bakery

มูลค่าตลาด ‘ขนมอบ’ ปีนี้ 4.4 หมื่นลบ. ‘ฟาร์มเฮาส์’ 1 ใน 4 แบรนด์ดัง ครองส่วนแบ่งสูงถึง 20.5%

ทุกวันนี้คนไทยหันมาบริโภคขนมเบเกอรี่ หรือเรียกอีกอย่างว่า ‘ขนมอบ’ กันมากขึ้น ซึ่งขนมอบเริ่มมีบทบาทในไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้พบหลักฐานในปี พ.ศ. 2230 จากจดหมายเหตุของนักบวชชาวฝรั่งเศส ต่อมาขนมอบก็มีวัฒนาการเปลี่ยนรูปแบบมากขึ้น สำหรับขนมชนิดแรกที่แพร่หลายและได้รับความนิยมจากผู้บริโภค คือ ‘ขนมปัง’ และได้ชื่อว่าเป็นผลิตผลเพื่อยังชีพ

ปัจจุบันขนมอบหมวดของหวานที่คนไทยชื่นชอบเป็นอันดับต้น ๆ คือ ขนมเค้ก ซึ่งสมัยก่อนเค้กอาจจะใช้เป็นส่วนหนึ่งของงานมงคล แต่เมื่อเปลี่ยนผ่านยุคสมัยเราสามารถบริโภคได้ตลอดเวลา โดยร้านเบเกอรี่ส่วนใหญ่ รวมทั้งคาเฟ่ ก็มักจะใช้เค้กเป็นเมนูแนะนำของร้าน

ขณะที่ขนมอบหมวดของคาวที่ได้รับความนิยมในบ้านเราก็คือ ขนมปัง และ เพสทรี เนื่องจากทั้งสองอย่างนี้สามารถทานแทนอาหารมื้อหลักได้ และสะดวกในเวลาเร่งรีบ

ทั้งนี้หากพูดถึงส่วนแบ่งการตลาดของผลิตภัณฑ์ขนมอบในประเทศนั้น แบรนด์ที่เรารู้จักใครถือครองส่วนแบ่งเท่าไหร่บ้าง ??

Farmhouse มีส่วนแบ่งทางการตลาด 20.5% ซึ่งเรารู้จักกันดีภายใต้สโลแกน “ฟาร์มเฮ้าส์ส่งต่อความสุขให้ทุกคน” ทั้งนี้ Farmhouse อยู่ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) ผู้นำตลาดเบเกอรี่รายใหญ่ในประเทศ โดยผลิตภัณฑ์ Farmhouse สามารถหาซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้า ร้านค้าชั้นนำ หรือร้านขายของชำ เป็นต้น เรียกได้ว่ามีการกระจายตลาดอย่างกว้างขวาง

Le Pan อ่านว่า เลอแปง มีส่วนแบ่งทางการตลาด 12.4% อยู่ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ซีพีแรม จำกัด (กิจการเบเกอรี่) ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2539 โดยมีจุดยืนของตราสินค้า คือ การยกระดับผลิตภัณฑ์เบเกอรี่อบสด สู่ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ของประเทศไทย

S&P มีส่วนแบ่งทางการตลาด 4.2% ซึ่ง S&P อยู่ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) มีจุดเริ่มต้นมาจากการก่อตั้งร้านไอศกรีมเล็ก ๆ ในซอยประสานมิตร จนขยายเติบโตกลายเป็นร้านอาหารและเบเกอรี่ ที่มีสาขาทั้งในและนอกประเทศกว่า 470 สาขา

CPRAM มีส่วนแบ่งทางการตลาด 2.5% โดย CPRAM เป็นบริษัทลูกของ CPALL ซึ่งถือหุ้นอยู่ 99.99% ซึ่ง CPRAM ไม่เพียงแค่ผลิตขนมอบเท่านั้น แต่ยังผลิตข้าววกล่อง อาหารแช่แข็ง-แช่เย็นด้วย ทั้งนี้หากสังเกต แบรนด์ Le Pan ก็เป็นส่วนหนึ่งของกิจการ CPRAM เช่นกัน

แบรนด์อื่น ๆ ครองส่วนแบ่งมากถึง 60.4% สำหรับส่วนแบ่งตลาดที่มากขนาดนี้อาจจะตั้งสมมติฐานได้ว่า แบรนด์ดัง ๆ ยังมีโอกาสที่จะขยายขอบเขตการเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากแบรนด์ก็เป็นที่รู้จักมาหลายยุค หลายสมัย และสามารถพบเห็นได้ตามร้านค้าชั้นนำทั่วไป

bakery

แนวโน้มมูลค่าตลาดของผลิตภัณฑ์ขนมอบในประเทศ

ปี 2566 คาดมูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 44,250 ล้านบาท

ปี 2567 คาดมูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 47,336 ล้านบาท

ปี 2568 คาดมูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 50,493 ล้านบาท

ปี 2569 คาดมูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 53,699 ล้านบาท

ปี 2570 คาดมูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 56,943 ล้านบาท

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า การเติบโตของของผลิตภัณฑ์ขนมอบมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับการดำรงชีวิตของคนในปัจจุบันที่เน้นความสะดวกสบาย รวดเร็ว และอิ่มท้อง แต่นอกเหนือจากความอิ่มท้องแล้วนั้น ปัจจุบันคนมักจะดูรูปร่างน่าตาของขนมเป็นองค์ประกอบ ซึ่งแบรนด์ที่เรานำมาประกอบข้อมูลนั้นไม่เพียงแค่คงคุณภาพในเรื่องของรสชาติ แต่หน้าตาก็อยู่ดึงดูดผู้บริโภคเช่นกัน

หากในพาร์ทการเติบโตของแบรนด์นั้น การทำตลาดให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคถือเป็นงานที่ไม่ยากและไม่ง่าย ถ้าแบรนด์มีชื่อเสียง และเจนสนามอยู่พอสมควร ซึ่งจุดที่จะทำให้แบรนด์เติบโตอย่างยั่งยืนคือการมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แม้จะมีคู่แข่งมากเพียงใด แต่ถ้ามีจุดขาย บวกกับการทำการตลาดที่มีการสำรวจความต้องการของผู้บริโภคในหลากหลายรูปแบบ ก็จะเป็นจุดแข็งของแบรนด์ที่ไม่สามารถมีใครลอกเลียนแบบ

.

ที่มา : fic, unileverfoodsolutions, เว็บไซต์บริษัท

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #ขนมอบ #ขนมปัง #ขนมเบเกอรี่ #ขนมฝรั่ง