TIPMSE เร่งสร้างระบบนิเวศบนหลัก EPR รับมือกติกาโลกที่เข้มข้นมากขึ้น

สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ TIPMSE (Thailand Institute of Packaging and Recycling Management for Sustainable Environment, The Federation of Thai Industries) เดินหน้าขยายเครือข่ายในโครงการ PackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน และสร้างกลไกพัฒนาการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลัก EPR (Extended Producer Responsibility (EPR) ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับริบทของประเทศไทยและดำเนินการได้จริง

นายโฆษิต สุขสิงห์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ERP เป็นเรื่องที่เข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้น และเป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั้งโลก โดยมีหลายประเทศได้นำเอาแนวทาง EPR มาบังคับใช้แล้ว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ ไม่มากก็น้อย ดังนั้น ผู้ผลิตภาคเอกชนและผู้มีส่วนร่วมต่างๆ ควรมีความเข้าใจเรื่องนี้อย่างถูกต้อง และตระหนักถึงความสำคัญในการวางแนวทางการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ การเก็บกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ลดกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคมรอบข้าง

“แนวทางที่ TIPMSE ดำเนินการอยู่นี้ เราเน้นเรื่องการจัดการบรรจุภัณฑ์ในลักษณะเป็นภาคสมัครใจ โดยเปิดให้ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้รวบรวม โรงงานรีไซเคิล องค์กรอิสระ และองค์กรต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วม หากมีการนำหลัก EPR มาปฏิบัติอย่างสมบูรณ์แบบ จะทำให้เกิดศักยภาพของผู้ผลิต หรือเจ้าของแบรนด์สินค้าในประเทศไทย สามารถก้าวสู่ตลาดส่งออกได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน”

หลังจาก TIPMSE ได้เริ่มต้นโครงการเมื่อปลายปีที่แล้ว จาก 50 องค์กรที่เข้าร่วมภาคีเครือข่าย ได้ขยายเพิ่มขึ้นเป็น 72 องค์กรในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่า ภาคส่วนต่างๆ ตลอดห่วงโซ่คุณค่ามีความตื่นตัวในการขับเคลื่อนการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ตามหลัก EPR  พร้อมทั้งนำร่องการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลัก EPR ในพื้นที่นำร่อง 3 เทศบาล จังหวัดชลบุรี โดยส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกการบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาระบบรวบรวมและขนส่ง การจัดตั้งจุดรองรับ การส่งเสริมกลุ่มแรงงานนอกระบบที่เกี่ยวข้อง การสร้างระบบเชื่อมโยงการบรรจุภัณฑ์ และการสร้างอค์ความรู้เพื่อให้มีการคัดแยกที่มีคุณภาพ

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในพิธีเชิดชูเกียรติและประกาศเกียรติคุณ 72 องค์กรผู้นำแห่งความรับผิดชอบด้านความยั่งยืน ว่า การบริหารจัดการตามหลัก EPR จะเป็นการดำเนินการที่ครอบคุลมตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ซึ่งแนวคิด EPR จะเป็นหลักการสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐหมุนเวียนได้อย่างชัดเจน

ปัจจุบัน 30-40% ของปริมาณขยะทั้งหมดทั่วประเทศ หรือประมาณ 8-10 ล้านตัน มาจากบรรจุภัณฑ์พลาสติก และยังมีบรรจุภัณฑ์อีกหลายประเภทที่ไม่ได้ถูกนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ดังนั้น กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการกำจัดขยะของประเทศ ปี 2565-2570 ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการขยะรูปแบบใหม่ตามหลักการ EPR โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งล้อม เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป

“นอกจากภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทในการผลักดันการบริหารจัดการขยะบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลมากขึ้นแล้ว องค์กรปกครองท้องถิ่นทุกระดับทั่วประเทศ จะเป็นอีกภาคส่วนที่จะต้องมีบทบาทสำคัญในกระบวนจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพและมีการเก็บกลับเพื่อนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิล และอัพไซคลิ่ง”

นายวราวุธ ซึ่งเป็นประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิคส์ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้มีมติในการประชุมเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ให้มีการออกนโยบายกำกับและกำจัดการนำเข้าเศษพลาสติกในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยจะไม่อนุญาตให้นำเข้าเศษพลาสติกเข้ามา ในปี 2568 ยกเว้นเศษพลาสติกที่ไม่มีในประเทศไทย เช่น พลาสสติก ABS  ที่นำมาทำคอนโซนในรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งจะมีการพิจารณาอนุญาตเป็นรายๆ ไป มาตรการดังกล่าว จะเป็นการบังคับให้ทุกคนรวมทั้งภาคธุรกิจ นำเอาขยะพลาสติกในประเทศไทยกลับมาใช้ให้ได้ 100% ภายในปี 2570 ตามโรดแมพที่รัฐบาลวางไว้

นอกจากนี้ รัฐบาลได้จัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระต่ำของประเทศไทย (Long-term low greenhouse gas emissions strategy:LTS) เพื่อให้บรรจุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2065 ซึ่งประเทศไทยจะนำเสนอแผนดังกล่าวต่อองค์การสหประชาชาติก่อนที่จะมีการประชุม COP27 ในปลายปีนี้ EPR ถือเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ผลิตสร้างความรับผิดชอบไปยังช่วงต่าง ๆ ของวงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์ โดยคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การเริ่มต้นคิด การออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติก การจัดส่งกระจายสินค้า การรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ จนนำมาสู่การนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้เกิดเป็นกระบวนการที่ยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์พลาสติก ให้สามารถใช้งานได้อย่างคุ้มค่า และส่งผลเสีย หรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

ดังนั้น EPR จึงมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ช่วยให้เกิดการพัฒนาในทิศทางที่เหมาะสม ส่งเสริมการสร้างระบบการจัดการปัญหาขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน