กนอ

The New Era of I-EA-T สู่เส้นทางอนาคตที่ยั่งยืน

The Success Story of The Month By ‘Business+’ ฉบับเดือนก.ค.2567 จะพาผู้อ่านมาพบกับบทสัมภาษณ์สุดพิเศษจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. ซึ่งก้าวสู่ปีที่ 52 อย่างแข็งแกร่ง ภายใต้การนำของผู้นำรุ่นใหม่ รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. ที่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับองค์กร

กนอ. ในฐานะรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ และขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมด้วยการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม เพื่อดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ นำไปสู่การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

ในปี 2566 กนอ. ได้ประกาศรีแบรนด์ครั้งใหญ่ พร้อมปรับแนวทางบริหารองค์กรให้ทันสมัย ส่งผลให้สามารถปล่อยขายเช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมได้มากกว่า 6,000 ไร่ เกินกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ถึง 2 เท่า นับเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพในการทำงานของทั้งผู้บริหารและพนักงานทุกคน

อย่างไรก็ตาม ภารกิจของ กนอ. ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมให้เติบโต แต่ยังรวมถึงการรับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก

กนอ. ได้ประกาศ Roadmap สำคัญ เพื่อมุ่งสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวในอนาคต ภายใต้แนวคิด “นำนิคมอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากลด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน” โดยมีภารกิจหลัก 3 ด้าน ได้แก่

  • พัฒนานิคมอุตสาหกรรมครบวงจรอย่างยั่งยืน
  • ยกระดับความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่นักลงทุน
  • เพิ่มคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย สังคม และสิ่งแวดล้อมบนหลักธรรมาภิบาล

Business+ ฉบับนี้ จะพาไปเจาะลึกถึงนโยบายและบทบาทของ กนอ. ในการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน กับ รศ.ดร. วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. ที่จะมาเปิดเผยถึงโฉมใหม่ของ กนอ. และนโยบายที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับอุตสาหกรรมไทยเชิญทุกท่านติดตามบทสัมภาษณ์พิเศษแบบเจาะลึกในฉบับนี้ได้เลย

โอกาสและความท้าทายที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
รศ.ดร. วีริศได้ฉายภาพการดำเนินงานในช่วงปีที่ผ่านมาว่า “การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีหน้าที่กำกับดูแลนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 68 นิคม และมีท่าเรืออุตสาหกรรมที่สำคัญอยู่ที่มาบตาพุด จ. ระยอง โดยหากมองถึงผลการดำเนินงาน กนอ. จะเห็นว่าปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา มีพื้นที่ขายเช่าในนิคมฯ ถึง 6,096 ไร่ ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 200% จากปีที่แล้ว แสดงถึงความร้อนแรงของการลงทุนในประเทศได้เป็นอย่างดี ซึ่งนักลงทุนที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรม New S Curve ตามที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายไว้ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางถึงขนาดใหญ่แทบทั้งสิ้น

สำหรับปีงบประมาณ 2567 กนอ. ตั้งเป้าหมายการขายเช่าพื้นที่ไว้ 3,000 ไร่ เพราะยังประเมินถึงแนวโน้มของภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและการลงทุนได้ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตาม หลังการดำเนินการผ่านมาครึ่งปี ปรากฏว่ายอดขายเช่าพื้นที่ในนิคมฯ สูงขึ้นไปแตะ 3,900 กว่าไร่ ซึ่งมากกว่าครึ่งปีที่แล้ว ส่งผลให้ต้องขยับเป้าหมายเพิ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยความหมายคือ ยอดที่เพิ่มขึ้นแสดงให้เห็นถึงความสนใจของนักลงทุนที่มีต่ออุตสาหกรรมและศักยภาพของประเทศไทย”

สำหรับทิศทางปี 2567 วิสัยทัศน์ที่ กนอ. นำมาเป็นแกนหลักในการดำเนินงานคือ “นำนิคมอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากลด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน” ในขณะที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับเทรนด์อุตสาหกรรมสีเขียว กนอ. จึงต้องวางแนวทางการทำงานให้สอดคล้องกับเมกะเทรนด์ดังกล่าว

