The Success Story ‘BOI’ ผลักดันไทยสู่เศรษฐกิจใหม่ ด้วย 7 Pillars

The Success Story By Business+ เดือนนี้จะพาผู้อ่านมาพบกับ หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากต่อการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่าง ‘สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ดูเหมือนจะมีแผนระยะยาวเพื่อพัฒนาประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรมใหม่

ถึงแม้ที่ผ่านมาประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพและประสบความสำเร็จมากที่สุดในภูมิภาคในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เนื่องจากมีข้อได้เปรียบมากมายสำหรับนักลงทุนต่างชาติ แต่จุดแข็งเหล่านี้อาจจะถูกตามทันโดยประเทศคู่แข่งที่มีพัฒนาการไล่ตามขึ้นมา

ดังนั้น ไทยจึงต้องเร่งสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการลงทุน รวมไปถึงพัฒนาศักยภาพไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน และสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยบทบาทเหล่านี้ จะถูกขับเคลื่อนผ่าน ‘คุณนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์’ แม่ทัพคนล่าสุดของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งได้ตระหนักถึงความสำคัญที่จะช่วยสร้างและรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความเจริญรุ่งเรืองของประเทศไทยควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยี จึงได้เกิดเป็นยุทธศาสตร์ 5 ปีข้างหน้า ที่ต่อจากนี้จะปรับเปลี่ยนไทยไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ โดยที่มี KPIs ชี้วัดความสำเร็จของบีโอไอด้วยมิติใหม่ ซึ่งเป็นเชิงคุณภาพมากกว่าจะมองแค่เม็ดเงินลงทุนเพียงอย่างเดียว

คุณนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยกับ Business+ ถึงผลของการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์เดิมช่วงปี 2558 – กันยายน 2565 มีการขอรับการส่งเสริมทั้งสิ้น 11,360 โครงการ เงินลงทุนรวม 3.87 ล้านล้านบาท โดยเป็นการขอรับการส่งเสริมในพื้นที่ EEC จำนวน 1.8 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 47% และเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 55%

โดยในส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุด คือยานยนต์และชิ้นส่วน ด้วยมูลค่า 453,678 ล้านบาท สาเหตุเกิดจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทำให้มีผู้สนใจลงทุนเป็นจำนวนมาก ส่วนอันดับที่ 2 คือ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ตามด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์

สำหรับอุตสาหกรรมใหม่ซึ่งเป็น New S-curve หากมองในแง่มูลค่าการลงทุนเทียบกับอุตสาหกรรมเดิมอาจจะดูไม่สูงมาก แต่จะได้เห็นการเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ และด้านดิจิทัล

ขณะที่ในแง่ของคำขอรับการส่งเสริมในกลุ่ม เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG) (ปี 2558 – กันยายน 2565) เช่น กิจการเกษตรและอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ วัสดุชีวภาพ พลังงานหมุนเวียน และกิจการที่ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม มีจำนวนคำขอส่งเสริมการลงทุน 3,405 โครงการ (30% ของโครงการทั้งหมด) ด้วยเงินลงทุนรวม 786,548 ล้านบาท (20% ของทั้งหมด) ซึ่งอุตสาหกรรมในกลุ่ม BCG มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุเป็นเพราะประเทศไทยเองมีศักยภาพในด้านการจัดหาวัตถุดิบ

ทั้งนี้ หากมองตัวเลขของคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา คุณนฤตม์ กล่าวว่า ช่วง 9 เดือนของปี 2565 มีโครงการทั้งหมด 1,247 โครงการ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8% ส่วนเม็ดเงินลงทุนนั้นอยู่ที่ 439,090 ล้านบาท ลดลง 14% แต่มีสาเหตุมาจากปี 2564 มีโครงการขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า แต่เมื่อเทียบมูลค่าการลงทุนของปี 2565 กับปี 2563 ที่มีมูลค่า 386,200 ล้านบาท จะเห็นว่าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

“ตัวเลขการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวขึ้น 17% และมีเงินลงทุน 357,552 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 57% ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ถือเป็นสัญญานที่ดีว่า ต่อจากนี้ไปจะเกิดการลงทุนจริง และจะมีเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุน ก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น” คุณนฤตม์ กล่าว

