การเดินทางอย่างยั่งยืนคืออะไร? ท่องเที่ยวแบบคนยุคใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

การเดินทางอย่างยั่งยืนคืออะไร?
ท่องเที่ยวแบบคนยุคใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
Climate Change ทำให้โลกแห่งการท่องเที่ยวเปลี่ยนไป จากผลสำรวจพบว่า คนยุคใหม่มีแนวโน้มมองหาการท่องเที่ยวที่เป็นการหาประสบการณ์โดยยึดโยงกับพื้นที่ ผู้คน และท้องถิ่น โดยมีความตระหนักรู้ทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ด้วยภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกทำให้ผู้คนกังวลเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม และหันมาให้ความสนใจการเดินทางแบบยั่งยืน โดย 94% ของนักเดินทางชาวไทยบอกว่าการเดินทางอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องที่พวกเขาให้ความสำคัญ

การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน คือการเดินทางที่ดีต่อการท่องเที่ยวในระยะยาว ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและวัฒนธรรม และลดผลกระทบด้านลบต่อการท่องเที่ยว เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ  เป็นการท่องเที่ยวที่นักเดินทางตระหนักถึงระดับมลพิษที่เกิดจากการเดินทาง และคิดถึงผลกระทบต่อคนในท้องถิ่น ธุรกิจ และวัฒนธรรมพื้นเมืองด้วยเช่นกัน เป็นการเดินทางที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างมาก เพื่อที่เราจะได้ร่วมได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติต่อไปอีกนาน ๆ

3 เสาหลักแห่งความยั่งยืน

  1. เสาหลักด้านสิ่งแวดล้อม – เสาหลักด้านสิ่งแวดล้อมจะเน้นไปที่การลดผลกระทบด้านลบจากการเดินทางต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่า ซึ่งรวมถึงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเดินทางทางอากาศ การใช้น้ำ บรรจุภัณฑ์ และขยะพลาสติก และไม่รบกวนสัตว์ป่า เช่น พกของใช้ที่เราสามารถใช้ซ้ำได้ไปด้วย เลือกที่พักที่สร้างจากวัสดุที่ยั่งยืน

ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการเดินทางอย่างยั่งยืนประจำปี 2565 ของ Booking.com ที่พบว่า 90% ของนักท่องเที่ยวชาวไทยมีแนวโน้มที่จะเลือกที่พักแบบยั่งยืนมากกว่า ไม่ว่าจะตั้งใจเลือกที่พักเหล่านั้นตั้งแต่ขั้นตอนแรกของการจองหรือไม่ก็ตาม

ในปัจจุบันมีที่พักมากกว่า 100,000 แห่งทั่วโลกได้รับป้ายสัญลักษณ์ ที่พักสำหรับการเดินทางอย่างยั่งยืน บน Booking.com เพื่อยืนยันและยกย่องแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ยึดหลักความยั่งยืนของที่พักแต่ละที่

  1. เสาหลักทางสังคม – เสาหลักทางสังคมเกี่ยวกับผลกระทบของเราต่อคนในท้องถิ่นและชุมชน ส่งเสริมธุรกิจที่จ้างงาน และสนับสนุนคนในท้องถิ่น รวมทั้งโครงการการท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือองค์กรที่ทำเพื่อสังคม นักเดินทางสามารถเข้าร่วมโครงการเหล่านี้ได้ แต่ต้องแน่ใจว่าเป็นการจ้างงานที่เป็นธรรมกับผู้คนในชุมชน

จากรายงานของ Booking.com ชี้ว่า ความต้องการในการช่วยฟื้นฟูสังคมและสิ่งแวดล้อมก็มีผลต่อการตัดสินใจ โดย  79% ของนักท่องเที่ยวชาวไทยต้องการสัมผัสประสบการณ์ที่เชื่อมโยงพวกเขาเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น นอกจากนั้น 37% ยังระบุว่า พวกเขาตั้งใจศึกษาค่านิยมและประเพณีท้องถิ่นของจุดหมายที่จะเดินทางไปล่วงหน้า และอีก 38% ของผู้เดินทางเต็มใจที่จะจ่ายเงินมากขึ้นให้กับกิจกรรมระหว่างทริปการเดินทาง เพื่อช่วยกระจายรายได้ไปยังชุมชนท้องถิ่น

  1. เสาหลักทางเศรษฐกิจ – เสาหลักทางเศรษฐกิจหมายถึงธุรกิจที่ทำกำไรจากความยั่งยืน เราสามารถใช้เงินของเราสนับสนุนเศรษฐกิจในท้องถิ่นได้ในฐานะนักท่องเที่ยว เราจ่ายเงินให้กับโรงแรม ร้านอาหาร และมัคคุเทศก์ที่ดำเนินกิจการในท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจในท้องถิ่นนั่นเอง

รูปแบบการเดินทางที่ยั่งยืน

นอกจากการเลือกสถานที่พักที่ยั่งยืนแล้ว นักเดินทางชาวไทยก็ยังให้ความสำคัญกับรูปแบบการเดินทางที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน โดย 27% เลือกที่จะเดินทางไปยังจุดหมายที่อยู่ใกล้บ้านมากขึ้นเพื่อลดคาร์บอนฟุตพรินต์  31% ระบุว่าตนสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับระบบขนส่งสาธารณะและ/หรือตัวเลือกในการเช่าจักรยานในจุดหมายปลายทาง นักเดินทาง 22% เลือกที่จะเดินทางด้วยรถไฟแทนการใช้รถยนต์สำหรับการเดินทางระยะทางไกล และอีก 54% รู้สึกไม่ดีที่จะโดยสารเครื่องบินไปยังจุดหมาย เพราะจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นั่นแสดงว่าการเดินทางและการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เป็นเทรนด์การท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวไทยให้ความสนใจ แม้ว่าบางส่วนอาจไม่เคยรู้ว่าตนกำลังท่องเที่ยวแบบยั่งยืนอยู่ก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะเดินทางอย่างยั่งยืนเพื่อช่วยให้โลกดีขึ้น จากการที่ผู้คนได้รับข่าวสารเรื่อง Climate change ทำให้พวกเขาเริ่มตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่งผลยังพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยว ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมตามไปด้วย และนักเดินทางเองก็ต้องการที่จะใกล้ชิดกับท้องถิ่น รวมทั้งกระจายรายได้ไปสู่ชมชุนและคนในชุมชนอีกด้วย

ถ้าหากเรายังไม่สนใจที่จะช่วยกันดูแลรักษาโลกของเรา ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็จะยิ่งเลวร้ายลง การใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไม่ควรเฉพาะเจาะจงแค่พฤติกรรมการท่องเที่ยว แต่การใช้ชีวิตประจำวันเองก็ต้องคำนึงถึงปัญหาเหล่านั้นด้วยเช่นกัน

ที่มา : Booking
เขียนและเรียบเรียง : สีน้ำ แผ่วฉิมพลี
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #การเดินทาง #ท่องเที่ยว #การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน #สิ่งแวดล้อม