“สิ่งที่ กนอ. ดำเนินการมาตลอดตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้คือ กนอ. นำมาตรฐานสากลต่าง ๆ มาเป็นมาตรวัดในการทำงานทุกมิติขององค์กร บนเป้าหมายเพื่อพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน ผ่านคีย์เวิร์ดหลักของ กนอ. คือ นวัตกรรม ซึ่งเราให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาคุณภาพชีวิตของสังคมและชุมชนโดยรอบมาโดยตลอด ผ่านการขับเคลื่อนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ดำเนินมากว่า 20 ปี”

รศ.ดร. วีริศยังได้ขยายความเพิ่มเติมอีกว่า จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่เกิดขึ้น และการประกาศเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีในการประชุม COP26 ทำให้การดำเนินงานด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย และ กนอ. จะยิ่งชัดเจนมากขึ้น โดยในส่วนของ กนอ. ได้ตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของนิคมฯ และท่าเรืออุตสาหกรรม ที่ กนอ. ดำเนินการเองภายใต้โครงการ Eco-Efficiency ให้ได้ 2,500,000 kgCO2e ภายในปี 2570 (โดยเป็นแผนดำเนินงาน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2566 ลด GHGs ปีละ 500,000 kgCO2e)

เป้าหมายของแผนงานนี้ คือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) และการนำพลังงานทดแทน (Renewable Energy) มาใช้ทดแทนพลังงานหลัก ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล และมีการขยายผลต่อไปสู่ผู้ประกอบการและผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมใหม่อย่าง “นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค” มีมาตรการลดการใช้พลังงานตั้งแต่กระบวนการออกแบบและการก่อสร้าง โดยเลือกใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ซึ่งปูนไฮดรอลิก 40,000 ตัน สามารถลด GHGs ได้ถึง 2 ล้าน kgCO2eq หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ประมาณ 200,000 ต้น นอกจากนี้ยังมีการออกแบบการคมนาคมภายในนิคมฯ ลดการใช้รถสันดาป รวมถึงมีการออกแบบติดตั้ง Solar floating และ Solar Rooftop เพื่อนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้อีกด้วย

โครงการย่อย ๆ สู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่

รศ.ดร. วีริศเปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา กนอ.ได้ดำเนินกิจการโดยคำนึงถึงความยั่งยืน
มาโดยตลอด มีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและผู้พัฒนานิคมฯ ให้ความสำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การยกระดับนิคมอุตสาหกรรมเพื่อดำเนินการตามเกณฑ์การรับรองการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ฉบับปรับปรุง ซึ่งกำหนดให้นิคมฯ ลด GHGs ในระดับ Eco-Champion ร้อยละ 5 จากปีฐาน Eco-Excellence ร้อยละ 20 จากปีฐาน และ Eco-World Class ร้อยละ 40 จากปีฐานโครงการ Eco Factory โครงการโรงงานเครือข่ายการลดก๊าซเรือนกระจก โดย กนอ. จะนำผู้เชี่ยวชาญเข้าให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเพื่อประเมินประสิทธิภาพของการลดก๊าซเรือนกระจกของโรงงาน

อีกทั้งยังมีการทำ MOU ร่วมกับธนาคาร 5 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อสนับสนุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการภายในนิคมฯ ในการอนุรักษ์พลังงาน การใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทน และการดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในนิคม ไม่เพียงเท่านั้น กนอ. ยังสร้างแรงจูงใจให้ผู้พัฒนานิคมฯ โดยมีการหารือกับทาง BOI ในการปรับปรุงหลักเกณฑ์นิคมอัจฉริยะ เพื่อสิทธิประโยชน์สูงสุดลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 8 ปีอีกด้วย

จากความร่วมมือระหว่าง กนอ. และผู้ประกอบการภายในนิคมฯ ข้างต้น ส่งผลให้ในปี 2566 กนอ. สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 1,231,270 TCO2e ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวนอกจากจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกันแล้ว ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่นักลงทุน และนำไปสู่การผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

I-EA-T Sustainable Business (ISB) โรดแมปใหม่ แต่ Impact ไม่ธรรมดา

แม้ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา กนอ. ได้ดำเนินกิจการบนพื้นฐานของความยั่งยืนมาโดยตลอด แต่เมื่อบริบทโลกเปลี่ยนไป กนอ. เองก็ต้องพัฒนาเพื่อก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