แผนการลงทุนในอีก 5 ปีข้างหน้า
สำหรับแผนการลงทุนในอีก 5 ปีข้างหน้านั้น คุณนฤตม์ กล่าวว่า บีโอไอจะต้องวางแผนโดยคำนึงถึงปัจจัยใหม่ ๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องของกระแสการลดคาร์บอน ความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมไปถึง Supply Chain Disruption และ Technology Disruption ขณะที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และกับดักรายได้ปานกลางและคำนึงถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ สังคมผู้สูงอายุ และความพร้อมเรื่องคนกับเทคโนโลยี

ทั้งนี้ ในอดีตปัจจัยที่นักลงทุนใช้เลือกในการเข้าลงทุนเป็นเรื่องของ Infrastructure เรื่องคน กฎระเบียบ สิทธิประโยชน์ อย่างไรก็ตามในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้เกิดปัจจัยใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย ทำให้การลงทุนต้องคำนึงถึงปัจจัยที่เกิดขึ้นใหม่เหล่านี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้า หรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นของ Supply Chain และความสามารถในการจัดหาพลังงานหมุนเวียน

จุดแข็งของไทย
คุณนฤตม์ มองว่า ประเทศไทยยังมีจุดแข็งในแง่ของโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขณะที่ยังมีฐานของอุตสาหกรรมสนับสนุนที่ครบวงจร โดยที่ประเทศไทยมีความสามารถในการจัดหาพลังงานสะอาดให้กับภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงมีบุคลากรที่มีคุณภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ และยังมีมาตรการในการดึงดูดการลงทุนที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้

“สิ่งที่แตกต่างและเป็นอีกจุดแข็ง คือ ประเทศไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศ ไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร เพราะฉะนั้นลงทุนในไทยถือว่าเป็น Safe Zone นอกจากนี้ เรามีความยืดหยุ่นในการรองรับวิกฤต ซึ่ง Operation ในประเทศไทยสามารถผลิตได้ต่อเนื่อง และสามารถทำการส่งออกนำเข้าได้โดยที่ไม่ต้องล็อกดาวน์ประเทศ ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบกับภาคธุรกิจเหมือนประเทศอื่น ๆ” คุณนฤตม์ กล่าว

ด้วยปัจจัยทั้งหมดทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำได้ 5 ด้าน ด้านแรก คือ Tech Hub หรือการเป็นฮับของการลงทุนด้านเทคโนโลยี ด้านที่ 2 คือ BCG Hub ด้านที่ 3 คือการเป็น Talent Hub หรือเป็นศูนย์กลางบุคลากรทักษะสูง อีกทั้งด้านที่ 4 คือการเป็น Logistics & Business Hub และด้านสุดท้ายคือการเป็น Creative Hub ซึ่งทั้งหมด 5 ด้านนี้ คุณนฤตม์ มองว่าจะสามารถทำให้ประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำในภูมิภาคได้

เป้าหมายของยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (2566 – 2570)
คุณนฤตม์ กล่าวถึง ยุทธศาสตร์ของบีโอไอ ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยได้กำหนดเป้าหมายด้วยการใช้กลไกการส่งเสริมการลงทุนในการผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างไปสู่เศรษฐกิจใหม่ นั่นคือ เศรษฐกิจที่มี Innovative, Competitive และ Inclusive

(ทำเป็นกรอบ)
Innovative : เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์
Competitive : เศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถปรับตัวเร็ว และสร้างการเติบโตสูง
Inclusive : เศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งการสร้างโอกาส และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถไปถึงเป้าหมาย บีโอไอได้กำหนด 7 หมุดหมายที่จะนำประเทศไทยพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจใหม่
7 หมุดหมายของบีโอไอ เพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่ และสร้างอนาคตที่ดีให้กับคนรุ่นต่อไป (ทำเป็น Info)
หมุดหมายที่ 1 : ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม และสร้างความเข้มแข็ง Supply Chain
หมุดหมายที่ 2 : เร่งเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไปสู่ Smart & Sustainability
หมุดหมายที่ 3 : ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและประตูการค้าการลงทุนของภูมิภาค
หมุดหมายที่ 4 : ส่งเสริม SMEs & Startup ให้เข้มแข็งและเชื่อมต่อกับโลก
หมุดหมายที่ 5 : ส่งเสริมการลงทุนตามศักยภาพพื้นที่เพื่อสร้างการเติบโตอย่างทั่วถึง
หมุดหมายที่ 6 : ส่งเสริมการลงทุนเพื่อชุมชนและสังคม
หมุดหมายที่ 7 : ส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศเพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ

คุณนฤตม์ กล่าวว่า บีโอไอจะผลักดัน 7 หมุดหมายผ่าน 3 เครื่องมือ คือ สิทธิประโยชน์แบบ Whole Package (Tax + Non-tax + Financial Incentives) การให้บริการแบบครบวงจร ทั้งก่อน-หลังการลงทุน และการพัฒนา Ecosystem & Ease of Investment โดยที่จะยกระดับอุตสาหกรรมเดิม เช่น อุตสาหกรรมเกษตรก็จะถูกพัฒนาไปสู่ Smart Farming/Plant Factory และอุตสาหกรรมอาหาร ไปสู่ High value Food รวมไปถึงสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ เช่น สุขภาพและการแพทย์ ดิจิทัล และระบบอัตโนมัติ/หุ่นยนต์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า บีโอไอได้กำหนด 5 กลุ่มอุตสาหกรรมมุ่งเป้าที่ต้องการเน้นเป็นพิเศษประกอบด้วย 1. BCG 2. EV 3. Smart Electronics 4. Digital 5. Creative โดยบีโอไอต้องการยกระดับอุตสาหกรรมทั้งหมดไปสู่ความเป็น Smart ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้ระบบ Automation มากขึ้น รวมทั้งใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับประสิทธิภาพธุรกิจ และเน้นความยั่งยืน (Sustainability)

“เราต้องการทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ โดยที่เราไม่ได้ต้องการดึงแค่โรงงานผลิต แต่ต้องการดึง Regional Headquarters มาในไทย และใช้ไทยเป็นฐานของภูมิภาค รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงระหว่างประเทศได้

นี่คือเป้าหมาย โดยที่เราก็จะใช้เครื่องมือบูรณาการทั้งจากบีโอไอและหน่วยงานอื่น ๆ เช่น การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน แล้วก็มีแผนจัดตั้งศูนย์ One Stop Service สำหรับ Regional Headquarters ปัจจุบันการเข้ามาจัดตั้งสำนักงานในไทยต้องติดต่อหลายหน่วยงาน แต่ตอนนี้เราจะจัดตั้งให้เป็น One Stop Service โดยบีโอไอจะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” คุณนฤตม์ กล่าวว่า
ในด้านของการสนับสนุน SME และ Startup นั้น บีโอไอยังมีมาตรการให้เงินสนับสนุน SME ด้วยการให้สิทธิพิเศษทางภาษี รวมไปถึงช่วยให้เข้าถึงบีโอไอได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังจัดกิจกรรมเพื่อเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วน SME ในประเทศไทยกับผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูปต่างชาติอีกด้วย ส่วนในมุมของ Startup ทางบีโอไอมีมาตรการสนับสนุนและช่วยหา VC/Incubators มาช่วยส่งเสริมด้วย นอกจากนี้ สำหรับพื้นที่เป้าหมายนอกเหนือจากพื้นที่ EEC เขตวิทยาศาสตร์ หรือเขตพิเศษชายแดน จะมีการส่งเสริมพื้นที่ใหม่ คือ ระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค

คุณนฤตม์ กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญที่ต้องสนับสนุนคือเรื่องคน โดยที่บีโอไอมีมาตรการทั้งการ Build และ Buy โดย Build คือการพัฒนาคนไทยให้มีศักยภาพขึ้นมา โดยใช้ทั้งมาตรการส่งเสริมการจัดตั้งสถาบันต่าง ๆ และส่งเสริมให้บริษัทรับนักศึกษามาฝึกงาน รวมทั้งส่งพนักงานไปเข้าหลักสูตรเป้าหมาย และในส่วนของ Buy จะเกิดขึ้นในสาขาที่ประเทศไทยต้องการความเชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ซึ่งบีโอไอจะสร้างช่องทางเพื่อที่จะดึงดูดผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น ๆ จากต่างประเทศเพื่อให้เข้ามาช่วยพัฒนาประเทศ

