เมื่อโลกเกิดความเหลื่อมล้ำขั้นวิกฤต เก็บภาษีคนรวย 60% จะทำได้จริงไหม?

ในปี 2023 เป็นอีกปีที่โลกของเราต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น โดยมีสาเหตุมาจาก COVID-19 ที่เข้ามาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว และทำให้ความยากจนทั่วโลกเพิ่มขึ้น โดยที่ในปีนี้ถือเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 25 ปี สวนทางกับความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีที่เพิ่มขึ้นหลังจากสินทรัพย์ประเภทอสังหาฯ และหุ้นบางส่วน มีราคาที่สูงขึ้น (ซึ่งการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์เหล่านี้ได้ทำให้มูลค่าทรัพย์สินของพวกเขามากขึ้น และส่งผลต่อความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้น)

โดยรายงานของ ‘องค์กรการกุศลออกซ์แฟม (Oxfam)’ ซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนเพื่อบรรเทาความยากจนทั่วโลก (เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร) ได้รายงานความเหลื่อมล้ำของคนรวย และคนจนที่สุดในโลกออกมา ว่า มหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของโลก (1%) มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นรวมกันเกือบ 26 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่ประชากรอีก 99% มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นรวมกันเพียง 16 ล้านล้านดอลลาร์ หากคิดง่ายๆ เท่ากับว่า มหาเศรษฐีพันล้านมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 2.7 พันล้านดอลลาร์ แต่แรงงานมากกว่า 1.7 พันล้านคน ต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงเกินรายได้

โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ มาจากปัญหาหลายด้าน ‘Business+’ สรุปให้เข้าใจได้ง่ายว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้มีหลายเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจของโลก และเป็นผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำ 3 เรื่องดังนี้

– การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร การประมง (ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงคือเกษตรกร)

– ภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งมีสาเหตุหลักๆ มาจากต้นทุนพลังงาน และต้นทุนอาหาร ซึ่งเกิดจากสงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครน

– การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้คนรวย และคนจน เข้าถึงวัคซีนได้ไม่เท่ากัน ซึ่งคนจนจะเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพได้น้อยกว่า และได้รับผลกระทบในเรื่องของแหล่งเงินทุน และสภาพคล่อง สวนทางกับคนรวยที่เป็นโอกาสในการซื้อสินทรัพย์ต่างๆ และทำให้มีคู่แข่งทางธุรกิจน้อยลงจากการปิดกิจการของธุรกิจขนาดเล็ก

โดยทาง Oxfam ได้เสนอให้ผู้นำของประเทศทัวโลก เพิ่มการเก็บภาษีสำหรับผู้มีความมั่งคั่งสูง รวมถึงภาษีจากกำไรธุรกิจและกำไรจากการลงทุน ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญที่สุดของคนรวยในหลายประเทศ โดยมองว่า โลกควรกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำ 60% จากกำไรของมหาเศรษฐี 1% ที่ร่ำรวยที่สุดของโลก เพื่อนำเงินเหล่านั้นมาช่วยเหลือคน 2 พันล้านคนให้หลุดพ้นจากความยากจน และเป็นทุนสนับสนุนการยุติความอดอยากทั่วโลก

และให้แนวทางว่า “โลกควรตั้งเป้าหมายที่จะลดความมั่งคั่งและจำนวนมหาเศรษฐีลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 ผ่านการเพิ่มภาษีและการใช้นโยบายที่ช่วยกระจายความมั่งคั่งเหล่านี้ออกไป และควรตั้งเป้าหมายให้ความมั่งคั่งและจำนวนของมหาเศรษฐีกลับไปสู่ระดับเดียวกับเมื่อปี 2012”

ถึงแม้แนวความคิดนี้จะสามารถช่วงเหลือคนยากจน และลดความเหลื่อมล้ำลงได้จริง แต่การจะไปถึงเป้าหมายได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย สาเหตุเป็นเพราะในปัจจุบัน โครงสร้างภาษีของหลายประเทศยังเอื้อให้กับคนรวยสามารถใช้ช่องทางหลบหลีก หรือ จ่ายภาษีน้อยลง

ยกตัวอย่างการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของประเทศไทย ซึ่ง VAT เป็นภาษีทางอ้อมที่เรียกเก็บจากการบริโภคสินค้าในประเทศ ซึ่งคนจนจะเสีย VAT มากกว่าคนรวย เพราะ VAT นั้น เรียกเก็บกับสินค้าทุกชิ้น เมื่อคนจนซื้อสินค้า 1-2 ชิ้นก็จะเสีย VAT ในราคาต่อชิ้นที่สูงกว่าคนรวยที่สามารถซื้อสินค้าจำนวนมาก เพราะจะได้รับส่วนลดจากการซื้อสินค้าจำนวนมาก (ทำให้ VAT ต่อชั้นนั้นต่ำลง) ซึ่งรายได้จากภาษีอันดับ 1 ของไทยคือภาษีทางอ้อมที่สูงถึง 61% ขณะที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ที่ 12%

นอกจากนี้ในส่วนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ของประเทศไทยหากเป็นผู้มีรายได้ปานกลาง (รายได้สูงกว่า 26,583.33 บาท/ เดือน) และต้องเสียภาษีเงินได้ แต่ภาระชีวิตไม่เอื้อให้ได้ใช้สิทธิลดหย่อน เพราะต้องแบกค่าใช้จ่ายมากมายจนไม่เหลือที่จะใช้ซื้อสินค้าที่ให้สิทธิลดหย่อนได้

แต่คนรวยสามารถใช้สิทธิลดหย่อนจากการซื้อสินค้าบริการตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ รวมไปถึงซื้อประกัน กองทุนต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการจัดกองทุนการกุศลเพื่อลดหย่อนภาษีก็สามารถทำได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเหล่านี้จะต้องใช้ระยะเวลา และผ่านมติจากหลายฝ่าย

แต่ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เสียทีเดียว หากโครงสร้างของรัฐบาลนั้น แข็งแรงพอ โดยที่ผ่านมาก็มีหลายประเทศที่ใช้นโยบายเก็บภาษีความมั่งคั่ง อย่างเช่น ‘อาร์เจนตินา’ ที่ในปี 2022 ได้มีการผ่านกฎหมายภาษีฉบับใหม่เรียกเก็บภาษีจากประชาชนผู้มีความมั่งคั่งเพื่อนำมาใช้จ่ายเพื่ออุปกรณ์ทางการแพทย์และสิ่งบรรเทาทุกข์ในวิกฤต COVID-19 ซึ่งผู้ที่เข้าเกณฑ์เสียภาษีต้องจ่ายภาษีในอัตราก้าวหน้าสูงสุด 3.5% สำหรับผู้ที่พำนักในประเทศ ขณะที่ต่างชาติต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้าสูงสุดถึง 5.25%

รวมไป ‘สวิตเซอร์แลนด์’ ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบของโลกเรื่องภาษีความมั่งคั่ง โดยเก็บจากสินทรัพย์ทุกประเภท โดยใช้ราคาตลาดของสินทรัพย์นั้นๆ อ้างอิง (เงินฝาก, หุ้น, อสังหาฯ, งานศิลปะ, เครื่องเพชร, รถยนต์, เครื่องบินส่วนตัว)

แม้กระทั่ง “โจไบเดน” ผู้นำของสหรัฐก็เป็นอีกคนที่ยกเรื่องภาษีความมั่งคั่ง ขึ้นมาเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียง โดยได้มีการเสนอให้เก็บภาษีในอัตราขั้นต่ำ 20% สำหรับครัวเรือนที่มีความมั่งคั่งมากกว่า 100 ล้านเหรียญ โดยคำนวณความมั่งคั่งด้วยมูลค่าตลาด และเรียกเก็บภาษีเป็นรายปี ซึ่งรูปแบบนี้จะคล้ายกับ สวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส

ทั้งนี้การเก็บภาษีความมั่งคั่ง ถือเป็นหนึ่งในวิธีที่จะช่วยเหลือโลก ลดความเหลื่อมล้ำได้ก็จริง แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ ‘Business+’ มองว่า จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำลงได้คือ การที่รัฐบาลจะต้องส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษา และสวัสดิการของประชาชนให้ดีขึ้น รวมไปถึงต้องกระจายเทคโนโลยีให้เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้คนจนเข้าถึงการศึกษาที่ดี และสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองให้ดีขึ้นได้ด้วย

ที่มา : World Richest Man 2023 , Oxfam

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

#Businessplus #Business #นิตยสารBusinessplus #มหาเศรษฐี #คนรวย #คนจน