“ในเรื่องของความยั่งยืน กนอ. ทำมานานเกือบ 20 ปี เรามีโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนานิคมฯ และผู้ประกอบการให้เข้าสู่ความยั่งยืน เพียงแต่บริบทของโลกที่เปลี่ยนไปทำให้เราหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่ได้ ต้องพัฒนากฎระเบียบและมาตรฐานต่าง ๆ ให้มากขึ้น อาทิ ปัจจุบันเมกะเทรนด์ของโลก เน้น SDG (Sustainable Development Goal) และ ESG ที่เราต้องไป Comply กับทาง UN และกับนานาชาติ หรือแม้แต่เรื่องของการลดคาร์บอน การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่ต้องเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ และสภาวะโลกร้อนที่มีผลกระทบ เป็นต้น

สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่เป็นตัวจักรสำคัญต่อการขับเคลื่อนของประเทศเกี่ยวกับเรื่องนี้ กนอ.ก็เกี่ยวข้องโดยตรง จำเป็นต้องปรับตัวและทำให้ประชาชนเชื่อมั่นและมั่นใจว่า เราทำตามเกณฑ์มาตรฐานของโลก ซึ่งจะมีการนำกฎเกณฑ์เหล่านี้เข้ามาสู่การทำงานของ กนอ. มากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากโครงการต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว กนอ. ยังส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการให้ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงหลัก ESG ผ่านโครงการน้องใหม่อย่าง I-EA-T Sustainable Business (ISB) ที่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลด้านความยั่งยืนอีกด้วย

ในมิติรายละเอียดของโครงการ ISB และโครงการที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ อย่าง Eco Industrial Estate, ธงขาวดาวเขียว, Eco Factory และโครงการโรงงานเครือข่ายการลดก๊าซเรือนกระจก ล้วนเป็นโครงการที่มุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม โรงงาน ควบคู่ไปกับการดูแลชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความยั่งยืน

แต่โครงการ ISB มีความแตกต่าง คือ การนำโครงการที่ผู้ประกอบการทำอยู่ มาคำนวณออกมาเป็นตัวเงินที่

ผู้ประกอบการจะได้กลับมาจากการลงทุนลงแรงทำกิจกรรมด้านสังคมต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรนั้น ๆ เล็งเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมว่าสิ่งที่ดำเนินการมีมูลค่ามากน้อยเพียงใด หรือควรมุ่งไปในทิศทางไหนที่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้รับ โดยที่ กนอ. ได้นำเอามาตรฐานสากลมาใช้ในโครงการ ISB โดยประกาศให้เอกชน นักธุรกิจ และผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ มีการอบรมให้กับผู้เข้าร่วม ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาสามารถวัดเป็นตัวเงินและความคุ้มค่าที่กระจายไปสู่ผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ อย่างรอบด้าน”

ISB กับการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมไทย

รศ.ดร. วีริศ ในฐานะหัวเรือใหญ่ของ กนอ. ได้ขยายความถึงเป้าหมายของโครงการ ISB เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของโครงการมากขึ้นว่า “เป้าหมายของ ISB ประการแรก คือ เรื่อง ‘ความยั่งยืน’ ทุกอย่างมันเกี่ยวข้องกันหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ นิคมฯ ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งถ้าเราพัฒนาตั้งแต่ผู้ประกอบการของเรา สาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่มอบให้ในนิคมอุตสาหกรรม เทคโนโลยีที่ล้วนมุ่งไปสู่ความยั่งยืนในทิศทางเดียวกันแล้ว สังคม สิ่งแวดล้อม ชุมชน ก็จะไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นเป้าหมายแรกของ ISB คือ การพัฒนาเข้าสู่ความยั่งยืน โดยเป็นมาตรฐานตามสากล

ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ ทางนิคมฯ จะมีตัวชี้วัดว่าผู้ประกอบการแต่ละราย หากลงมือดำเนินการแล้วผลลัพธ์ดีพอหรือยัง ซึ่ง กนอ. มีกรอบและแนวทางให้อยู่แล้ว เสมือนเป็นการปูทางพื้นฐานที่ช่วยส่งเสริมกันเพิ่มขึ้นไปอีก”

นอกจากนี้ ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยังลงลึกไปถึงเป้าหมายของโครงการ ISB ที่ละเอียดมากขึ้นว่า “ISB ต้องการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลด้านความยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก แต่ยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจไทยในสายตาของผู้บริโภคและนักลงทุน

