โฉมหน้าประเทศไทย หลังประกาศเคอร์ฟิว

จากสถานการณ์ COVID-19 กลายเป็นโรคระบาดที่นอกจากจะมีความร้ายแรงที่สุดในโลกสมัยใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว COVID-19 ยังสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล มีธุรกิจมากมายหลายเซกเตอร์ในปัจจุบันที่แทบจะล้มทั้งยืน เมื่อเทียบกับโรคซาร์ส เมอร์ส หรืออีโบลา จนถึงตอนนี้ มีรายงานว่า ผลกระทบของโรคระบาด COVID-19 ต่อเศรษฐกิจโลกต่อตลาดการเงิน เมื่อมูลค่าตลาดหุ้นทั่วโลก หายไป 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว

สำหรับประเทศไทย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2563 GDP ขยายตัว -2% ถึง -3% หากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 เริ่มคลี่คลายภายในเดือนกันยายนนี้ หมายความว่า ระยะเวลาของคนไทยจะใช้เวลาราว 6 เดือนเพื่อผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 (ในเฟสแรก) ส่วนระยะกลาง หากสถานการณ์ยืดเยื้อจะยิ่งเสียหายหนักกว่านี้

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวด่วนประกาศนำพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการแผ่นดินในสถาการณ์ฉุกเฉินมาใช้ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยแบ่งออกเป็น 2 ระดับคือ

ระดับที่ 1 สถานการณ์ฉุกเฉินทั่วไป

  • ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งกระแสข่าวระบุว่า จะระบุ เคอร์ฟิว เวลา 19.00-07.00 น.
  • ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ
  • ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ
  • ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ
  • ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด

ระดับที่ 2 สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

  • ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวผู้ใดซึ่งต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน เท่าที่มีเหตุจำเป็นเพื่อระงับความรุนแรงโดยไม่ชักช้า
  • ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายซึ่งอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง ตามความจำเป็น
  • ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งห้ามมิให้ผู้ใดออกไปนอกราช อาณาจักรได้
  • ออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารเพื่อเข้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจระงับ เหตุการณ์ร้ายแรงหรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วนได้

เป็นที่แน่นอนว่า หลังการประกาศเคอร์ฟิวแล้ว จะทำให้ผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลง ประชาชนคนทำงาน ไม่สามารถทำงานได้ ย่อมทำให้รายได้ลด กระทั่งการท่องเที่ยวเดินทางจะลดต่ำอย่างรุนแรง ไม่เว้นแม้ภาคการลงทุนซึ่งจะลดลงเช่นกัน

ดังนั้น แสงสว่างปลายอุโมงค์ก็คือ รัฐบาลต้องเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนในงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 5.5 แสนล้านบาท ในช่วงระยะเวลาที่เหลืออีกกว่า 6 เดือนของปีงบประมาณ 2563 และเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีกประมาณ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อให้เงินไหลเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจากการลงทุนพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อเร่งฟื้นความเชื่อมั่นต่อไป