Spread

5 แบรนด์สเปรดทาขนมปัง ชิงมาร์เก็ตแชร์ไทย 3 พันล้าน ‘เบสท์ฟู้ดส์’ ครองส่วนแบ่งสูงถึง 45%

วิถีชีวิตคนในปัจจุบันมักอยู่บนความเร่งรีบ จึงนำไปสู่พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เน้นความสะดวกและรวดเร็ว อย่างการเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการน้อย มีแคลอรี่สูง โดยมักประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต ไขมัน หรือโซเดียมในปริมาณมาก (Junk Food) เพื่อให้อิ่มเร็ว และอิ่มนาน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือกที่เพิ่มมากขึ้น ปกติอาหารที่มักถูกเลือกเป็นอันดับหนึ่งที่ให้ทั้งความอิ่มและพลังงาน ก็คือ ‘ขนมปัง’ จึงทำให้ตลาดขนมอบมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ ‘มูลค่าตลาด ‘ขนมอบ’ ปีนี้ 4.4 หมื่นลบ. ‘ฟาร์มเฮาส์’ 1 ใน 4 แบรนด์ดัง ครองส่วนแบ่งสูงถึง 20.5%’

ทั้งนี้เมื่อตลาดขนมอบมีการเติบโต ผลิตภัณฑ์อาหารที่มักถูกเลือกเป็นเครื่องเคียงของขนมปังก็คือ แยม (Jam), สเปรด (Spread) ก็เติบโตควบคู่ไปด้วย ซึ่งผู้เล่นหลักสเปรดทาขนมปังในไทยมีเพียงไม่กี่เจ้าเท่านั้น แต่เดิมผู้เล่นเหล่านี้ไม่ได้เริ่มต้นมาจากการผลิตสเปรดทาขนมปังโดยตรง แต่เป็นการพัฒนาแตกไลน์มาจากธุรกิจเดิมที่ดำเนินการอยู่ จากผลสำรวจพบว่า แบรนด์สเปรดทาขนมปังที่ทุกคนคุ้นเคย และสามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านค้าชั้นนำ ก็คือ เบสท์ฟู้ดส์ (Best Foods), Smucker’s, Nutella, Skippy และ Imperial โดยในปี 2565 มูลค่าตลาดสเปรดทาขนมปังในไทย อยู่ที่ 2,882 ล้านบาท เติบโต 6.6%

ซึ่งในไทยผู้เล่นที่ครองส่วนแบ่งการตลาดสเปรดทาขนมปังมากที่สุด คือ เบสท์ฟู้ดส์ ที่สัดส่วน 45.1% อยู่ภายใต้การบริหารงานของ Unilever บริษัทที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2472 ซึ่งการที่ดำเนินธุรกิจมาอย่างเนิ่นนานก็ถือเป็นจุดที่ได้เปรียบของการเริ่มเกมการตลาดก่อน อีกทั้งการมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย มีคุณภาพ ราคาจับต้องได้ รวมถึงรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ดึงดูดใจผู้บริโภค เหตุผลเหล่านี้เองอาจเป็นส่วนที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของเบสท์ฟู้ดส์มักถูกเลือกเป็นอันดับแรก ๆ

ขณะที่ Smucker’s ครองตลาดอันดับ 2 ที่สัดส่วน 6.9% อยู่ภายใต้การบริหารงานของ JM Smucker บริษัทสัญชาติอเมริกัน ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2401 โดยแบรนด์ Smucker’s มีจุดเด่นที่กลิ่นหอมหวาน สีสด อีกทั้งยังมีเนื้อสัมผัสค่อนข้างอยู่ตัว และมีเนื้อผลไม้ให้อย่างไม่กั๊ก ซึ่งโดยปกติของผู้บริโภคนั้นมักชอบความคุ้มค่าที่ต้องมาคู่กับความอร่อย นี่จึงทำให้แบรนด์ Smucker’s สามารถครองใจผู้บริโภคชาวไทยได้

ส่วน Skippy ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 3 ที่สัดส่วน 6.4% อยู่ภายใต้การบริหารงานของ Hormel Foods ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2434 โดยดั้งเดิม Hormel Foods ดำเนินธุรกิจบรรจุและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แฮมสแปมไส้กรอกและเนื้อหมูไก่เนื้อวัวและเนื้อแกะอื่น ๆ ให้กับผู้บริโภค ก่อนจะมาซื้อ Skippy แบรนด์เนยถั่วที่ขายดีที่สุดในประเทศจีนและเป็นแบรนด์ที่ขายดีมากจาก Unilever ซึ่งจุดแข็งของ Skippy ก็คือ เป็นเนยถั่วเพื่อสุขภาพ เหมาะกับคนลดน้ำหนัก และคนรักสุขภาพ สามารถทดแทนเป็นอาหารว่างได้

