เปิด 10 เทรนด์อาหารปี 2023 ที่ต้องมีในซูเปอร์มาร์เก็ต!!

ผู้ประกอบการค้าปลีก เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่จำเป็นต้องเกาะติดเทรนด์ และกระแสของการบริโภคอย่างสม่ำเสมอ เพราะต้องหาสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และเพิ่มยอดขายให้กับธุรกินของตัวเอง

โดยวันนี้ ‘Business+’ จะพาไปดูผลสำรวจจากห้างค้าปลีก Whole Foods ซูเปอร์มาร์เก็ตพรีเมียมที่จำหน่ายอาหารสุขภาพ สินค้าออร์แกนิค และมีสาขามากกว่า 500 สาขาในสหรัฐฯ และแคนาดา ที่ได้เปิดเผยผลสำรวจเทรนด์อาหารที่คาดว่าจะได้รับความนิยมปี 2566

ซึ่งเป็นการอ้างอิงข้อมูลจากฝ่ายจัดซื้อที่สรรหาสินค้าจากท้องถิ่นและต่างประเทศ ด้วยการใช้ทีมงานด้านอาหาร 50 ราย ทั้งนี้ผลสำรวจโดยรวมจะเห็นว่า ปี 2566 ผู้บริโภคจะได้เห็นความหลากหลายด้านนวัตกรรมสินค้าอาหารที่จะมาตอบโจทย์คนรักสุขภาพ รวมไปถึงการแสดงออกความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และการเอาใจใส่ต่อสัตว์เลี้ยงจากผู้ผลิตมากขึ้น

สำหรับเทรนด์อาหารและเครื่องดื่ม 10 รายการที่น่าสนใจ มีดังนี้

1. Yaupon หรือ ต้นยอปอนฮอลลี่ เป็นพืชจำพวกตระกูลผลเบอร์รี่ที่เต็มไปด้วยสารต่อต้านอนุมูลอิสระ และเป็นแหล่งที่มาสารคาเฟอีนตามธรรมชาติซึ่งต้นยอปอนฮอลลี่จะพบได้มากในแถบทางตอนใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งห้าง Whole Foods กล่าวว่าผู้ผลิตได้มีการนำ Yaupon ใช้ในส่วนผสมของเครื่องดื่มที่นำมาจำหน่ายภายในห้างฯ อย่างมาก

2. Upcycled pulp จากความนิยมการบริโภคเครื่องดื่มทดแทนนมวัว อาทิ นมข้าวโอ๊ต นมอัลมอนด์ นมถั่วเหลือง ส่งผลให้ผู้ประกอบการ อาหารพยายามที่จะใช้นวัตกรรมและมองหาไอเดียในการนำวัตถุดิบเหลือทิ้งจากการผลิตเครื่องดื่ม มาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ๆ เช่น แป้งทำขนม วัตถุดิบสำหรับขนมอบ ขนมอบกรอบ ฯลฯ

3. Plant-based pasta เส้นพาสต้านับเป็นอาหารที่ไม่มีส่วนประกอบเนื้อสัตว์อยู่แล้ว แต่เพื่อเป็นการเอาใจผู้บริโภคสายสุขภาพมากขึ้นผู้ผลิตจึงได้มีการนำผัก ผลไม้หรือถั่วต่างๆ เข้ามาใส่เป็นส่วนผสมเพื่อเพิ่มโปรตีน วิตามินและแร่ธาตุเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

4. Dates อินทผาลัม เป็นผลไม้ที่มีรสชาติหวานจัดและเป็นความหวานจากธรรมชาติ ผู้ผลิตจึงได้นำมาเป็นส่วนผสมในไซรัป เครื่องจิ้ม ซอสมะเขือเทศ และอื่นๆ อีกมากมาย จึงเหมาะกับกลุ่มคนรักสุขภาพ ผู้ที่ควบคุมน้ำหนักหรือผู้ป่วยโรคบางกรณี

5. Animal Welfare จากกระแสความต้องการบริโภคอาหารจากธรรมชาติขยายตัว เพราะเกิดจากความกังวลการตกค้างของสารเคมีในผลผลิต โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์เนื้อไก่และไข่ไก่ ส่งผลให้ผู้เลี้ยงไก่บางส่วนหันมาคำนึงหลักสวัสดิภาพของสัตว์ มีระบบการเลี้ยงไก่แบบปล่อย เพื่อแสดงออกถึงความใส่ใจต่อมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ที่ดีและเหมาะสมก่อนส่งจำหน่ายให้กับผู้บริโภค

6. Kelp สาหร่ายเคลป์ นับเป็นแหล่งสารอาหารและแร่ธาตุมากมาย แถมยังมีข้อดีที่สาหร่ายเป็นพืชน้ำสามารถเติบโตได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลง มีคาร์บอนฟุตพริ้นต์ต่ำ จึงกลายมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารที่นิยมในปี 2566

7. Climate consciousness นอกเหนือจากรสชาติและคุณภาพอาหารที่ผู้ผลิตต้องคำนึงถึงแล้วนั้น มิติด้านสิ่งแวดล้อมยังเป็นแนวคิดสำคัญที่สอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการสินค้าอาหารในปัจจุบัน โดยผู้ผลิตอาหารต้องสร้างการรับรู้ผ่านทางฉลากอาหารและบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทได้

8. Retro treats จากข้อมูลบริษัทด้านการตลาด Mintel พบว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันร้อยละ 73 หันมาชื่นชอบอาหาร เครื่องดื่มและขนมที่เคยฮิตจากช่วงวันวานอีกครั้ง ในการนี้ ผู้ผลิตอาหารจึงได้มีการนำผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมาสร้างสรรค์สวมลงบนเทรนด์อาหารสุขภาพ เพื่อให้มีประโชยน์ต่อสุขภาพควบคู่ไปกับความประทับใจที่ดี

9. Pet wellness เมื่อปริมาณสัตว์เลี้ยงในแคนาดามีมากขึ้น เป็นผลมาจากรูปแบบครอบครัวของสังคมยุคใหม่มีขนาดเล็กลง เป็นโสดมากขึ้น หรือบางครอบครัวเลือกที่จะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงแทนลูก โดยเฉพาะในช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คนใช้เวลาอยู่กับบ้านมาก การรับสัตว์เลี้ยงจึงกลายเป็นตัวเลือกยอดนิยม ซึ่งเจ้าของสัตว์เลี้ยงจะเลือกผลิตภัณฑ์อาหารแก่สัตว์เลี้ยง โดยคำนึงถึงความสำคัญด้านคุณภาพ รสชาติ และความแปลกใหม่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการพยายามเดินหน้าพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์คนรักสัตว์เลี้ยงที่มีมากขึ้น

10. Avocado oil น้ำมันอะโวคาโดได้ยกให้เป็นซูเปอร์ฟู้ดในปี 2566 แทนที่น้ำมันคาโนลาหรือน้ำมันดอกคำฝอย เนื่องจากประโยชน์และสรรพคุณที่ดีต่อร่างกาย และเป็นแหล่งของกรดไขมันชนิดดีผู้ผลิตจึงนำมาเป็นส่วนประกอบในการผลิตอาหารประเภทต่างๆ เช่น ซอส มายองเนส อาหารพร้อมรับประทาน และอีกมากมาย

ทั้งนี้ในมุมมองของ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา มองว่า การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพยังคงเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมในปี 2566 โดยแนวโน้มของผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพที่ผู้บริโภคต้องการในอนาคต จะต้องมาจากวัตถุดิบธรรมชาติที่ผ่านการปรุงแต่งน้อย แต่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

รวมไปถึงการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตหลักสวัสดิภาพของ สัตว์ส่งผลให้ผู้ผลิตอาหารต้องปรับตัวให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภคและมาตรฐานการผลิตที่ปลอดภัย ดังนั้นผู้ประกอบการไทยที่สนใจผลิตอาหารแห่งอนาคต อาจมองหาช่องทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการติดตามสถานการณ์ ศึกษาข้อมูลแนวโน้มสินค้าและตลาดต่อเนื่อง และมีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่จะนำเสนอสินค้าใหม่ๆ ที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลกได้

ที่มา : canadiangrocer ,สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา

เรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ค้าปลีก