‘สหรัฐฯ’ ดันกฎหมายจี้นายจ้างเผยเงินเดือนพนักงาน สร้างความเป็นธรรม-ลดความเหลื่อมล้ำแก่ลูกจ้าง

เป็นที่รู้กันดีว่าประเด็นที่ผู้คนมักจะหยิบยกมาสนทนากันบ่อย ๆ ในปัจจุบันนั้น เห็นจะหนีไม่พ้น ‘ความเท่าเทียม’ ที่ไม่ใช่เพียงแค่ความแตกต่างในเรื่องของเพศเท่านั้น แต่ยังหมายถึง อายุ เชื้อชาติ ศาสนา ที่แม้ว่าโลกจะพัฒนาไปไกลสักแค่ไหน แต่ก็ยังคงมีการแบ่งแยก หรือการถูก ‘เลือกปฏิบัติ’ ให้เห็นกันอยู่บ่อย ๆ เป็นผลให้ผู้คนต่างออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ใดก็ตาม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการรณรงค์และผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมมากเพียงใด แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่ได้หายไปจากสังคมซะทีเดียว ไม่เว้นแม้แต่ในการทำงาน ที่มักจะมีข่าวปรากฏออกมาให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ถึงการที่พนักงานถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม ไม่ว่าจะด้วยเพศหรือเชื้อชาติก็ตาม จนบางครั้งเหตุการณ์ก็ลุกลามบานปลายจนนำไปสู่การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในที่สุด

ยกตัวอย่างเช่นกรณีของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง ‘Google’ ที่ถูกฟ้องร้องเป็นจำนวนเงินมากถึง 118 ล้านดอลลาร์ ให้กับพนักงานมากกว่า 15,500 คน จากกรณีการเลือกปฏิบัติทางเพศที่ทำให้พนักงานที่เป็นเพศหญิงได้รับเงินจากการทำงานน้อยกว่าพนักงานเพศชาย แม้ว่าจะเป็นการปฏิบัติงานในตำแหน่งเดียวกันก็ตาม อาทิเช่น ครูเด็กก่อนวัยเรียนที่ศูนย์เด็กของ ‘Google’ ที่เป็นเพศหญิงจะได้รับค่าจ้างเพียง 18.51 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ในขณะที่ครูเพศชายที่มีคุณสมบัติและประสบการณ์น้อยกว่าจะได้รับค่าจ้างในอัตรา 21 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ใน ‘Google’ เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายองค์กรที่ยังคงมีการปฏิบัติกับพนักงานอย่างไม่เท่าเทียม

ด้วยเหตุนี้ ประเทศแห่งเสรีภาพอย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ จึงเกิดไอเดียในการงัดเอาข้อบังกฎหมายมาบังคับใช้กับบรรดานายจ้างทั้งหลาย เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ในด้านการจ้างงานอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม

โดยรัฐและเมืองต่าง ๆ ใน ‘สหรัฐฯ’ กำลังบังคับให้บริษัทต่าง ๆ เปิดเผยข้อมูลค่าจ้างของลูกจ้างภายในบริษัท เพื่อให้เกิดความเสมอภาคในการจ้างงานมากยิ่งขึ้น ซึ่ง ‘รัฐแคลิฟอร์เนีย’ ได้กลายเป็นรัฐล่าสุดของ ‘สหรัฐฯ’ ที่บังคับให้นายจ้างเผยแพร่ข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับเงินเดือนและค่าจ้างอื่น ๆ ของพนักงาน เพื่อลดช่องว่างทางเพศ และเพิ่มความเป็นธรรมให้กับลูกจ้างมากขึ้น

โดยผู้ว่าการ ‘Gavin Newsom’ แห่งรัฐแคลิฟอเนียได้มีการลงนามในกฎหมาย เพื่อกำหนดให้นายจ้างที่มีพนักงานอย่างน้อย 15 คน ต้องเผยแพร่อัตราค่าจ้าง ควบคู่ไปกับการโฆษณาตำแหน่งงาน นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ทุกบริษัทที่จ้างพนักงานมากกว่า 100 คน ส่งรายงานข้อมูลการจ่ายเงินประจำปีไปยังแผนกสิทธิพลเมืองของแคลิฟอร์เนีย โดยให้ภาพรวมของพนักงานตามเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และเพศ ตลอดจนค่ามัธยฐานและอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงเฉลี่ยสำหรับแต่ละกลุ่ม

