในปี 2556 ตัวเลข GDP อยู่ที่ 957.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ต่อมาคือปี 2557 ตัวเลขนี้ซึมตัวลงมาอยู่ที่ 938.93 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และซึมตัวลงมาอยู่แถวๆ 850 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเนื่องอีก 4 ปี ดังนั้น อาจพูดได้ว่า จริงๆ แล้วเศรษฐกิจภายในของตุรเคียนั้น มีปัญหามาตั้งแต่ก่อนทั่วโลกเผชิญกับโรคระบาด

ปี GDP (USD Billion)
2013 957.8
2014 938.93
2015 864.31
2016 869.68
2017 858.99
2018 778.48
2019 759.53
2020 720.29
2021 819.03
2022 909.55

ที่มา : tradingeconomics

คำถามคือ ทำไมประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และอารยธรรมโบราณ ขณะที่ยังเป็นประเทศที่มีทำเลดีเป็นจุดขายจากการเป็นดินแดน 2 ทวีป ซึ่งควรจะสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้โดยแทบไม่ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจอื่นเลย ถึงได้มีตัวเลขเศรษฐกิจที่ถดถอยลงในช่วงก่อน COVID-19?

เราพบข้อมูลว่า ถึงแม้ตุรเคียจะมีรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อน COVID-19 ตุรเคียมีรายได้จากการท่องเที่ยวที่ 3.45 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 1,276,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดที่ทำสถิติซึ่งเป็นยอดที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ไม่อาจทดแทนยอดการส่งออกที่ลดลงได้หลังจากในปี 2561 ซึ่งทางสหรัฐฯ ได้คว่ำบาตรตุรเคีย และขึ้นกำแพงภาษีเหล็กและอลูมิเนียมจากตุรกีจากเดิม 20% กลายเป็น 50% แน่นอนว่าส่งผลให้รายได้จากการส่งออกลดฮวบลงไป

นอกจากนี้เศรษฐกิจภายในนั้น มีปัญหามาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงที่ตุรเคียเริ่มประสบกับปัญหาหนี้ต่างประเทศ เพราะรัฐบาลได้มีการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในประเทศผ่านการก่อหนี้ของรัฐบาลเพื่อมาลงทุนจนทำให้ตุรเคียขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นจำนวนมาก รวมทั้งหมดราว 5 ล้านล้านบาทจนต้องกู้หนี้ยืมสินจากต่างประเทศมากขึ้น

ต่อมาในปี 2561 หนี้ต่างประเทศของตุรเคีย เพิ่มขึ้นสูงเป็นอย่างมาก จนทำให้หนี้สินต่อ GDP ขึ้นไปแตะราวๆ 60% ซึ่งหนี้สินที่สูงมากนี้ประกอบกับมีสงครามกับกองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย ในซีเรีย ทั้ง 2 ส่วนนี้ทำให้เกิดการไหลออกของเงินทุนจากความไม่เชื่อมั่นในเครดิตของตุรเคีย และเมื่อเม็ดเงินที่ไหลออกทำให้ค่าเงินตุรเคียอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง และหนำซ้ำยังต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น แต่ผู้นำของตุรเคียกลับเลือกที่จะแทรกแซงนโยบายทางการเงินแบบหักทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ทิ้ง ด้วยการลดดอกเบี้ยในช่วงเงินเฟ้อในปี 2557 เพราะคาดหวังว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มศักยภาพในการส่งออกด้วยการใช้ค่าเงินที่ได้เปรียบในการแข่งขัน

แต่ผลกระทบสุดท้ายแล้วรุนแรงมากกว่านั้น เพราะการลดดอกเบี้ยยิ่งทำให้เงินเฟ้อพุ่งมากขึ้นเท่านั้น และค่าเงินที่เสื่อมถอยตาม ยิ่งทำให้ก้อนหนี้เป็นสกุลเงินต่างประเทศสูงขึ้น และเกิดการไหลออกของเงินทุนจากต่างประเทศหนักขึ้นไปอีก ถึงแม้ว่ารัฐบาลที่ก่อตั้งชุดใหม่ (โดยผู้นำเดิม) จะเข้ามาแก้ไขด้วยการขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่ปี 2564 จนปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 30% เพื่อสกัดเงินเฟ้อให้เข้าสู่กรอบเข้าเป้าหมาย แต่ก็ยังถูกประเมินว่าเงินเฟ้อในช่วงปลายปี 2566 จะยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 58%

แน่นอนว่าการที่ธนาคารกลางตุรเคียยังไม่สามารถสกัดเงินเฟ้อเอาไว้ได้ ได้ส่งผลกระทบจนเกิดเป็นวิกฤตค่าครองชีพ เนื่องจากต้นทุนอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น (อำนาจเงินตุรเคียด้อยค่าลง) และวิกฤตค่าครองชีพได้ทำให้ความเชื่อมั่นในรัฐบาลน้อยลงจนได้ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ของโครงสร้างสังคมนั่นคือ ตุรเคียกำลังเผชิญกับภาวะสมองไหล ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะสูงจากประเทศตัวเองเพื่อหนีจากสภาพของสังคม การเมือง และเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ไปยังจุดหมายปลายทางอื่นที่ดีกว่า ซึ่งนั่นจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจในประเทศตกต่ำลง โดยประเทศที่เคยเผชิญปัญหาเหล่านี้คือ ไต้หวันเคยเผชิญในช่วงปี 2543 – 2523 และเหมือนที่จีนเคยเผชิญในระหว่างปี 2521 ถึง 2550 ซึ่งแน่นอนว่าประเทศที่เผชิญกับปัญหานี้จะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานที่ทำให้ประเทศขาดแคลนบุคลากรที่จะส่งเสริมให้ประเทศก้าวหน้าเป็นสังคมเทคโนโลยี

เป็นที่น่าจับตาต่อว่า รัฐบาลตุรเคียจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจในครั้งนี้อย่างไร ซึ่งการใช้นโยบายและกลยุทธ์การเงินของธนารคารกลางตุรเคียจะสามารถช่วยบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่กำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาระดับอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงมาก รวมถึงการร่วงลงของค่าเงินลีร่าตุรเคียอย่างรวดเร็วจะกระทบต่อผู้บริโภคและนักลงทุน มากมาย ซึ่งการดำเนินการของนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไปอาจประสบผลสำเร็จล่าช้า และทำให้ประชาชนและนักลงทุนจะยังคงประสบปัญหาทั้งอัตราเงินเฟ้อ และวิกฤตเงินลีราตุรเคีย เป็นปัญหาต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ หากตุรกีสามารถคงระดับของอัตราเงินเฟ้อที่ระยะกลางตามที่กำหนด และก าหนดนโยบายทางการเงินได้อย่างชัดเจน จะสามารถรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ และสร้างความเชื่อมนั่ แก่นกัลงทุนตุรกีและต่างชาติ

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : tradingeconomics , ankara.thaiembassy , CNBC ,ditp

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

.

#Businessplus #นิตยสารBusinessplus #ตุรเคีย #สมองไหล #เศรษฐกิจตุรเคีย #Turkiye