ต้องยอมรับว่า บนความสำเร็จของบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในปีที่ผ่านมา ผู้ขับเคลื่อนและพลิกโฉมให้องค์กรแห่งนี้ บรรลุเป้าหมายอย่างยิ่งใหญ่ นั่นคือ ดร.สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยท่านสามารถบริหารงานให้ทิพยประกันภัย มีเบี้ยประกันภัยเติบโตที่ 6.7% ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดถึง 2 เท่า มีเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 34,796 ล้านบาท โดยยังรักษาเบอร์ 1 ของธุรกิจประกันภัยที่เป็น Non-Motor ที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 21.8% ของตลาด และเฉพาะส่วนของ Non-Motor ปีที่ผ่านมา เติบโต 8.1%
เบื้องหลังความสำเร็จของบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เกิดจากการวาง “Worry Free” ให้เป็นกลยุทธ์องค์กร โดย ดร.สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ธุรกิจประกันภัยในอดีต คือการที่ผู้ประกันยอมจ่ายเบี้ยประกัน แต่เมื่อเกิดเหตุก็ได้รับความคุ้มครองเป็นตัวเงินกลับไป สำหรับในยุคปัจจุบัน คนมีความต้องการที่หลากหลายขึ้น ธุรกิจประกันจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิตของคนมากขึ้นตามไปด้วย
โดยที่ผ่านมา บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ไม่ได้แค่ปรับกลยุทธ์แต่ได้ปรับแนวความคิดเรื่องการประกันภัยในกลุ่มบริษัททั้งหมด ซึ่งถ้าเราใช้แนวความคิดเดิมในยุคปัจจุบัน บริษัท ฯ ก็จะเดินหน้าไม่ได้ วันนี้เราได้ใช้แนวคิดแบบ Worry Free คือ จะทำอย่างไรให้คนหมดความกังวล จากธุรกิจ หรือการใช้ชีวิต
บริษัท ฯ จึงคิดค้นรูปแบบประกันภัยใหม่ เข้ามาตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น อาทิ TIP Rainbow เพื่อตอบโจทย์กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ มีประกันรถยนต์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้หญิง หรือคนสูงวัย
ออกผลิตภัณฑ์สำหรับ SME โดยเฉพาะ มี TIP Personal Cyber เข้ามาตอบโจทย์ยุคดิจิทัล ทั้งแบบส่วนบุคคล และแบบองค์กร รวมถึงประกันภัยที่รองรับโครงสร้างขนาดใหญ่ของหน่วยงานภาครัฐ เช่น ระบบรถไฟฟ้าในประเทศไทย โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น”
ดร.สมพร กล่าวต่อว่า อีกส่วนหนึ่งคือ การปรับปรุงกระบวนการทำงาน เพื่อสร้างประสบการณ์ลูกค้าที่ดี และแตกต่าง เช่น โครงการ TIP SMART ASSIST ปรับโฉมเจ้าหน้าที่สำรวจอุบัติเหตุที่จะต้องไปหน้างานให้เป็นฮีโร่บนท้องถนน เข้ามาช่วยเหลือประชาชน ทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่น่าประทับใจ เช่นการนำ AI, Robot และ IoT เข้ามาประยุกต์กับการทำงาน รวมถึง TIP CAT บริการเลขาส่วนตัวด้านการเคลม ที่จะเข้ามาช่วยดูแลเรื่องการเคลมตั้งแต่ต้นจนจบ ให้มั่นใจไร้กังวลเรื่องซ่อม ช่วยจบปัญหาด้านการเคลม
ด้านพนักงานสามารถทำงานรีโมทโดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศ ส่วนลูกค้าสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ง่ายและรวดเร็ว ผ่านการขยายช่องทางดิจิทัล นอกจากนี้ยังจับมือกับพาร์ทเนอร์ ที่มีฐานลูกค้าอยู่ในมือ เป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ที่สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ไปสู่ลูกค้าได้ ทำให้บริษัทฯ ขยายเบี้ยประกันภัยได้อย่างมีนัยสำคัญ
“เมื่อเราปรับแนวคิดการประกันภัยเป็นแบบ Worry Free ทำให้เราสามารถคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาตอบสนองความต้องการของสังคมได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น มีโอกาสสร้างตลาดที่แข็งแกร่งและเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนมากขึ้น”ดร.สมพร กล่าว พร้อมระบุว่า
จากนี้โจทย์ของธุรกิจประกันภัย คือ ต้องเปลี่ยน “อุปสรรค” ให้เป็น “โอกาส” ซึ่ง บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ก็ทราบดีว่า ธุรกิจประกันภัยเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่หลีกหนีไม่พ้นการ Disruption โดยเฉพาะการมาของ InsurTech หรือเทคโนโลยีสายประกัน ที่วันนี้เข้ามา Disrupt ธุรกิจประกันภัย
“ธุรกิจประกันภัยในวันนี้ ไม่ได้มีแค่แข่งกับธุรกิจประกันภัย แต่ยังต้องแข่งกับธุรกิจประกันภัยที่ไร้ตัวตน คือ เป็นบริษัทที่จดทะเบียนทำธุรกิจอื่น ๆ ที่เข้ามาแข่งทำธุรกิจประกันภัยแข่ง อาทิเช่น Tesla ที่ทำธุรกิจขายรถยนต์ไฟฟ้า แต่ขยายธุรกิจรวมไปถึงการรับประกันภัยรถยนต์ทุกคันด้วย หรืออีกส่วนคือ การแข่งขันกับบริษัทประกันภัยข้ามชาติ ที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยผ่านออนไลน์ และไม่ต้องเข้ามาตั้งสำนักงานในไทย ทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจมีความแตกต่างกันมาก
แน่นอนว่า ความท้าทายเหล่านี้จะทำให้ธุรกิจประกันภัยต้องปรับตัว และเชื่อว่าในอนาคตธุรกิจประกันภัยจะไม่ได้เป็นเพียงรูปแบบ Stand alone แต่การประกันจะถูกผูกอยู่ในผลิตภัณฑ์หรือบริการต่าง ๆ เป็น Niche Market มากขึ้น รวมถึงยังไม่นับรวมถึงโรคอุบัติใหม่ ภาวะโลกร้อน รวมถึงภูมิรัฐศาสตร์หรือ Geopolitical ในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกนี้ เพราะปัจจัยเหล่านี้ทำให้จำนวนของผู้ประกันภัยต่อเนื่องหดหายไป
จากปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมา เราต้องเตรียมความพร้อม เพราะอุปสรรคของอุตสาหกรรม อีกด้านก็เป็นโอกาส โดยเฉพาะด้านดิจิทัล ที่ทำให้เราขยายบริการไปประเทศเพื่อนบ้านได้ง่ายขึ้น และสเกลได้อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกันความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทำให้เบี้ยประกันภัยสูงขึ้น ทำให้เราขายสินค้าเดิมได้ราคาสูงขึ้น”ดร.สมพร ระบุ พร้อมกับฉายวิชันในระยะยาวให้ฟังว่า
“เราได้มองภาพการดำเนินธุรกิจแบบรอบด้าน สำหรับเป้าหมายการขยายธุรกิจในอนาคต มองถึงการเติบโตไปยังในระดับภูมิภาคอาเซียน โดยเตรียมขยายเข้าไปที่ สปป.ลาว กัมพูชา และ เวียดนาม โดยเรามีทีมงานเข้าไปศึกษาลูกค้าในแต่ละเจเนอเรชั่นว่า มีความต้องการด้านประกันภัยอย่างไร จากนั้นจึงได้ส่งผลิตภัณฑ์ไปตอบโจทย์คนเหล่านี้ เราเชื่อว่ามันจะเป็นตลาดกลุ่ม Niche มากขึ้น ลูกค้าจะเป็นผู้บอกว่าต้องการอะไร ราคาเท่าไร และบริษัทประกันภัยจะเป็นเหมือน OEM ที่ออกผลิตภัณฑ์มาให้ลูกค้า เราจึงต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้ไปในทิศทางนั้นได้
และสิ่งที่เราจะไม่ละเลยคือ ESG Leader ซึ่งเป็นเส้นทางของบริษัท ฯ ที่เราจะมุ่งไปยังเส้นทางนี้ ซึ่งทราบกันดีว่า การทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน ต้องตอบโจทย์ความยั่งยืน ทั้งในด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล และเรา
“ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์” ก็มีเป้าหมายอย่างชัดเจนว่า เราจะเป็น ESG Leaderในธุรกิจประกันของไทย หมายความว่า เราจะไม่ทำ ESG เพื่อ PR แต่จะนำ ESG เข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจ
ด้านสิ่งแวดล้อม “E” ทิพยประกันภัย ได้มีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมมากมาย และเราเป็น First Mover ที่มีกรมธรรม์ความรับผิดต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะด้านมลภาวะ ได้ออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ Climate Change คาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นกรมธรรม์ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ เช่น กรมธรรม์Solar roof กรมธรรม์กลุ่มรถ EV , EV Charger เราสนับสนุนในเรื่องการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งในปีที่ผ่านมาเรามีสัดส่วนการประกันภัยรถ EV มากที่สุดอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม “พลังทิพยรักษ์โลก”มุ่งเน้นการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม ดำเนินการไปกว่า 29 ครั้ง เน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวผ่านการสนับสนุนให้ลูกค้าได้เอกสารกรมธรรม์เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่การบริหารภายในบริษัทฯ มีการนำเอารถสกู๊ตเตอร์ และจักรยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามาใช้ ให้กับทีม Surveyor
ด้านสังคม “S” ผ่านการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ความหลากหลายทางศาสนา ทีมงาน TIP SMART ASSIST ในช่วงที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่จะถูกส่งไปช่วยเหลือสังคม มีการให้คะแนนความดีและเปลี่ยนเป็นโบนัส โดยเมื่อปีที่ผ่านมา TIP SMART ASSIST ช่วยคนไปมากกว่า 153,614 เคส
และสำหรับด้านธรรมาภิบาล “G” ผ่านการร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันหรือ CAC มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และบริษัทฯ ยังมีส่วนในการสนับสนุนกิจกรรมที่ช่วยสร้างบรรษัทภิบาลให้เกิดขึ้นให้กับองค์กรและสิ่งแวดล้อม
“เราเชื่อว่า ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการ เราได้รับโอกาสจากประชาชนและสังคมในการสนับสนุนด้วยการเป็นลูกค้าของเรา ทำให้เกิดกำไร เราจึงต้องคืนสิ่งเหล่านี้กลับสู่สังคม ซึ่งเราเชื่อว่า การทำสิ่งเหล่านี้จะทำให้เราได้รับการยอมรับและเป็นองค์กรที่มีความยั่งยืน” ดร.สมพร กล่าวทิ้งท้าย