มูลค่ารวมของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยรายได้รวมในตลาดอาหารและเครื่องดื่มถูกคาดการณ์ว่าจะสูงถึง 1.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 หรือคิดเป็นเงินไทยคือราวๆ 72,150 ล้านบาท และยังถูกประเมินว่าจะมีการเติบโตเฉลี่ย 12.06% ต่อปี (CAGR 2022-2027) ส่งผลให้มูลค่าตลาดถูกคาดการณ์ว่าจะขึ้นไปสูงถึง 3.69 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 136,530 ล้านบาท ภายในปี 2570 (ที่มา : Statista)
อย่างไรก็ตามเทรนด์อาหารและเครื่องดื่มเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอจากพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น แบรนด์อาหารและเครื่องดื่มจึงต้องจับตาพฤติกรรมการบริโภคของกลุ่มลูกค้าอยู่เสมอ โดย Business+ พบข้อมูลว่าแนวโน้มอาหารเครื่องดื่มที่กำลังจะมาในปี 2024 เกิดจากผลพวงเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน และเทรนด์เทคโนโลยีที่เข้ามาส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง โดยอ้างอิงข้อมูลจาก Mintel ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลด้านการตลาดเชิงกลยุทธ์ในอุตสาหกรรมของสินค้าอุปโภคบริโภคในกลุ่มสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าเพื่อสุขภาพ เครื่องสำอางและของใช้ส่วนตัว ซึ่งครอบคลุมแนวโน้มตลาดทั่วโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคต มีบทวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภค พฤติกรรมการบริโภคใหม่ ๆ พร้อมด้วยข้อมูลเชิงสถิติ แนวโน้มการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยในส่วนของเทรนด์อาหารและเครื่องดื่มในปี 2024 จะเปลี่ยนแปลงไปจาก 3 พฤติกรรมหลักๆ ดังนี้
- ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในกระบวนการแปรรูปอาหารมากขึ้น : โดยปัจจุบันอาหารแปรรรูปและเทคโนโลยีการแปรรูปหลายประเภทได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีความเป็นอาหารท้องถิ่น ดีต่อสุขภาพ และมีความเป็นธรรมชาติ เช่น น้ำมันสกัดเย็น นมหมัก เป็นต้น ขณะที่อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มยุคใหม่มีการตรวจสอบกระบวนการแปรรูปที่เข้มข้นมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับส่วนผสม โภชนาการ และวิธีการผลิต
ซึ่งผลการสำรวจของบริษัท Mintel พบว่า ชาวจีนที่มีอายุระหว่าง 50 – 65 ปี จำนวน 79% เห็นว่าการรับประทานอาหารแปรรูปน้อยลงเป็นวิธีที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพ ส่วนชาวอเมริกันวัยกลางคน 34% ให้ความสำคัญต่อการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารหรือเครื่องดื่มนอกจากปัจจัยด้านราคาและรสชาติแล้ว การแปรรูปของผลิตภัณฑ์ที่สูงก็เป็นข้อกังวลของพวกเขาด้วย ส่วนชาวอินเดีย 47% ชาวชิลี 34% และชาวสเปน 28% ระบุว่าหากผลิตภัณฑ์ทางเลือกจากนมและเนื้อจากพืชมีการแปรรูปน้อยลง ก็มีแนวโน้มที่จะเลือกรับประทานมากขึ้น
นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่าตั้งแต่ปี 2024 ผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นมีความสมัครใจที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับระดับการแปรรูปของอาหารและเครื่องดื่มผ่านรายงานสื่อ กฎระเบียบ และคำอธิบายบนบรรจุภัณฑ์มากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เวลาที่เลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มผู้บริโภคจะพิจารณาจากระดับการแปรรูปมากขึ้น รวมถึงระมัดระวังต่อความถี่ในการรับประทานอาหารแปรรูปมากขึ้นด้วย ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์ที่มีการแปรรูปไม่สูงและมีคุณค่าโภชนาการสูงจะได้รับความนิยมจากผู้บริโภค และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเลือกอาหารและเครื่องดื่มที่มีระดับการแปรรูปต่ำ มีส่วนผสมหมุนเวียนที่อุดมไปด้วย วิตามิน แรธาตุ เซลลูโลส โปรตีน และสารอาหารอื่นๆ
