‘Blue Finance’ เครื่องมือสู่ความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน

Blue Finance คือการจัดหาเงินทุนเพื่อสร้างความยั่งยืนของท้องทะเล คุณยงยุทธ เสฏฐวิวรรธน์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการบริหารการเงินกลุ่มและศูนย์บริการร่วมทางการเงิน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เผยว่า Blue Finance เป็นรูปแบบการจัดหาแหล่งเงินทุน พร้อมกับคำมั่นสัญญากับผู้ที่ให้เงินกู้ว่า เราจะดำเนินธุรกิจรวมไปถึงการทำกิจกรรมในส่วนที่จะทำให้ท้องทะเลมีความยั่งยืนขึ้นด้วย ซึ่งคำมั่นสัญญาเหล่านี้จะไปอยู่ในสัญญาเงินกู้ด้วย

ยกตัวอย่างเช่น เราสัญญาว่าเราจะอยู่ในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ Dow Jones Sustainability Index (DJSI) ซึ่งเราก็ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ด้าน ESG เหล่านั้นที่จะมาเป็นตัววัดของทาง DJSI หรือเรามีคำมั่นสัญญาว่าจะปล่อยแก๊สเรือนกระจก (Greenhouse gas) ลดลงทุกปีที่ 4% หรือวัตถุดิบเราก็มีคำมั่นสัญญาว่าจะซื้อปลาจากเรือที่ติดระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อที่เราจะได้เห็นความเป็นไปบนเรือให้มากขึ้นปีละ 5% ทุกปี

 

Blue Finance สำหรับ ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป นั้นมีด้วยกัน 2 มิติก็คือ เงินกู้และหุ้นกู้ เมื่อต้นปี 2021 เรากู้เงินเพื่อความยั่งยืนจากธนาคารทั้งในประเทศไทยและญี่ปุ่นมูลค่ารวมกว่า 12,000 ล้านบาท ถัดมาในช่วงเดือนกรกฎาคม 2021 บริษัทได้มาออกหุ้นกู้ด้านความยั่งยืนในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยด้วยสำหรับหุ้นกู้ประเภทนี้มูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาท ปี 2021 ถือเป็นปีที่เงินกู้ระยะยาวครบกำหนดค่อนข้างเยอะทำให้มีความจำเป็นต้องดำเนินการออกหุ้นกู้อีกหนึ่งครั้งในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2021 มูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท

และเราก็ไปออกเงินกู้ที่ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 อีก 4,000 ล้านบาท ทำให้ทั้งปีเราออกเงินกู้ระยะยาวทั้งหมดรวมแล้วกว่า 27,000 ล้านบาท หรือเทียบเท่า 50% ของเงินกู้ระยะยาวที่บริษัทมี เราใช้เวลาเพียงปีเดียวเท่านั้นในการปรับรูปแบบเงินกู้แบบดั้งเดิมไปสู่เงินกู้ด้านความยั่งยืน พร้อมเป้าหมายระยะยาวภายในปี 2025 ที่ทางบริษัทจะต้องมีรูปแบบเงินกู้ด้านความยั่งยืนอยู่ในพอร์ตคิดเป็นสัดส่วนราว 75%

ด้านโครงสร้างของหุ้นกู้ยังคงมีลักษณะทางการเงินแบบ Step up/Step down คือถ้าทางไทยยูเนี่ยนสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนตามที่ให้สัญญาไว้ได้ บริษัทก็จะได้รับเงื่อนไขทางการเงินพิเศษจากสถาบันการเงินและนักลงทุนผู้ให้กู้ แต่ถ้าหากไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ ทางไทยยูเนี่ยนเองก็จะต้องทำตามเงื่อนไขบางอย่างจากทางผู้ให้กู้เช่นกัน เช่น จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มเติมจากการไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ เป็นต้น

พร้อมกันนั้น เพื่อสร้างความโปร่งใสทางบริษัทได้ดำเนินการภายใต้กรอบการเสนอขายตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืนของบริษัท (Thai Union’s Sustainability-Linked Financing Framework) ซึ่งมี Sustainalytics เป็นผู้ชำนาญการอิสระ (Second Party Opinion) ซึ่งเป็นองค์กรภายนอกที่ทำหน้าที่ประเมินกรอบการเสนอขายตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน

ส่วนกระแสตอบรับของหุ้นกู้บริษัททางคุณยงยุทธ เผยว่า ดีมากและประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยมีหลาย ๆ ปัจจัยช่วยส่งเสริมให้การทำธุรกรรมครั้งนี้ประสบความสำเร็จ อย่างแรกเลยไทยยูเนี่ยนเองถือเป็นผู้นำตลาด มีสินค้าที่หลากหลาย และฐานผลิตของเรามีทั่วโลกพร้อมทั้งเชื่อมโยงทั้งห่วงโซ่อาหาร ขณะที่สถานะการเงินของเรา ทางบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัดได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืนชุดนี้ อยู่ที่ระดับ “A+”

ในขณะที่การทำเครดิตเรตติ้งที่ญี่ปุ่นเราได้ “A-” ซึ่งถือเป็นระดับเดียวกับประเทศไทย ตรงนี้ถือเป็นตัวสะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งได้เป็นอย่างดี และสอดคล้องไปกับการดำเนินงานที่ดีเยี่ยมผ่านผลประกอบการทั้งยอดขายและกำไรที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ข้อดีของหุ้นกู้ด้านความยั่งยืนคือสร้างความแตกต่างระหว่างการกู้แบบดั้งเดิมที่มองเป็นแค่ผู้กู้กับผู้ให้กู้ ตอนนี้กลายเป็นการนำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาพูดคุยเพื่อเสนอเป้าหมายว่าอย่างไรที่เราจะทำเรื่องเหล่านี้ ทำให้เวลาพูดคุยทางธุรกิจเพื่อดำเนินธุรกรรมถูกใช้ไปกับเรื่องเป้าหมายเพื่อสังคมมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องของธุรกิจเหมือนในอดีตอีกแล้ว

นอกจากนี้ นักลงทุนในปัจจุบันก็หันมาให้ความสนใจการลงทุนในกลุ่มนี้มากขึ้น พร้อมแนวโน้มที่มีแต่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ไทยยูเนี่ยนยังได้รับการจัดอันดับจากดัชนี Seafood Stewardship Index (SSI) เป็นอันดับที่ 1 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน สำหรับการทำงานตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยองค์การสหประชาชาติ