ทั้งนี้ ในการผ่านร่างกฎหมาย รัฐแคลิฟอร์เนียได้เข้าร่วมกับรัฐและเมืองอื่น ๆ ที่ได้ออกกฎหมายหรือมีแนวโน้มที่จะผ่าน ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้ความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติด้านค่าจ้างในปี 2564 พระราชบัญญัติการจ่ายเงินที่เท่าเทียมกัน เพื่อการทำงานที่เท่าเทียมกัน ซึ่งมีผลบังคับใช้ในรัฐโคโลราโด ในขณะที่กฎหมายความโปร่งใสในการจ่ายเงินแก่ลูกจ้างของนครนิวยอร์ก น่าจะผ่านในเดือนพฤศจิกายนปีนี้เช่นกัน นอกจากนี้ รัฐแมริแลนด์ยังกำหนดให้ต้องเปิดเผยการจ่ายเงินค่าจ้างสำหรับการลงประกาศรับสมัครงานเมื่อมีการร้องขอ และกฎหมายในคอนเนตทิคัต เนวาดา และโรดไอแลนด์บังคับให้เปิดเผยอัตราค่าตอบแทนในระหว่างกระบวนการจ้างงาน

ด้านผู้เสนอกฎหมายว่าด้วยความโปร่งใสในการจ่ายเงิน กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวจะสร้างความรับผิดชอบ และการแก้ไขช่องว่างค่าจ้างในแต่ละองค์กร โดยจากสถิติพบว่าผู้หญิงที่ทำงานเต็มเวลาในสหรัฐอเมริกายังคงมีรายได้เพียง 83% เมื่อเทียบกับผู้ชาย นอกจากนี้ ผู้หญิงผิวดำและกลุ่มฮิสแปนิกมีรายได้น้อยกว่าผู้หญิงผิวขาว รวมไปถึงช่องว่างด้านค่าจ้างอื่น ๆ เช่น  คนงานที่มีความทุพพลภาพและคนงาน LGBTQ+ ก็ยังคงมีอยู่เช่นกัน

ทั้งนี้ มีหลายปัจจัยที่ผลักดันช่องว่างเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น อาชีพของผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะถูกขัดขวางโดยความรับผิดชอบในการดูแลเด็ก โดยผู้หญิงยังมีแนวโน้มที่จะทำงานในภาคส่วนที่ได้รับค่าจ้างต่ำอีกด้วย แต่องค์ประกอบอีกประการหนึ่งคือ บริษัทสามารถเสนอพนักงานบางกลุ่ม รวมทั้งผู้หญิง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงผิวสี มักจะมีเงินเดือนที่ต่ำกว่ากลุ่มผู้ชายผิวขาว โดยการวิจัยแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงและคนงานส่วนน้อยมักจะโดนกดเงินค่าจ้างให้น้อยลง ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจแก้ไขได้หากมีการเผยแพร่ช่วงค่าจ้างในโฆษณางาน ซึ่งการให้ภาพรวมของอัตราค่าจ้างของพนักงานในบริษัทในตำแหน่งเดียวกัน อาจเป็นหลักฐานว่าพนักงานมีความก้าวหน้าอย่างไรภายในบริษัท และมีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นหรือไม่

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า กฎหมายเหล่านี้สามารถยกระดับการแข่งขันของการจ้างงานได้บ้าง แม้กระทั่งกระตุ้นให้บริษัทต่าง ๆ ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าวปฏิบัติตาม แต่ก็เป็นเพียงขั้นตอนเดียวในการแก้ไขปัญหาช่องว่างความเหลื่อมล้ำในด้านค่าจ้างที่ฝังแน่นมาอย่างยาวนาน

อย่างไรก็ดี แม้กฎหมายนี้จะเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมขึ้นในการทำงาน และแม้จะไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แต่ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้ทุก ๆ องค์กรหันมาให้ความสำคัญกับพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่แบ่งแยกเพศ อายุ ชาติพันธุ์ หรือความแตกต่างใด ๆ ก็ตาม

 

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ที่มา : BBC, Businessinsider

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #สหรัฐฯ #สหรัฐอเมริกา #แรงงาน #บังคับนายจ้างเปิดเผยเงินเดือนพนักงาน