‘บีโอไอ’ กับนโยบายส่งเสริมด้าน EV
เมื่อถามถึงแผนการส่งเสริมการลงทุนเรื่องการทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) คุณนฤตม์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีมาตรการสนับสนุน EV ที่หลากหลาย โดยไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่มีมาตรการส่งเสริม EV แบบครบวงจร ทั้งการส่งเสริมในแง่ผู้ผลิตทั้ง Ecosystem และนโยบายส่งเสริมด้านอุปสงค์ ด้วยมาตรการกระตุ้นให้เกิดการใช้ EV ในประเทศ ซึ่งบีโอไอเป็นหน่วยงานที่ออกมาตรการส่งเสริมผู้ผลิต (Supply-side)
สำหรับสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ มีดังนี้
• กิจการผลิตรถยนต์ BEV และ BEV Platform
• กิจการผลิตรถโดยสารและรถบรรทุกไฟฟ้า
• กิจการผลิตรถสามล้อ จักรยานยนต์ จักรยาน เรือไฟฟ้า
• กิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้า
• กิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า
โดยที่ผ่านมามีโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมแล้วจำนวน 26 โครงการ ทั้งหมด 17 บริษัท คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 80,208.6 ล้านบาท ซึ่งเป้าหมายใหญ่ของประเทศไทยคือ ภายในปี 2030 ต้องสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ทั้งหมด 30% (30/30)
“วันนี้ไทยเป็นหนึ่งในผู้นำในภูมิภาคสำหรับการติดตั้ง Charging Station ซึ่งเป็น Ecosystem สำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นที่จะหันมาใช้รถ EV” คุณนฤตม์ กล่าว
บทบาทใหม่ของ ‘บีโอไอ’
คุณนฤตม์ กล่าวว่า บทบาทของบีโอไอจะถูกเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมเป็น Promoter หรือเป็นเพียงผู้ให้การสนับสนุนด้วยสิทธิประโยชน์ แต่จากนี้ไปจะต้องเปลี่ยนแปลงเป็น Integrator, Facilitor และ Connector โดยที่บีโอไอได้กำหนดเป้าหมายที่คมชัดมากขึ้น และมี 7 Pillars ที่จะนำพาไปสู่เป้าหมายได้ในที่สุด

และเมื่อถูกถามถึงประเด็นที่ประเทศไทยถูกมองว่าหมดความน่าสนใจสำหรับการลงทุน และมีคู่แข่งที่สำคัญอย่างเวียดนามที่ดึงเม็ดเงินลงทุนออกไปนั้น คุณนฤตม์ กล่าวว่า เมื่อมองที่ศักยภาพของประเทศไทยจะเห็นว่าเรายังมีจุดแข็งหลายประการ ประกอบกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ถูกย้ายฐานการผลิตไปแล้วนั้น เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ซึ่งจะเห็นว่าประเทศไทยไม่ได้เหมาะกับการใช้แรงงานเข้มข้นเหมือนในอดีต เพราะปัจจุบันไทยไม่ได้มีแรงงานมาก และไม่ได้มีต้นทุนค่าแรงที่ต่ำกว่า และไทยก็ไม่ได้ต้องการแข่งในอุตสาหกรรมที่เป็น Labor Intensive แต่ต้องการยกระดับประเทศไปสู่ Technology Intensive ซึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้และนวัตกรรม รวมทั้งการยกระดับด้วยเทคโนโลยี Automation และ Digitalization

“จุดแข็งประเทศไทยเป็นสิ่งที่เรามีวันนี้ แต่เราก็อยู่นิ่งไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องสร้างจุดแข็งอื่น ๆ ให้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น เรื่องคน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด เราจะต้องให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างคนมากขึ้น และต้องสร้างคนให้ตอบโจทย์อุตสาหกรรมด้วย” คุณนฤตม์ กล่าว

จะเห็นได้ว่าเป้าหมายใหม่ของบีโอไอนั้น ไม่ได้มองเพียงเม็ดเงินคำขอรับการส่งเสริมอย่างเดียว แต่จะมองมิติด้านคุณภาพมากขึ้นเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมี Talent Pool เพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมในอนาคตเข้ามา

ฉะนั้นในวันนี้ บีโอไอไม่สามารถทำเพียงแค่ดึงเม็ดเงินลงทุนอย่างเดียวเหมือนในอดีต แต่ต้อง Transform บทบาทของตนเอง เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาคด้านเทคโนโลยี Talent รวมทั้งโลจิสติกส์ และธุรกิจที่มีศักยภาพในอนาคต ซึ่งเป้าหมายและบทบาทนี้เป็นส่วนสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาศักยภาพของประเทศ