TK park ขับเคลื่อนแนวคิดการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล สู่การเรียนรู้ไร้พรมแดน

TK park ประกาศแผนการดำเนินงานปี 60 ขับเคลื่อนแนวคิด “การเรียนรู้ในยุคดิจิทัล” เพื่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ขานรับนโยบาย Thailand 4.0 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพประชากรของประเทศให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เด็กและเยาวชนจะต้องมีทักษะในการคิด วิเคราะห์ และสร้างสรรค์สู่การพัฒนาอาชีพในอนาคต พร้อมขยายเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้ TK park ทุกระดับ ทั้ง TK Hub ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยรวมถึงระดับต่างๆ โดยให้ความสำคัญพิเศษกับจังหวัดชายแดนใต้ รองรับการเรียนรู้นอกห้องเรียนในยุคดิจิทัล

 

TK park

 

ราเมศ พรหมเย็น รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) หรือ TK park กล่าวว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศเชื่อมโยงผู้คน และก่อให้เกิดการพัฒนาในหลายมิติ เกิดการกระจายของข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ และนวัตกรรมใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ได้นำพาโอกาสใหม่และส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของประชากรที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าในปี 2573 ประชากรสูงอายุของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25 ของประชากรทั้งหมด ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ยิ่งจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ปรากฎการณ์ต่างๆ ข้างต้นส่งผลต่อการบริโภคและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งเป็นโอกาสและความท้าทายที่สังคมไทยจะต้องเผชิญและต้องปรับตัวให้พร้อมรับกับโอกาสที่จะเข้ามาจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้

 

“ในยุคดิจิทัล เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกช่วงวัยตั้งแต่วัยเด็ก วัยทำงานและวัยผู้ใหญ่ ซึ่งมีสมาร์ทโฟนและสมาร์ทดีไวซ์เกือบทุกคน รวมถึงการที่รัฐบาลได้เดินหน้าพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ให้เข้าถึงและครอบคลุมทุกหมู่บ้านในประเทศเพื่อลดช่องว่างในการเข้าถึงแหล่งความรู้และให้สามารถใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาในอีกหลายมิติทั้งในด้านการประกอบอาชีพและการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ต่างๆ อาทิเช่น การทำอีคอมเมิร์ซขายสินค้าของชุมชนไปยังตลาดทั้งในและต่างประเทศ การเผยแพร่ความรู้ด้านเกษตรของแต่ละพื้นที่เพื่อพัฒนาผลิตผล เป็นต้น ทั้งหมดนี้สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล องค์ความรู้ต่างๆ ได้เพียงปลายนิ้ว และสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา”

 

ทั้งนี้ จากยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลผลักดันและให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และ นโยบายสู่ Thailand 4.0 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการเสริมสร้างและพัฒนาประชากรให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่สามารถสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมใหม่ โดยนำฐานความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาต่อยอดพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและสร้างโอกาสใหม่ๆ พร้อมยกระดับประเทศสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และมีรายได้ระดับสูงใน 20 ปีข้างหน้า

 

การดำเนินงานของ TK park ในปี 2560 ได้ขานรับและมีทิศทางมุ่งเน้นในการปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน การเรียนรู้ ที่สอดแทรกทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้มีทักษะในการคิด วิเคราะห์ และความคิดสร้างสรรค์เป็นพื้นฐานในการพัฒนาไปสู่การเป็นมืออาชีพต่อไปในอนาคต ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้ ในอุทยานการเรียนรู้ต้นแบบทั้งในส่วนกลางและอุทยานการเรียนรู้ของหน่วยงานเครือข่ายในภูมิภาคต่างๆ โดยปรับกระบวนการให้บริการเพื่อตอบโจทย์ยุคดิจิทัลด้วยการเน้นสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ของหน่วยงานอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งเว็บไซต์ Digital TK, ห้องสมุดออนไลน์ (TK Public Online Library), สร้างสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เพื่อกระจายองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์สำหรับเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติได้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้อย่างสะดวก

 

“ห้องสมุดออนไลน์ (TK Public Online Library) มีหนังสือทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งองค์ความรู้ประเภทต่างๆ และสารพันบันเทิง รวมทั้งรูปแบบมัลติมีเดีย ให้สัมผัสมากกว่า 10,000 เล่ม ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 23,000 คน มีปริมาณการยืมอ่านรวม 70,000 ครั้งตั้งแต่เปิดให้บริการตลอด 1 ปีกว่า เพื่อกระจายองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์สำหรับเด็กและเยาวชนได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองได้อย่างสะดวกไม่น้อยกว่า 16 ล้านคน” ราเมศ กล่าว

 

นอกจากนี้ ทางด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาได้ร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายระดับท้องถิ่น เพื่อขยายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนได้ครอบคลุมทั่วประเทศ ปัจจุบันอุทยานการเรียนรู้ของหน่วยงานเครือข่ายที่เปิดให้บริการอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว 19 แห่ง และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 นี้ มีกำหนดเปิดให้บริการใหม่อย่างน้อย 2 แห่งที่สำคัญ ได้แก่ 1) อุทยานการเรียนรู้ปัตตานี ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นความร่วมมือกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และเทศบาลเมืองปัตตานี 2) อุทยานการเรียนรู้นครราชสีมา (TK Square Korat) ซึ่งเป็นความร่วมมือกับเทศบาลนครนครราชสีมา เป็นต้น โดยอุทยานการเรียนรู้ของหน่วยงานเครือข่ายที่เปิดให้บริการแล้วนั้นจะกำหนดให้มีการเชื่อมโยงระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ระบบฐานข้อมูลหนังสือและสื่อการเรียนรู้ต่างๆ เข้ากับอุทยานการเรียนรู้ต้นแบบเพื่อที่ผู้เข้าใช้บริการของ TK park เครือข่ายสามารถสืบค้นและนำไปศึกษาได้อย่างสะดวก