ไม่เพียงเท่านั้นผลสำรวจยังพบว่า ผู้บริโภคชาวไทย 47% ผู้บริโภคชาวแคนาดา 32% และผู้บริโภคชาวไอแลนด์ 33% เห็นว่าอาหารที่ช่วยในการรับประทานผลไม้และผักเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเลือกซื้ออาหาร ขณะที่ผู้บริโภคที่ซื้อผักและผลไม้ชาวอเมริกัน 47% เห็นว่า สินค้าเกษตรแปรรูป เช่น มะเขือเทศกระป๋อง สามารถทดแทนผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรที่มีความสดใหม่ได้ดีเช่นกัน
ดังนั้น อาหารและเครืองดื่มแปรรูปที่เน้นการใช้เทคโนโลยีการแปรรูปอาหารจะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพมากขึ้น เช่น การเสริมสร้างโภชนาการ การลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ยังถือเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ยังคงมีศักยภาพในการเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อแบรนด์สามารถอธิบายประโยชน์ของการแปรรูปในภาษาที่ผู้บริโภคเข้าใจได้ง่าย ในขณะที่แบรนด์ที่ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีการแปรรูปสูงเกิน ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มคำเตือนให้แก่ผู้บริโภคด้วยการระบุปริมาณไขมัน น้ำตาลและเกลือที่สูงบนบรรจุภัณฑ์ด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันแบรนด์อาหารมีรูปแบบในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น โดยบริษัท Mintel ให้ข้อมูลด้านเทคโนโลยีการแปรรูปของแบรนด์อาหารที่ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ Pureharvest ของออสเตรเลีย ที่ได้พัฒนาเครื่องดื่มอัลมอนด์ออร์แกนิกปราศจากน้ำตาลที่มาพร้อมกับการแปรรูปต่ำ โภชนาการสูง ใส่สารเติมแต่งน้อยแต่รสชาติดี และยังประหยัดและรักษ์โลกด้วย
- มีการเปลี่ยนโฉมของผู้บริโภคกลุ่มผู้สูงอายุ จะเริ่มจากกลุ่มผู้บริโภค Gen X คือผู้ที่มีอายุระหว่าง 44 – 50 หรือเกิดในปี ค.ศ. 1965 – 1979 (แต่อย่างไรก็ดี Gen X ของแต่ละประเทศจะมีช่วงอายุแตกต่างกันเล็กน้อย) ซึ่งในบริบทของสังคมผู้สูงอายุ คนกลุ่มนี้กำลังเป็นผู้บุกเบิกคนในวัยสูงอายุให้มีสุขภาพที่ดี รวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่สร้างความแตกต่างให้กับวิถีชีวิตในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้สังคมสูงวัยคำนึงถึงความสำคัญของการยืดอายุขัยและระยะเวลาการใช้ชีวิตที่มีสุขภาพดีให้ยาวนานมากยิ่งขึ้น ส่งให้ในอนาคตแบรนด์ไม่เพียงแต่ต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มชาว Gen Z ที่เป็นผู้บริโภคหลักของอาหารและเครื่องดื่ม แต่ยังต้องให้ความสำคัญกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุมากกว่า 40 ปีด้วย เพราะหลายตลาดทั่วโลก ผู้บริโภคที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จะมีส่วนแบ่งตลาดในการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มมากที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าในระยะเวลา 1 ปีข้างหน้า แบรนด์จะมีบทบาทสำคัญในการนำพาผูบริโภค Gen X เข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่านวัยกลางคนและสูงอายุ และให้ความรู้ในการเปลี่ยนผ่านช่วงชีวิตต่างๆ ให้มีสุขภาพที่ดี โดยแบรนด์ต้องคำนึงถึงความต้องการด้านสุขภาพที่หลากหลายของผู้บริโภคเหล่านี้ ทั้งด้านโภชนาการ ร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ และต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์และสูตรที่ใช้นวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพ เช่น หัวใจและหลอดเลือด สมอง และความเครียด เป็นต้น ซึ่งแบรนด์อาหารและเครื่องดื่ม สามารถช่วยขับเคลื่อนวัยสูงอายุที่มีสุขภาพดีได้ด้วยการจัดสรรอาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ราคาไม่แพง สามารถเข้าถึงได้ง่าย และสะดวกกับผู้สูงวัยทุกคน รวมทั้งสามารถรองรับไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของผู้บริโภคที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ด้วยการจัดสรรโภชนาการที่เหมาะสมและสมดุล เพื่อตอบสนองความต้องการของแต่ละบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผลการสำรวจยังพบว่า ผู้บริโภค Gen X ให้ความสำคัญต่อปัญหาสุขภาพมากขึ้น ซึ่งในที่นี้ ชาวจีนผู้ที่มีอายุระหว่าง 40 – 59 ปี กว่าร้อยละ 60 ไม่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่มีความกังวลว่าจะป่วยในอนาคต ขณะที่ผู้บริโภค Gen X (เกิดระหว่างปี ค.ศ.1966 – 1971) ชาวแคนาดา ร้อยละ 76 มีความกังวัลต่อโรคที่เกี่ยวข้องกับวัย ส่วนผู้บริโภค Gen X (เกิดระหว่างปี ค.ศ.1965 – 1980) ชาวเยอรมัน 63% เชื่อว่าการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการรักษาสุขภาพ
ปัจจุบันมีบางแบรนด์ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสำหรับชาว Gen X ออกมาแล้ว ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ Plant Magic จากเยอรมนี ได้เปิดตัวเครื่องดื่มข้าวโอ๊ตออร์แกนิก ที่มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระตามธรรมชาติ เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคได้รับสารอาหารที่สมดุล และยังมีส่วนผสมที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีเส้นใยสูงที่สามารถต่อต้านการอักเสบ และรักษาระดับน้ำตาลในเลือด รวมทั้งเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ช่วงสูงวัยได้อย่างมีสุขภาพดี
- อาหารเข้าสู่ยุคแห่งความสะดวกสบาย เนื่องจากเทคโนโลยีและความก้าวหน้าต่างๆ ทำให้การวางแผนมื้ออาหาร การชอปปิง และการทำอาหารง่ายดายขึ้น ขณะที่ความสะดวกสบายเป็นแนวคิดที่ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และผู้บริโภคก็มองหาทางลัดในการได้รับประสบการณ์ด้านอาหารและเครืองดื่มที่มีคุณภาพในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ได้กระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น
จากการสำรวจพบว่า การประหยัดเวลาถือเป็นสิ่งสำคัญต่อความสะดวกของห้องครัว ดังนั้น จึงพบว่าพ่อครัวชาวแคนาดา 51% เห็นว่าเวลาในการปรุงอาหารเป็นสิ่งสำคัญในการวางแผนหรือเตรียมอาหาร ส่วนผู้บริโภคชาวอเมริกัน 48% มักจะเลือกอาหารแบบง่ายๆ ใช้เวลาในการเตรียมอย่างรวดเร็ว ด้านพ่อครัวชาวอังกฤษ 38% จะให้ความสำคัญต่อสูตรของผลิตภัณฑ์ที่ซื้อเป็นประจำ เนื่องจากผู้บริโภคมีความเคยชินกับการได้รับความช่วยเหลือจากเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อยๆ จึงสนใจและเชื่อมั่นในเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการทำอาหาร ขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่ม ซึ่งเมื่อต้องการสร้างสรรค์อาหาร เครื่องดื่ม และขนมขบเคี้ยว ไปพร้อมๆ กับการชอปปิง การวางแผนอาหาร หรือทำอาหาร ก็สามารถทำได้โดยอัตโนมัติ เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถช่วยให้ผู้บริโภคหาจุดความสมดุลระหว่างการทำสองอย่างในเวลาเดียวกันได้
ปัจจุบันแบรนด์หลายแบรนด์ได้ใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาใช้ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงพฤติรรมผู้บริโภคแล้ว ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ DiGiorno ของเนสท์เล่ที่กําลังทดสอบตู้จําหน่ายสินค้าอัตโนมัติที่ออกแบบมาเพื่อทําให้พิซซ่าแช่แข็งร้อน และพร้อมเสิร์ฟในเวลาเพียงสามนาที
จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้ว่า 3 ส่วนหลักๆ ที่มีผลกับการเลือกสรรของผู้บริโภคในปี 2024 คือ คุณค่า และโภชนาการทางอาหาร หากเป็นอาหารแปรรูปก็ต้องมีการแปรรูปไม่มาก และอาหารยังต้องคงคุณภาพที่ดี นอกจากนี้การทำอาหาร หรือเลือกซื้ออาหารของผู้บริโภคต้องสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ส่วนเทรนด์ใหญ่คือเทรนด์ด้านสุขภาพที่ผู้บริโภคกลุ่มสูงอายุจะกลายเป็นเทรนด์ที่เข้ามาขับเคลื่อนตลาดหลักๆ ทำให้นักการตลาดต้องออกผลิตภัณฑ์ด้านอาหารและเครื่องดื่มที่เน้นด้านสุขภาพมากยิ่งขึ้น