สร้างความยั่งยืนผ่านแรงบันดาลใจกับเรื่องเล่า

การเปลี่ยนแปลงที่ดีมีพื้นฐานมาจากความเชื่อและความเข้าใจ ฉะนั้นหนึ่งในวิธีที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนคือการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนตระหนักและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  เวที Planet Possible ที่ National Geographic จัดขึ้นในงานมหกรรมความยั่งยืน Sustainability Expo 2022 ร่วมสร้างแรงบันดาลจาก “การเล่าเรื่อง” อันทรงพลังผ่านสื่อต่าง ๆ หลากหลายรูปแบบโดยช่างภาพและศิลปินรุ่นใหม่ที่ช่วยกระทุ้งและสร้างแรงกระเพื่อมในสังคม

เจรมัย พิทักษ์วงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ Media & Event Business บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)  เกริ่นนำว่าการเล่าเรื่องที่ดีจะสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้  การพัฒนาอย่างยั่งยืนก็ต้องอาศัยแรงบันดาลใจที่จะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ “ในการเล่าเรื่องให้มีอิมแพ็ค เราเน้นการตั้งคำถาม เพราะถ้าเราสงสัย เราจะออกไปหาคำตอบ เมื่อเราออกไปค้นหาเราจะเห็นปัญหา เมื่อเราเห็นปัญหา เราจะออกไปแก้ไข ออกไปปกป้อง และถ้าเราทุกคนเห็นพ้องว่าจะต้องแก้ไข เราจะลงมือทำและสามารถแก้ปัญหานั้นได้” เจรมัยกล่าวถึงกระบวนการสร้างแรงบันดาลใจที่มีจุดเริ่มต้นที่ต้นตอและแก่นของปัญหา ที่แตกยอดออกมาเป็นเรื่องราวที่ทั้งให้ความรู้และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เวทีสัมมนา Planet Possible จึงได้ชวนคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในโครงการ “Explorer” ของ National Geographic มาเล่าเรื่องที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคมผ่านภาพถ่ายและโครงการที่เปี่ยมด้วยความสร้างสรรค์

เริ่มจากมอลลี่ เฟอร์ริล สาวนักสำรวจที่เริ่มสำรวจสิ่งแวดล้อมผ่านเลนส์กับการทำงานในประเทศเมียนมาร์ก่อนที่จะย้ายมาประเทศไทย การเข้าไปถ่ายภาพสัตว์ป่าและการใช้ชีวิตคลุกคลีกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ทำให้เธอได้เห็นความตั้งใจจริงและความเสียสละของเจ้าหน้าที่ในการดูแลอนุรักษ์สัตว์ป่า พืชพรรณ ได้เข้าใจถึงระบบนิเวศ และเริ่มตั้งคำถามที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโลกนี้ให้ดีขึ้นกว่าเดิม

วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์ นักชีววิทยาจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นเวทีเพื่อเล่าเรื่อง “กุ้งเดินขบวน” ปรากฏการณ์ธรรมชาติสุดมหัศจรรย์ที่จังหวัดอุบลราชธานี ที่วัชรพงษ์ต้องปีนบันไดลงไปติดตั้งกล้องที่ก้นเขื่อนเพื่อสังเกตดูพฤติกรรมของกุ้ง ตามลงไปถ่ายบนโขดหินสูงเพื่อติดตามการเดินขบวนของกุ้งนับหมื่นนับแสนตัว ถ่ายภาพกุ้งตัวเล็กที่กระดืบตัวขึ้นจากน้ำ เดินไปบนเส้นทางข้ามโขดหิน กิ่งไม้เพื่อจะเดินทางกลับ “บ้าน” ที่อยู่ต้นน้ำ เนื่องจากกระแสน้ำแรงเกินกว่าที่ขาเล็ก ๆ ของพวกมันจะพาตัวเองว่ายน้ำกลับบ้านได้ นอกจากจะเข้าใจเรื่องธรรมชาติของกุ้งแล้ว เรายังได้เห็นว่ากุ้งพวกนี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ความเชื่อและวัฒนธรรมพื้นเมือง ในฤดูแล้งเมื่อน้ำในแม่น้ำลดลงหินสลักรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ก้นแม่น้ำจะโผล่ขึ้นมาให้เห็น ชาวบ้านจึงเชื่อว่ากุ้งเหล่านี้เดินทางขึ้นมาบูชาพระนารายณ์  และในงานประจำปีของที่นี่ชาวบ้านจะจัดแสดงการเต้นรำพื้นเมืองที่มีเนื้อเพลงเกี่ยวกับการเดินขบวนของกุ้ง รวมถึงมีการทำรูปปั้นกุ้งขนาดใหญ่เพื่อโปรโมตการท่องเที่ยวด้วย “พอการท่องเที่ยวมา เราสังเกตว่าธรรมชาติเริ่มถูกรบกวน กุ้งลดจำนวนลง  ในอนาคตถ้าจำนวนกุ้งลดลงเรื่อย ๆ อาจมีผลกระทบต่อวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของคนท้องถิ่นก็ได้ ดังนั้นสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาดูกุ้งเดินขบวน อยากจะฝากให้ทุกคนช่วยกันแค่อ่านป้ายคำแนะนำและปฏิบัติตามกฎก็จะช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติได้” วัชรพงษ์กล่าว

