บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หนุนโครงการ eisa (Education Institute Support Activity) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงพื้นที่กลุ่มทอผ้า“ร้อยลายดี”บ้านหนองลิง จังหวัดสุพรรณบุรี

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โดยโครงการ eisa (Education Institute Support Activity) โครงการที่สนับสนุนกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ (สาขาแฟชั่น) และหลักสูตร DBTM คณะสถาปัตยกรรมและการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงพื้นที่กลุ่มทอผ้า “ร้อยลายดี”บ้านหนองลิง จังหวัดสุพรรณบุรี

ชุมชนดังกล่าวเป็นชุมชนที่มีรากฐานแข็งแรงพร้อมพัฒนาอยู่เสมอ ผ้าทอบ้านหนองลิงเป็นผ้าทอพื้นเมืองของชุมชนไทยเชื้อสายมอญซึ่งลูกหลานชาวมอญบ้านหนองลิงได้สืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าพื้นเมืองเอาไว้ ตั้งแต่การปลูกฝ้าย การปั่นฝ้าย การทอผ้า การตัดเย็บเครื่องนุ่งห่มตามเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน การดำรงชีวิตของชาวไทยเชื้อสายมอญบ้านหนองลิงได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ปัจจุบันกระแสการใช้ผ้าขาวม้าได้รับความนิยมมากขึ้น ผ้าไทยพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์และประวัติความเป็นมาสะท้อนภูมิปัญญาของคนในรุ่นก่อน การพัฒนาชุมชนผ้าขาวม้าผ่านนักศึกษาคนรุ่นใหม่ได้เข้ามาช่วยยกระดับผ้าขาวม้าให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าใหม่ๆให้มากขึ้นจากการออกแบบผลงานที่มีความทันสมัย และเข้าใจบริบทของกลุ่มลูกค้า สิ่งสำคัญคือเป็นการสร้างประสบการณ์การทำงานจริงให้กับนักศึกษาในการทำงานร่วมกับชุมชนจากโจทย์ที่ท้าทาย นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับความรู้ต่างๆมากมาย กลับไปพัฒนาตนเองได้ในอนาคต ถือเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาด้านการออกแบบผ้าขาวม้าของชุมชนที่สร้างความหลากหลาย พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ รวมถึงฟื้นฟูและศึกษาเพื่อดำเนินงานอนุรักษ์สืบสานผ้าทอมือพื้นเมืองให้ยั่งยืนสู่คนรุ่นหลัง การทำงานของนักศึกษาก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับชุมชน ในด้านของสถาบันการศึกษา ผศ.ศิรินทร์ ใจเที่ยง อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ขับเคลื่อนให้เกิดการเรียนรู้แก่ชุมชนบ้านหนองลิง ได้กล่าวว่า

“วันนี้คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ ได้ลงพื้นที่บ้านหนองลิงเพื่อนำนักศึกษาชั้นปีที่3 ในวิชาการออกแบบแฟชั่นเพื่อชุมชนมาเก็บข้อมูลและรับโจทย์จากผู้นำกลุ่มทอผ้าจากป้าแต๋ว ทั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนจากจากไทยเบฟโดยโครงการ eisa ซึ่งมีความต่อเนื่องค่ะ การที่ทางมหาวิทยาลัยนำนักศึกษามาลงพื้นที่ชุมชนถือเป็นประโยชน์กับนักศึกษามาก เขาสะท้อนดูเขาก็พบว่าเขามีแนวทางการออกแบบแฟชั่นที่ขึ้นกับความต้องการของชุมชนเป็นหลัก ขณะเดียวกันนักศึกษาก็จะได้ประโยชน์ในการเรียนรู้จริง ทางด้านชุมชนก็มีความคาดหวังว่าน้องๆจะมาช่วยพัฒนาสินค้าต่อยอดให้มีรายได้มากขึ้น แนวการออกแบบทางคณะก็มีแนวโน้มให้อยู่ในชาติพันธุ์ ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ของชุมชน เรามีความคาดหวังว่าแบบที่นักศึกษาได้ออกแบบหลังการลงพื้นที่ในวันนี้ กลุ่มทอผ้าจะสามารถนำแบบไปต่อยอดตัดเย็บออกมาเป็นสินค้าอย่างเป็นรูปธรรมค่ะ”   

และที่จะลืมไม่ได้เลยกับ 2 นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่างคณะที่ได้ลงพื้นที่บ้านหนองลิงในการวางแผนพัฒนาธุรกิจการตลาดและการออกแบบการตัดเย็บจากผ้าขาวม้าให้กับชุมชนฯ คนแรก นายกฤตณัฐ ว่องนัยรัตน์ หลักสูตร DBTM (Design, Business & Technology Management) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่จะมาช่วยพัฒนาในส่วนของช่องทางการตลาด ได้บอกความรู้สึกในการลงพื้นที่บ้านหนองลิงว่า

“ ชื่อปันปัน นะครับ มาจากหลักสูตร DBTM คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมกิจกรรมของ eisa มาดูในส่วนวางแผนการตลาดผ้าของป้าแต๋ว ชื่อแบรนด์ “ร้อยลายดี” จากการที่เราได้ไปพูดคุยก็ได้รู้ว่า กลุ่มลูกค้าเดิมของป้าแต๋วจะอยู่ในวัยกลางคน 40 -60 ปี ปัญหาที่พบคือความยูนีคของสินค้ายังมีไม่มาก ด้วยราคาด้วย แต่ข้อดีคือควอลิตี้ เป้าหมายที่เราจะช่วยป้าให้มากที่สุด คือการขายแบบออนไลน์ ซึ่งจะต้องทำแบบต่อเนื่องและตอนนี้จะฝากการดีไซน์ของเพื่อนๆคณะศิลปกรรมให้ช่วยดีไซน์ผ้าบ้านหนองลิงให้ออกมามีความพิเศษให้มากยิ่งขึ้นอาจจะสร้างอะไรสักอย่างให้มีความไอคอนิกที่เป็นจุดเด่นของผ้า “ร้อยลายดี” เข้าไป อีกอย่างที่ผมมองเห็นคือสินค้าพวกนี้จะได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองไทย ด้วยความเป็นไทยเนี่ยล่ะครับ คิดว่าน่าจะลองไปทำตลาดที่มีต่างชาติเยอะๆ เช่น พัทยา หัวหินอ่ะครับ ด้านการวางแผนการตลาดผมคิดวางแผนไว้ว่าจะเพิ่ม Range ของกลุ่มลูกค้าให้เป็น First Jobber หรือประมาณ 25 ปีขึ้นไป และอาจจะไปปรับปรุงดีไซน์ของโปรดักส์ให้ทันสมัยตามเทรนด์มากขึ้นครับ ความคาดหวังของผมอยากให้โปรดักส์ของป้าแต๋วเป็นสัญลักษณ์หนึ่งในชุมชน เป็นเครื่องหมายการค้าที่โดดเด่น ส่วนประโยชน์ที่ผมได้รับอย่างแรกเลยคือ ประสบการณ์จากเดิมเรียนหนังสือทำงานในมหาวิทยาลัยตลอดเวลาไม่เคยได้ลงพื้นที่จริงแต่การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้ศึกษาการค้าขายจริงๆ และในส่วนของชุมชนเราเห็นจุดบกพร่องตรงไหนเราจะเข้าไปช่วยแก้ไขให้ดีขึ้นพัฒนาให้ชุมชนมีรายได้มากขึ้น อันนี้คือสิ่งที่เราอยากจะมอบให้กับชุมชนครับ”  ปันปันกล่าว

อีกด้านของนักศึกษาต่างคณะ นายปณิธาน สุบงกช สาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พูดถึงความรู้สึกถึงแผนงานออกแบบผลิตภัณฑ์ว่า

ชื่อแพท นะครับ การลงพื้นที่ครั้งนี้ผมได้เรียนรู้วัฒนธรรมประวัติศาสตร์รวมถึงเรียนรู้การทอผ้าได้พูดคุยกับคนทอผ้าคนตัดเย็บหรือคนที่เป็นประธานกลุ่มทอผ้าบ้านหนองลิง ปัญหาที่ทางเราจะเข้ามาช่วยแก้ไขพัฒนาคือ การออกแบบการตัดเย็บซึ่งได้เรียนรู้ว่า ป้าแต๋วมีความคิดที่อยากจะช่วยป้าๆคนอื่นๆให้มีรายได้มีกิจกรรมร่วมกันมาเจอกันพบปะกัน และป้าแต๋วก็ได้ต่อยอดภูมิปัญญาของเขาวัฒนธรรม โดยเล่าเรื่องราวผ่านทางผ้า ผ่านทางชิ้นงานที่เค้าทำออกมาขาย ไม่ได้มีแค่เสื้อผ้าที่สวมใส่ซึ่งจะมีทั้งของแต่งบ้าน ป้าแต๋วได้บอกกับผมว่า อยากได้ลูกค้าใหม่ที่เป็นวัยรุ่นซึ่งพวกผมก็จะออกแบบชุดเสื้อผ้าที่ลดอายุ เพื่อที่จะได้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายใหม่ ผมก็แนะนำกับป้าแต๋วให้ตามเทรนด์ของวัยรุ่นดูว่า วันนี้วัยรุ่นเขาใส่อะไรกันมีอะไรอัพเดทไปขนาดไหนที่สำคัญจะต้องตามตลาดวัยรุ่นให้ทัน สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้ประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับอย่างแรกคือ รายได้ที่ดีขึ้นมีการอัพเดทแบบให้เข้าถึงวัยรุ่นมากขึ้นและในส่วนตัวของผมที่ได้ประโยชน์คือ ได้ฟังคนอื่นที่ไม่ใช่คนใกล้ตัวเพราะว่าในวงการทำงานมันค่อนข้างแคบมากในวัยเรียนอย่างผม การที่เราได้ฟังเสียงของคนอื่นที่ไกลตัวเราสิ่งนี้ทำให้เราได้รับรู้ว่า ในชุมชนยังมีคนที่เขาต้องการความพัฒนาจากเราจากคนรุ่นใหม่ คนที่พร้อมที่จะให้ความรู้ใหม่ๆกับพวกเขาครับ”  แพทกล่าว อย่างภาคภูมิใจ

และเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา “ป้าแต๋ว” นางนิตยา ใจโต ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านหนองลิงและสมาชิกได้เดินทางมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อดูผลงานการออกแบบสินค้าและผลงานการวางแผนธุรกิจด้านการตลาดของน้องๆซึ่งน้องๆได้นำเสนอผลงานหลังจากลงพื้นที่รับโจทย์ โดยป้าแต๋วเมื่อได้เห็นผลงานของน้องๆแล้ว ได้กล่าวอย่างชื่นชมว่า

  

วันนี้ป้าแต๋วและสมาชิกกลุ่มทอผ้าบ้านหนองลิงได้เดินทางเพื่อมาดูผลงานของน้องๆที่ธรรมศาสตร์ พวกเราตื่นตาตื่นใจกับการออกแบบเป็นร้อยๆชิ้น รู้สึกเกินความคาดหวังเห็นผลงานการออกแบบที่ทันสมัยคิดว่าเราน่าจะเจาะกลุ่มตลาดวัยรุ่นได้ดีถูกใจผลงานของน้องๆเป็นร้อยๆชุดเลยค่ะ เราไม่คิดเลยว่าผ้าของเราจะออกแบบมาได้สวยขนาดนี้ เราเลือกชุดที่จะนำไปตัดเย็บและขายได้จริงเพราะว่าเราพาช่างตัดเย็บมาด้วย ซึ่งช่างก็บอกว่าชุดแบบนี้เหมาะสมกับกลุ่มไหนขายได้จริงไหม ป้าแต๋วรู้สึกเป็นเกียรติมากที่นักศึกษาช่วยออกแบบชุดให้ดูทันสมัยเป็นวัยรุ่นมากขึ้น การตลาดก็จะได้เพิ่มมากขึ้น ท้ายนี้ป้าแต๋วก็ขอขอบคุณบริษัท    ไทยเบฟ โครงการ eisa ที่ให้น้องๆมาช่วยออกแบบชุดต่างๆรวมถึงน้องๆคณะสถาปัตย์ที่มาช่วยวางแผนธุรกิจการตลาดร่วมกันก็ต้องขอขอบคุณน้องๆศิลปกรรมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยนะค่ะ”  ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านหนองลิงกล่าวด้วยรอยยิ้มอย่างมีความสุข

โดยทั่วไปแล้วกระบวนการในการทำผ้าทอมือในแต่ละพื้นที่ มีความคล้ายคลึงกันแต่สิ่งที่ทำให้ผ้าทอมือในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างออกไป นอกจากวัตถุดิบที่แตกต่างกันแล้วก็คือลวดลายและเทคนิคการทอผ้า ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีรากฐานมาจากวิถีทางวัฒนธรรมของ แต่ละชุมชน ความเชื่อของกลุ่มชนนั้น ๆ รวมไปถึง แรงบันดาลใจจากสภาพแวดล้อม จินตนาการของผู้ทอทำให้ผ้าทอแต่ละผืนมีความแตกต่างและสามารถสะท้อนถึงเอกลักษณ์ของชุมชนนั้น ๆ ได้อย่างชัดเจน