เปิดตัวเลขเศรษฐกิจตุรเคียที่มีปัญหาก่อนโควิด พร้อมอัตราเงินเฟ้อสูงเป็นอันดับที่ 4 ของโลก

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราจะได้เห็นคนไทยไปท่องเที่ยวที่ประเทศตุรเคีย (ตุรกี) กันมากขึ้น สาเหตุเป็นเพราะตุรกี เป็นหนึ่งในประเทศปลอดวีซ่าในยุโรป ซึ่งหนังสือเดินทางของไทยในปัจจุบันไม่ต้องขอวีซ่าเข้าประเทศตุรกีหากอยู่ไม่เกิน 30 วัน โดยที่ทาง ต.ม. จะประทับตราอนุญาต ให้เข้าเมืองได้ฟรี 30 วัน ซึ่งตุรเคียเป็นประเทศ 2 ทวีปที่มีพื้นที่อยู่ในทวีปยุโรปและเอเชีย

แน่นอนพอมีคำว่ายุโรปก็ทำให้คนไทยอยากไปสัมผัส ยิ่งประกอบกับค่าครองชีพที่ถูกพอ ๆ กับไทย และยังเป็นประเทศที่สวยงามด้วยมรดกโลก ตำนาน และประวัติศาสตร์ แหล่งอารยธรรมโบราณ ผู้คนเป็นมิตร จึงทำให้คนไทยเลือกที่จะไปท่องเที่ยวตุรเคียกันเป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา โดย ตุรเคีย เป็นประเทศมีพื้นที่มากกว่าไทย 1.5 เท่า และมีประชากรราว 82 ล้านคน เทียบกับไทยที่มีประชากร 71.6 ล้านคน ซึ่งคนในประเทศนับถือศาสนาอิสลามเป็นหลัก (99%) คริสต์ยิว (1%)

โดยในมุมมองของเศรษฐกิจแล้วตัวเลข GDP นั้น อยู่ที่ราว 905.99 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 10.62% จากปี 2564 และหากมาเทียบกับไทยซึ่งอยู่ที่ 495.34 พันล้านดอลลาร์ก็ยังถือว่าเป็นประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าไทยเป็นเท่าตัว ส่วน GDP Per Capita ของตุรเคียอยู่ที่ราว 13,990.75 เหรียญสหรัฐฯ เทียบกับไทย  6,278.17 เหรียญสหรัฐฯ หรือพูดง่ายๆ คือรายได้ต่อหัวของคนตุรเคียมากกว่าคนไทยราว 7,712.58 เหรียญสหรัฐฯ

ส่วนในมุมของการเมืองนั้น ตุรเคียมีผู้นำทางการเมืองคนเดิมมานานกว่า 20 ปี โดย ‘เรเซป ไทยิป เออร์ดวน’ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2546 และขึ้นเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี 2557 โดยที่ผ่านมาเหตุการณ์ทางการเมืองนั้น ก็ได้เกิดความพยายามกระทำรัฐประหารในประเทศตุรกี แต่ล้มเหลว และ เรเซป ไทยิป เออร์ดวน ก็ยังได้ครองตำแหน่งอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของผู้นำตุรเคียได้นำพาให้ประเทศต้องประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจ นั่นคือ ค่าเงินลีราตุรเคียที่เสื่อมค่าลงอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงจนติดอันดับ 4 ของโลก จนหลายฝ่ายมองว่าอาจจะกลายเป็นโมเดลเดียวกับเวเนซูเอล่า

โดยปัญหาที่ตุรเคียต้องเผชิญนั้น เริ่มต้นจากนโยบายการอัดฉีดเงินของภาครัฐที่เข้าไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานจนประเทศขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นจำนวนมากตั้งแต่ช่วงปี 2557 จนต้องกู้หนี้ยืมสินจากต่างประเทศมากขึ้น ประกอบกับปัญหาการท่องเที่ยวที่มาชะลอตัวช่วง COVID-19 และภาคการส่งออกที่รายได้ลดลงหลังถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ และยังถูกซ้ำเติมจากปัญหาเงินเฟ้อด้านพลังงานจากสงครามที่พุ่งขึ้น โดยจุดที่ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ที่สุดคือการแทรกแซงนโยบายการเงินของ ‘เรเซป ไทยิป เออร์ดวน’ ซึ่งโดยปกติแล้วนโยบายการคลัง และการเงินจะต้องแยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิง แต่ผู้นำตุรเคียกลับเลือกที่จะใช้คำสั่งให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงที่เกิดเงินเฟ้อ (ในขณะที่ทั่วโลกต่างขึ้นอัตราดอกเบี้ย) ปัญหาที่ตามมาคือ ค่าเงินลีราของตุรเคียอ่อนฮวบ และเงินเฟ้อยิ่งพุ่งสูงขึ้นจนล่าสุดอยู่ที่ 73.13% ในเดือนมิ.ย.2566 กลายเป็นประเทศอันดับที่ 4 ของโลกที่เงินเฟ้อสูงที่สุด