ตากล้องรุ่นใหม่อีกคนหนึ่งที่มีดีกรีรางวัลระดับโลกการันตีฝีมือ “ชิน” ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย มาพร้อมกับเรื่องเล่าที่จะสร้างแรงบันดาลใจอีกเรื่องจากท้องทะเลความเครียดความกังวลที่สะสมระหว่างการล็อคดาวน์ช่วงโควิดระบาดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ชินตัดสินใจที่จะเดินทางไปยังหมู่เกาะอาดัง-ราวี จังหวัดสตูล เพื่อเยียวยาจิตใจ  แม้จะตั้งความหวังว่าจะได้ลงไปว่ายน้ำ ถ่ายภาพฉลามวาฬตัวโต แต่สิ่งที่ชินได้ค้นพบน่าประทับใจกว่านั้น ชินได้ใช้เวลาสังเกตการทำประมงของคนพื้นเมืองชาวอูรักลาโว้ย หรือชาวเลแห่งหมู่เกาะอาดัง-ราวี ที่ดูเรียบง่ายแต่มีเรื่องราวสะกิดใจอย่างมาก

ชาวอูรักลาโว้ยใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมในการจับปลา ใช้ไม้ที่เหมือนหวายมาทำโครง และใช้ลวดมาดัดทำตาข่ายเป็นเครื่องดักปลา พวกเขาดำน้ำลงไปโดยใช้คอมเพรสเซอร์ป้อนอากาศผ่านท่อพลาสติกที่ติดตัวนักดำน้ำลงไปที่ก้นทะเล พวกเขาวางเครื่องดักปลาขนาดใหญ่นี้ไว้อย่างแน่นหนาที่ก้นทะเลไม่ให้เคลื่อนที่ไปทำลายหินหรือสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลเหมือนอวนลากของการทำประมงในเชิงพาณิชย์  “ชาวอูรักลาโว้ยเป็นนักดำน้ำและนักจับปลากันมาหลายชั่วอายุคน เขารู้ว่าปลาชนิดไหนอยู่ที่ไหน ต้องจับอย่างไร วิธีการจับปลาของพวกเขาจึงเลือกจับเฉพาะปลาที่ต้องการเท่านั้น และด้วยวิธีที่นุ่มนวล ไม่ทำลายท้องทะเล ไม่ทำลายปะการัง ปลาที่ได้จึงเป็นปลาที่ต้องการ และมีสภาพสมบูรณ์”

นี่เป็นที่ที่ทำให้ชินได้พบกับเชฟโจ ณพล จันทร์เกตุ เจ้าของร้านสามล้อที่เลือกสรรวัตถุดิบจากท้องถิ่นที่พบระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวมาทำเป็นอาหารจานเด็ดเสิร์ฟในร้าน และเชฟโจได้นำปลาสด ๆ จากทะเลอันดามันมาทำพล่าปลาให้ผู้ชมในงานได้ชิมกันด้วย อีกหนึ่งเรื่องเล่าที่สร้างแรงกระเพื่อมในสังคมคือเรื่องเล่าจากกลุ่มศิลปินในฟิลิปปินส์ที่ใช้จินตนาการและตั้งคำถามว่าจะเป็นอย่างไรถ้าเราคิด มองโลก และทำทุกอย่างราวกับเราเป็นเกาะในทะเล โดยมีซาแมนธา ซารานดิน ที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ชักชวนเดวิด โลรัน ภัณฑารักษ์รุ่นใหม่ นิโคลา เซบาสเตียน นักเขียนสาว และ ฮานนาห์ เรเยส โมราเลส ช่างภาพจาก National Geographic มาร่วมกันสร้างโปรเจ็คเก๋ ๆ ที่ชื่อว่า Emerging Islands โครงการพิเศษของพวกเขาก็เกิดขึ้นในช่วงการล็อคดาวน์เช่นกัน

ในการรังสรรค์แต่ละโปรเจ็ค กลุ่ม Emerging Islands ชวนให้ศิลปินได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ และออกไปค้นหาคำตอบด้วยการพูดคุยกับผู้คน สังเกต และนำข้อมูลมาประมวลและนำเสนอในรูปแบบงานศิลปะที่มีความหลากหลาย ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ หลากหลาย เช่น Follow the Water นิทรรศการภาพถ่ายกลางแจ้งที่สะท้อนภาพของท้องทะลและชีวิตที่เกี่ยวข้องกับทะเล  Plastic Passages ที่เก็บเอาเศษพลาสติกจากในท้องทะเลขึ้นมารังสรรค์เป็นงานศิลปะ Mebuyan’s Vessel งานศิลปะจัดวางที่แสดงความเคารพต่อเทพแห่งท้องทะเลซึ่งเป็นความเชื่อของชาวพื้นเมือง A Fold in the Horizon งานศิลปะที่ผสมผสานศิลปะการแสดงที่สะท้อนความหลากหลายและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิต

เดวิด โลรัน กล่าวว่า “ความร่วมมือเป็นปัจจัยสำคัญ การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับคนทุกระดับทำให้เราได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่าง ๆ ในโลก ก็เหมือนกับหมู่เกาะที่เกิดขึ้นจากเกาะหลายแห่งรวมกัน และอยู่ร่วมกันกับน้ำ ลม อากาศ สิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย ทุกสิ่งอยู่ร่วมกันและร่วมมือกันจึงเกิดความสมดุลของธรรมชาติขึ้นมาได้”

เรื่องเล่าจากคนรุ่นใหม่ที่รักการถ่ายภาพเหล่านี้ได้สร้างแรงบันดาลใจและชี้ให้ผู้เข้าชมงาน Sustainability Expo 2022 ได้เข้าถึงหัวใจของความยั่งยืน ได้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่าง ๆ และได้ตระหนักว่าการสร้างสมดุลคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความยั่งยืน