ขณะเดียวกันสเปรดถั่วเฮเซลนัทอีกเจ้าที่มาแรงก็คือ Nutella ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 4 ที่สัดส่วน 3.4% อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท Ferrero ก่อตั้งเมื่อปี 2489 โดย Nutella ถือเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมากในไทย ด้วยความผสมผสานที่ลงตัวของช็อกโกแลตและเฮเซลนัททำให้รสชาติมีความหวานมันและเข้มข้น สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายแถมยังช่วยชูรสชาติของอาหารให้อร่อยมากยิ่งขึ้นจึงทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ชื่นชอบ

สำหรับ Imperial ถือเป็นแบรนด์ที่อยู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน อยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KCG ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 5 ที่สัดส่วน 2.6% ซึ่งแบรนด์ Imperial นั้นมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และผลิตภัณฑ์ที่เราคุ้นตากันดีก็คือ คุกกี้, เนย แต่สเปรดทาขนมปังก็มีชื่อเสียงไม่แพ้กัน โดย Imperial ไม่ได้มีเพียงแค่สเปรดที่มาจากผลไม้เท่านั้น แต่มีสเปรดเจเพื่อสุขภาพด้วย ซึ่งนี่ก็ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคและทำให้แบรนด์มีแต้มต่อในการแข่งขันบนเวทีนี้

ขณะที่แบรนด์อื่น ๆ ครองส่วนแบ่งตลาดมากถึง 35.6% อาจตั้งสมมติฐานได้ว่า แบรนด์ดัง ๆ ยังมีโอกาสที่จะขยายขอบเขตการเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากการเข้าถึงที่ง่ายของแบรนด์ที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านค้า ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ รวมถึงแบรนด์มีเอกลักษณ์ที่เฉพาะตัวทำให้ยากจะลอกเลียนแบบนี่จะเป็นจุดที่ช่วยให้แบรนด์สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างแข็งแกร่ง

Spread

แนวโน้มมูลค่าตลาดสเปรดทาขนมปังในไทย

ปี 2566 คาดมูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 2,989 ล้านบาท

ปี 2567 คาดมูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 3,091 ล้านบาท

ปี 2568 คาดมูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 3,191 ล้านบาท

ปี 2569 คาดมูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 3,288 ล้านบาท

ปี 2570 คาดมูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 3,384 ล้านบาท

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการเติบโตของตลาดสเปรดทาขนมปังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากคิดค่าเฉลี่ยการเติบโต (CAGR) ช่วงระหว่างปี 2566-2570 จะอยู่ที่ราว 3% เรียกได้ว่าเป็นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการอาหารในวิถีชีวิตที่เร่งรีบไม่ได้มีเพียงแค่สเปรด แต่มีทั้งแยม เนย นม อื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งการแข่งขันทุกเวทีก็ไม่ได้โรยไปด้วยกลับกุหลาบ จึงต้องมีการงัดกลยุทธ์ มีแผนที่รัดกุม เพื่อจะได้ไม่ตกชั้นและเสียแต้มต่อให้กับผู้เล่นรายอื่นเข้ามาแทนที่

สุดท้ายนี้ ‘Business+’ ยังได้มีการไปสำรวจมูลค่าตลาดสเปรดทาขนมปังทั่วโลกนอกจากไทยแล้ว พบรายงานของ Futuremarketinsights (FMI) มีการคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดสเปรดทั่วโลกจะอยู่ที่ 29.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2566 และจะเติบโตสูงถึง 53.2 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2576 นับเป็นการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ที่ 5.9% โดยการเติบโตนี้เป็นผลมาจากความต้องการของผู้บริโภคที่อยากบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และมีวัตถุดิบจากธรรมชาติเป็นส่วนผสมหลักมากขึ้น ซึ่งนี่จะเป็น Key Drive ที่ทำให้มูลค่าตลาดสเปรดทาขนมปังมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

.

ที่มา : FIC, เว็บไซต์บริษัท, FMI

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #มูลค่าตลาดสเปรด #ตลาดสเปรด #สเปรด #สเปรดทาขนมปัง #สเปรดทาขนมปังในไทย