Cognitive Computing ผู้ช่วยอัจฉริยะที่รู้ลึก รู้จริงยิ่งกว่าใคร

Cognitive Computing ผู้ช่วยอัจฉริยะที่รู้ลึก รู้จริงยิ่งกว่าใคร จาก The North Face

 

ก้าวล้ำนำเทรนด์ยิ่งกว่าใคร ถึงจะเป็นคนที่ไม่ถนัดแต่งตัวขนาดไหน  ไม่ชอบให้พนักงานขายเดินตาม เดินตื้อตลอดเวลาแค่ไหน หรือไม่มีเพื่อนช่วยชอปปิ้งก็ตาม แต่จากนี้รับรองว่าการชอปปิ้งคนเดียวจะไม่ใช่ปัญหา เพราะล่าสุด ร้าน The North Face ได้ใช้โปรแกรมอัจฉริยะชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Cognitive Computing เข้ามาช่วยในการแนะนำสินค้าที่เหมาะสมให้ลูกค้า เช่น เมื่อลูกค้าจะซื้อเสื้อตัวหนึ่ง โปรแกรมก็จะวิเคราะห์สภาพอากาศของสถานที่ ๆ จะไป ประวัติสุขภาพ ความชอบ และดาตาเบสส่วนตัวอื่น ๆ ของลูกค้า จนเหมือนมี Personal Consultant ให้กับลูกค้าทุกคน

 

The North Face

เพราะไม่ได้แนะนำสินค้าแค่เพียงแฟชั่นเท่านั้น แต่ยังรู้ใจว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ให้คำปรึกษาได้ว่าสถานที่ ๆ จะไป ควรใส่เสื้อความหนาระดับใด กันลม กันฝนด้วยได้ไหม
ที่สำคัญคือ คัดจากแบบเสื้อ 3,000 กว่าตัวทั่วโลก ให้เหลือตัวเลือก 3 ตัว ที่เหมาะกับลูกค้ามากที่สุด เพื่อให้เราตัดสินใจได้ง่าย เร็ว และเฉียบขาดขึ้น ซึ่งพนักงานมนุษย์ทั่วไปคงไม่สามารถประมวลข้อมูลที่ซับซ้อน แม่นยำ รู้ใจเช่นนี้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว
จากข้อมูลของผู้บริโภคที่ถูกเก็บจากทุกสื่อออนไลน์ ทุกคลิก ทุกการเคลื่อนไหวอย่างละเอียดโดยไม่รู้ตัว ทำให้ Cognitive Computing หรือผู้ช่วยอัจฉริยะคนนี้รู้ลึก รู้จริง เกี่ยวกับผู้บริโภคดีพอ โดยที่ไม่ต้องพูดคุยกันมาก่อน เพียงแค่ดูจากประวัติ พฤติกรรมการซื้อ การดูหนัง การอ่านและอื่น ๆ ก็สามารถล่วงรู้ความต้องการของผู้บริโภค และคาดเดาไปถึงความต้องการในอนาคตได้อย่างแม่นยำอีกด้วย
เท่านั้นไม่พอ ยังสามารถล่วงรู้ไปถึงอารมณ์ของผู้บริโภคในขณะนั้น และพร้อมที่จะแนะนำสินค้าที่เหมาะสมกับผู้บริโภค ณ ช่วงเวลาที่เค้าต้องการอย่างถูกจังหวะ หลังจากนี้ไปไม่ว่าโฆษณาแบบไหน ก็ไม่อาจรู้จังหวะที่เหมาะเจาะได้ดีไปกว่า Cognitive Computing อีกแล้ว เพราะสินค้าจะขายได้ต้องถูกที่และถูกเวลาจริงไหมคะ?
ความสามารถของ Cognitive Computing ยังไม่หมดเพียงแค่เท่านี้ เพราะยังสามารถเข้าใจภาษามนุษย์ เข้าใจรูปแบบประโยคต่าง ๆ ได้และไม่ใช่แค่ภาษาเดียว แต่ได้ถึง 8 ภาษา ที่สำคัญคือ ยังสามารถประมวลผลข้อมูลเป็นล้าน ๆ ชิ้นได้ในระยะเวลาอันสั้น และหาข้อมูลได้หลากหลายภาษา เช่น สินค้านี้ไม่มีคำอธิบายเป็นภาษาอังกฤษ
แต่มีเป็นภาษาญี่ปุ่น ก็สามารถประมวลผลข้อมูล และนำมาแนะนำเราเป็นภาษาอังกฤษได้ ซึ่งถือเป็นประโยชน์มากต่อหลาย ๆ วงการ อย่างเช่น ที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย ซึ่งแต่ละประเทศมีกฎหมายที่แตกต่างกัน แถมภาษากฎหมายก็เข้าใจยาก แต่ Cognitive Computing ที่มาในรูปแบบหุ่นยนต์ทนายชื่อว่า Ross สามารถประมวลผลและหาข้อกฎหมายได้หลากหลายภาษา ทำให้งานของทนายมนุษย์เบาไปเยอะเลย ซึ่งงานบางอย่างเอาจริง ๆ คือมนุษย์อาจทำไม่ได้หรือถ้าทำได้ก็อาจใช้เวลาเป็นปี ๆ ในการค้นหาหรือประมวลข้อมูล

The North Face

แต่ทนายหุ่นยนต์ ROSS ทำแป๊ปเดียวเสร็จ เพราะสามารถประมวลผลข้อมูล 800 หน้า ได้ในเพียงวินาที เช่นเดียวกับวงการแพทย์ คิดดูเวลาเราไปหาหมอ ข้อมูลที่หาหมอมาทั้งชีวิตหรือฟิล์มเอ็กซเรย์จากหมออีกคนหนึ่ง ประวัติแพ้ยา ข้อมูลสุขภาพอื่น ๆ และข้อมูลประกันสารพัด ซึ่งสมองของคุณหมอมนุษย์ไม่มีความสามารถในการประมวลข้อมูลได้ทั้งหมด
แต่ Cognitive Computing สามารถคำนวณข้อมูลสุขภาพเราออกมาได้อย่างแม่นยำในระยะเวลาอันสั้น ที่สำคัญยังสามารถแนะนำได้ด้วยว่าการรักษาแบบใดหรือยาแบบใดเหมาะสมกับเรา
ในขณะที่สื่อโฆษณาอื่น ๆ กำลังถกเถียงกันว่า สื่อชนิดไหนจะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ดีที่สุด หรือคอนเทนต์แบบใดจะได้ใจผู้บริโภคมากที่สุด แต่การมาของ Cognitive Computing กำลังจะทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องที่เอาท์และชนะไปแบบขาดลอย
การเติบโตของการใช้ผู้ช่วยอัจฉริยะในปัจจุบันกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว จาก 390 ล้าน ในปี 2015 เป็น 1.8 พันล้าน ภายในปี 2021 เมื่อผู้บริโภคปรับเปลี่ยนจากการเชื่อโฆษณา มาเชื่อรีวิวและกำลังเข้าสู่ยุคเชื่อสมองกลอัจฉริยะ คราวนี้ก็ได้เวลาที่นักการตลาดจะต้องเตรียมตั้งรับกันอีกระลอกแล้วนะคะ