อย่างไรก็ตามหากเรามองเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะเห็นได้ว่า การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว หลังจากรัฐบาลกระตุ้นการท่องเที่ยวในตุรเคีย โดยไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าตุรเคียได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า 30 วัน ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่า ตุรเคียมียอดนักเดินทางต่างชาติเพิ่มขึ้น 225.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน แตะ 2.57 ล้านคนในเดือนเม.ย. (กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวตุรเคีย)

ซึ่งตุรเคียมียอดนักเดินทางต่างชาติจากเยอรมนีมากที่สุด ตามมาด้วยบัลแกเรีย และอังกฤษ โดยอิสตันบูล เป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ สามารถดึงดูดนักเดินทางต่างชาติได้ 37.9%

สำหรับประเทศไทยถือว่ามีสัมพันธ์ที่ค่อนข้างดีกับตุรเคียทั้งในแง่ของการเปิดฟรีวีซ่า รวมถึงการทำสัญญาทางการค้าระหว่างกัน ความสัมพันธ์ทางด้านการค้า โดยตุรเคียถือเป็นตลาดที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะการเป็นเป้าหมายการขยายตลาดอาหารฮาลาลของไทยไปสู่สหภาพยุโรป (EU) (เป็นคู่ค้าอันดับที่ 35 ของไทยในตลาดโลก) มีมูลค่าการค้าราว 41,607.67 ล้านบาท

ขณะที่ในแง่ของการท่องเที่ยวนั้น หลายสายการบินในไทยก็ได้เปิดเส้นทางบินใหม่ๆ ไปยังอิสตันบูล อย่าเช่น บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) ได้เตรียมเพิ่มเที่ยวบินไปยังนครอิสตันบูล ประเทศตุรกีในเดือน ธ.ค.66 นี้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งการบินไทยในการเปิดประตูประเทศตุรกี

ทั้งนี้จุดขายของตุรเคียสำหรับคนไทย คือ ค่าใช้จ่ายหรือค่าครองชีพยังค่อนข้างถูก นอกจากนี้เมื่อค่าเงินตุรเคียอ่อนยังทำให้เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวที่แลกเงินดอลลาร์สหรัฐได้ โดยการสำรวจพื้นที่ของ ‘Business+’ เราพบว่า คนไทยไปเที่ยวตุรเคียจำนวนมากหลังเปิดฟรีวีซ่า เพราะตุรเคียยังถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ศูนย์กลางระหว่างเอเชียและยุโรป รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางไปยังตลาดใหม่ๆ เช่น กรีซ จอร์เจีย บัลแกเรีย อาเซอร์ไบจาน กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก และแอฟริกา ซึ่งทำให้ได้ซึมทรัพย์และสัมผัสกับธรรมชาติที่หลากหลาย และวัฒนะธรรมที่แปลกตา โดยเฉพาะการขึ้นชมมบอลลูนยักษ์ที่คัปปาโดเกีย และล่องเรือชมจุดแบ่งเขตแดนระหว่างเอเชียกับยุโรปในอิสตันบลู ดังนั้น ตุรเคียก็ยังคงเป็นจุดหมายสำหรับนักท่องเที่ยวไทยได้เป็นอย่างดี

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : tradingeconomics , ankara.thaiembassy , CNBC ,ditp

ติดตาม Business+ ได้ที่ :https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #นิตยสารBusinessplus #คอนเสิร์ต #เศรษฐกิจ #อาเซียน #ตุรเคีย #ตุรกี