แน่นอนว่าผลลัพธ์ของโครงการนี้จะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยโครงการ ISB สนับสนุนให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดการของเสียอย่างรับผิดชอบ การดูแลพนักงานและชุมชนโดยรอบ ซึ่งส่งผลดีต่อภาพรวมของสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือหากมองในมิติของการส่งเสริมเศรษฐกิจ BCG ก็สามารถมองผ่านในมิติของการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การลดของเสีย การนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ และการใช้พลังงานสะอาด รวมถึงสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ได้อีกด้วย

ส่วนเกณฑ์การประเมินของโครงการ ISB นั้น สามารถแยกออกเป็นมิติต่าง ๆ ได้ดังนี้ โดยมิติแรกประเมินผลสัมฤทธิ์จากกระบวนการดำเนินธุรกิจ (CSR in Process) โดยใช้เครื่องมือเกณฑ์การประเมินการดำเนินธุรกิจ (BIA : Business Impact Assessment) ร่วมกับมาตรฐาน BCORP ที่ครอบคลุม 5 ด้าน ได้แก่ 1. ธรรมาภิบาล 2. พนักงาน 3. ชุมชน 4. สิ่งแวดล้อม และ 5. ลูกค้าและผู้บริโภค

มิติที่สอง ประเมินผลสัมฤทธิ์ทางสังคมในกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR After Process) โดยใช้เครื่องมือการบริหารจัดการการลงทุน (Social Impact Assessment: SIA) และดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม (Social Return on Investment: SROI) ร่วมกับกลุ่มมาตรฐาน Social Value International ครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

แล้วผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ISB จะได้รับสิทธิประโยชน์อะไร

จากเป้าหมายและเกณฑ์การประเมินของโครงการ ISB ที่ กนอ. วางไว้ คำถามที่น่าสนใจคือ แล้วผู้ประกอบการที่เข้าร่วมจะได้รับสิทธิประโยชน์อะไรจากการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้

“ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ISB จะมีโอกาสได้ขยายฐานการตลาดไปสู่ตลาดสีเขียว (Green Market Segment) การจัดซื้อจัดจ้างยั่งยืน (Sustainable Procurement policy) และโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนสีเขียว (Green Financing) เพื่อเชื่อมโยง Global BCORP Network ที่มีเครือข่ายผู้บริโภคและธุรกิจกว่า 200,000 ราย รวมถึงพนักงานภายใต้กลุ่ม Certified B Corp กว่า 500,000 คน ในกว่า 80 ประเทศทั่วโลกและ SV International โดยได้รับสิทธิสมาชิก Social Value Thailand”

รศ.ดร. วีริศระบุและยังขยายความต่อว่า ผู้ประกอบการยังสามารถนำข้อมูลด้านความยั่งยืนที่ได้ดำเนินงานกับโครงการยื่น ESG Reporting ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นองค์กรมหาชนได้ อีกทั้งยังเป็นการเสริมแนวปฏิบัติในการบริหารความเสี่ยง Sustainable Global Supply Chain และผลกระทบจามาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) และความเสี่ยงด้าน ESG ซึ่งถือเป็นความท้าทายของการดำเนินธุรกิจในอนาคตอีกด้วย

ความสำเร็จของโครงการ ISB และการเชื่อมโยงกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG

แม้จะเรียกว่าเป็นโครงการน้องใหม่ แต่ ISB ของ กนอ. ดำเนินการมาแล้ว 2 ปี และกำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 3
ในปี 2567 นี้ ซึ่ง รศ.ดร. วีริศได้ฉายภาพความสำเร็จของโครงการ ISB ที่ผ่านมาว่า

“โครงการ ISB ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีสิทธิประโยชน์ที่หลากหลาย อาทิ การได้รับมาตรฐานองค์กรยั่งยืนระดับสากล โอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนสีเขียว และการเชื่อมโยงกับเครือข่ายธุรกิจระดับโลก ซึ่งช่วยในการสร้างแรงบันดาลใจและดึงดูดผู้ประกอบการให้เข้าร่วมโครงการ โดยในปีแรกมีผู้ประกอบการเข้าร่วม 40 ราย ปีที่สอง 80 ราย และปีนี้เราตั้งเป้าไว้ที่ประมาณร้อยกว่าราย”

นอกจากนี้ โครงการ ISB ยังเชื่อมโยงกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติที่มุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า การหมุนเวียนทรัพยากร และการใช้พลังงานสะอาด

อีกทั้งยังยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม มีการส่งเสริมสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจตามแนวทาง BCG เช่น การเข้าถึงแหล่งทุนสีเขียว การปรับปรุงประสิทธิภาพโรงงานเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ BCG ของ BOI

ไม่เพียงเชื่อมโยงกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG แต่โครงการ ISB ยังมีส่วนสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และเศรษฐกิจดิจิทัลอีกด้วย เพราะมีการนำมาตรฐานสากลมาปรับใช้
และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการรายงานข้อมูล ESG ซึ่งการได้รับมาตรฐานนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่มีการแข่งขันสูง

“โครงการ ISB มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวและการสร้างสังคมที่น่าอยู่สำหรับคนรุ่นต่อไป” รศ.ดร. วีริศ เน้นย้ำ

ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่มาบตาพุด

นอกจากนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ความยั่งยืนแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่คงต้องหยิบยกมาพูดถึงคือเหตุการณ์เพลิงไหม้ถังเก็บสารเคมี C9+ ของบริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ที่เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพราะเกิดในพื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดที่ถือเป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบ
ของ กนอ.

“ในส่วนของนิคมมาบตาพุดที่เกิดเหตุ จริง ๆ แล้ว กนอ. มีแผนอยู่แล้ว ทั้งแผนอพยพ แผนซ้อมฉุกเฉิน และแผนการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ภายใน 5 วันหลังจากที่เกิดเหตุ ทางทีมงานผู้บริหารการนิคมฯ ได้ลงพื้นที่ไปพบกับผู้บริหารของโรงงานอุตสาหกรรมในท้องที่ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและประชาชน เพื่อที่จะทำแผนที่เรียกว่า AAR – After Action Review เรามาทบทวนกันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันมีข้อผิดพลาดข้อบกพร่องอย่างไรบ้าง และนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้น

โดยมาตรการ AAR ที่ทาง กนอ. ได้ทบทวนประกอบด้วย

  1. มาตรการป้องกันก่อนเกิดเหตุ มีการปรับรูปแบบการดำเนินการ กฎระเบียบต่าง ๆ ให้ตรงกับความคาดหวังของประชาชน สังคม และผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ
  2. มาตรการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ยกระดับบทบาทหน้าที่ของตนเอง โดยเฉพาะเรื่องของความชัดเจนในขอบเขตหน้าที่ที่รับผิดชอบและสิ่งที่ต้องดำเนินการ รวมถึงความพร้อมของวัสดุดับเพลิงและอุปกรณ์ที่ใช้ในการตอบโต้เหตุฉุกเฉิน และการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการประเมิน
  3. มาตรการสื่อสารภาวะวิกฤติ ชี้แจงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและทันท่วงที เพื่อลดความวิตกกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และบริหารจัดการในภาวะวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  4. มาตรการเยียวยาฟื้นฟู ให้การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ตลอดจนเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนโดยรอบนิคมฯ

“การมุ่งเข้าสู่ความยั่งยืนคือการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง และการอยู่ร่วมกับชุมชนโดยรอบอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงความปลอดภัยคือสิ่งที่ กนอ. ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน วันนี้เราปรับปรุงกฎเกณฑ์ กฎระเบียบเหล่านั้น เพื่อให้เข้าไปถึงความคาดหวังของประชาชนและสังคม ถึงแม้มันจะอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของเรา เราต้องพยายามผลักตัวเองออกไป ไม่พยายามที่จะทำอยู่ในกฎเดิมๆ”

จากโครงการต่าง ๆ ที่ กนอ. พยายามขับเคลื่อน เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน รวมถึงการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์มาบตาพุด โดยคำนึงถึงการอยู่ร่วมกับชุมชนโดยรอบอย่างยั่งยืน ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่สำคัญของ กนอ. ในฐานะผู้มีบทบาทในการพัฒนาประเทศผ่านนิคมอุตสาหกรรม และที่มากกว่านั้นก็คือ การก้าวขึ้นไปอีกขั้นในการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยให้เข้าสู่การอุตสาหกรรมสีเขียวในอนาคตอย่างไร้รอยต่อ

ที่มา : สัมภาษณ์พิเศษ
ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS