Specialty Coffee โอกาสอันหอมหวานของอุตสาหกรรมกาแฟ

กาแฟ ถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของหลายประเทศ มีอัตราการเติบโตมากขึ้นทุกปี แถมยังมีคนที่เริ่มเอนจอยกับกาแฟมากขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้จากบรรยากาศของการจิบกาแฟในบ้านเราที่คึกคักขึ้นไม่ใช่น้อย คาเฟ่ต่าง ๆ ผุดขึ้นมากมายสวนทางกับสถานการณ์ COVID-19 ที่ร้านรวงต่าง ๆ ต้องปิดตัวลง
.
น่าสนใจกว่านั้น เราได้เห็นรูปแบบการทำธุรกิจร้านกาแฟแบบพิเศษ หรือที่เรียกว่า Specialty Coffee มากขึ้น
.
Specialty Coffee คืออะไร ทำไมต้องแพง ต่างกับกาแฟทั่วไปที่เรากินตรงไหน กาแฟสดว่าเยี่ยมแล้ว แต่ Specialty Coffee เยี่ยมกว่า ลองตามเราไปดูเส้นทางการเติบโตของกาแฟ Specialty Coffee ที่กำลังฮิตอยู่ในตอนนี้
.
ว่ากันด้วยเรื่องข้อมูลเพื่อปูความเข้าใจก่อนว่า อัตราการบริโภคกาแฟของคนไทยอยู่ในลำดับ 7 ของเอเชีย ปีที่แล้ว มูลค่าตลาดดกาแฟไทยเท่ากับ 42,537 ล้านบาท และแบ่งเป็นตลาดกาแฟสด 4,119 ล้านบาท ครองสัดส่วนร้อยละ 9.7 อัตราขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.8 / ปี ตลาดกาแฟสำเร็จรูป 38,418 ล้านบาท ครองสัดส่วนร้อยละ 90.3 อัตราขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.8 / ปี
.
ตัวเลขตรงนี้จะเห็นว่า สัดส่วนของตลาดกาแฟสดเริ่มเพิ่มขึ้น นั่นเพราะคนไทยคิดอะไรไม่ออกก็เปิดร้านกาแฟนั่นเอง
.
ขณะที่อีกด้านหนึ่งของตลาดกาแฟไทยจะพบว่า เราส่งออกเมล็ดกาแฟ เพิ่มเป็น 81,1000 ตัน ขึ้น อยู่ในลำดับ 10 ของโลก โดยตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นการเพิ่มขึ้นจากปี 2016 – 2017 ถึง 4% และมียอดส่งออกกาแฟสำเร็จรูปในไตรมาสแรกสูงถึง 6,000 ตัน เพิ่มขึ้น 14.69%
.
ตัวเลขเหล่านี้ถือว่าน่าสนใจสำหรับประเทศที่ไม่ได้อินกาแฟเท่ากับประเทศอื่น เพราะที่จริงแล้วคนไทยดื่มกาแฟแค่ปีละ 300 แก้วต่อคน ถือว่าน้อยนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น คนยุโรปที่ปีนึงดื่มกาแฟคนละ 600 แก้ว หรือชาวอเมริกันที่ทั้งประเทศแทบดื่มแทนน้ำไปเลยที่ 146,000 ล้านแก้วต่อปี
.
แต่แม้จะเพิ่งมาอินกาแฟ แต่บรรยายกาศร่ำกาแฟบ้านเราก็ยิ่งคึกคักขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเพราะว่าประเทศไทยมีกาแฟที่สามารถนำมาเชิดชูและทำเป็น Specialty Coffee หรือก็คือกาแฟคุณภาพพรีเมียมได้นั่นเอง

แนวใหม่ของกาแฟไทยที่เพิ่มมูลค่าได้

ก่อนนี้การดื่มกาแฟแบรนด์ดังสีเขียวเข้ามาสร้างสีสันและให้กำเนิดค่านิยมการดื่มกาแฟภายในร้านแบบโมเดิร์น และนั่นทำให้เกิดการตามรอยของร้านกาแฟแบบ Specialty Coffee ที่จะรวมทั้งหมดของกระบวนการตั้งแต่คั่ว บด ชงกาแฟ จนคนรุ่นใหม่เริ่มตามหาว่าร้านไหนที่เสิร์ฟ Specialty Coffee ผู้คนก็จะยิ่งให้ความสนใจมาก
.
บวกบรรยากาศผ่อนคลาย สวยงาม ถ่ายรูปดี เช็คอินเก๋ ในยุคที่โซเชียลมาแรงแบบนี้ ใครเล่าจะไม่ยอมสวมหน้ากากอนามัยแล้วออกไปจิบกาแฟที่ร้านเพิ่มความชิคให้กับตัวเองซักอาทิตย์ละครั้ง
.
เหมือนกับที่ Nana Coffee Roasters Ari สาขาใหม่ของร้านกาแฟชื่อดังกำลังเป็นที่กล่าวถึง นอกจากบรรยากาศสวยงามน่านั่งที่ลูกค้าสามารถกาง Notebook ทำงานได้ยาว ๆ พร้อมจิบกาแฟได้ ก็หยิบเอากาแฟไทย Moonstone จากไร่ออร์แกนิค The First Valley จ.เชียงใหม่
และกาแฟเกอิชา ตัวเด่นของไร่หมู่บ้านมณีพฤกษ์ จ.น่าน ที่มีต้นกำเนิดมาจากกาแฟพื้นเมืองของเอธิโอเปียมาเสิร์ฟตามฤดูกาล โดย Nana Coffee เชียร์อัปว่ากาแฟไทยรสชาติดีไม่แพ้กาแฟนอก และยอดเสิร์ฟกาแฟไทยจึงไม่หนีไปจากกาแฟนอกที่รับเข้ามา
.
หรืออีกร้านกาแฟไทยโดยคนไทยที่ขยายมากกว่า 3,168 สาขา และตั้งเป้าเพิ่มอีก 1,200 สาขาในปีนี้ อย่าง Café Amazon ก็ใช้กาแฟอาราบิกาและโรบัสตาจากหลายแหล่งเพาะปลูกในประเทศ ทั้งจากโครงการหลวงวิสาหกิจและสหกรณ์การเกษตร ดูจากจำนวนสาขาที่ตั้งธงไว้ว่าจะขยายเพิ่ม น่าจะบอกได้ว่าคนไทยนิยมกาแฟเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน
.
หรือกาแฟที่ได้รับการลงทุนในรูปแบบอุตสาหกรรมอย่าง กาแฟดอยช้าง จ.เชียงราย ที่ได้รับการพัฒนาทั้งชุมชนและการเพาะปลูก จนไปเติบโตและมีชื่อในต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน จีน เกาหลีใต้ และสามารถสร้างแบรนด์ขายแฟรนไชส์เพื่อเสิร์ฟเป็น Daily Coffee
.
ชื่อเสียงในต่างประเทศของกาแฟดอยช้าง หรือจำนวนสาขาของ Café Amazon ทำให้เราเห็นแล้วใช่ไหว่ากาแฟไทยมีดีไม่แพ้กาแฟประเทศอื่น เพราะฉะนั้น หากต้องการดันให้กาแฟไทยเติบโตตามรอยกาแฟเหล่านี้ สร้างชื่อให้ประเทศไทยได้อีกสักสามสี่ดอย ความรู้และเงินทุนต้องขึ้นไปให้ถึงดอยเหล่านั้นเช่นกัน

กาแฟไทยคุณภาพสูงขึ้นทุกปี

“กาแฟไทยมีคุณภาพที่สูงขึ้นทุกปี คุณคิดดูว่า กาแฟที่ชนะเลิศในรายการประกวด Thailand Coffee Fest มีคนประมูลไปด้วยราคากว่า 27,000 บาทต่อกิโลกรัม”คำกล่าวของคุณบริรักษ์ อภิขันติกุล หรือคุณบิ๊ก เจ้าของร้าน School Coffee วิศวกรหนุ่มผู้หลงรักศาสตร์แห่งกาแฟ จนผันตัวเข้าสู่วงการกาแฟ บอกกับเรา
คุณบริรักษ์ ร่ำเรียนศาสตร์แห่งกาแฟ จนกลายเป็นบาริสต้าและโรสเตอร์ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ทั้งยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการผู้ตัดสินการประกวดกาแฟ Thailand Coffee Fest ซึ่งเขาการันตีว่า เกษตรกรไทยสามารถมอบเมล็ดกาแฟคุณภาพที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นกาแฟแก้วระดับพรีเมี่ยมได้
.
เส้นทางของคุณบริรักษ์ ซึ่งนำเสนอการบริการเสิร์ฟกาแฟแบบ Slow Bar (การเสิร์ฟกาแฟที่บาริสต้ามีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับลูกค้าในเรื่องกาแฟ สอบถามความชอบในการจิบกาแฟเพื่อเสิร์ฟกาแฟที่ตรงใจลูกค้ามากที่สุด โดยใช้อุปกรณ์ในการชงกาแฟที่อาศัยแรงคนเป็นหลัก เช่น กาแฟดริป หรือการกดกาแฟด้วยเครื่อง Syphon ซึ่งถือเป็นการเสิร์ฟกาแฟด้วยความพิถีพิถันกว่าปกติ) ภายในร้าน School Coffee ทำให้เราสามารถสัมผัสถึงรสชาติที่เข้มข้น ทั้งรูป รส กลิ่น อันเป็นเอกลักษณ์ของเมล็ดกาแฟนั้น ๆ
.
เมื่อเราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับโอกาสของการทำตลาดกาแฟของไทยกับคุณบริรักษ์ ก็ทำให้เราเข้าใจว่าทำไมคนไทยหันมาเปิดร้านมากขึ้น
“ผมเชื่อมั่นในศักยภาพของกาแฟไทย จากการวิจัยกรรมวิธีในการปลูกกาแฟรูปแบบต่าง ๆ หลายปี โดยความรู้ที่ผมและทีมมอบให้กับเกษตรกรเจ้าของไร่กาแฟ เพิ่มคุณค่าจากกาแฟปกติให้เป็นกาแฟพรีเมียมของแต่ละไร่ และต่อยอดเป็น Specialty Coffee หรือกาแฟคุณภาพดีเยี่ยมที่ขายกันในคาเฟ่ดัง ๆ แก้วละหลายร้อยบาท
.
คณะกรรมการของ Thailand Coffee Fest หวังจะมุ่งเห็นการยกระดับคุณภาพเมล็ดกาแฟขึ้นทุกปี และที่ผ่านมา เราเจอเมล็ดกาแฟคุณภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ เท่ากับประกาศว่าเกษตรกรไทยผู้ปลูกกาแฟมีความรู้มากขึ้นเรื่อย ๆ และให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลผลิตมากขึ้น
.
ดังจะเห็นว่า ราคาประมูลกาแฟที่ชนะการประกวดก็ชี้ให้เห็นว่า มีผู้บริโภคและร้านกาแฟให้ความสำคัญกับกาแฟเกรดพรีเมียม ถือเป็นสัญญาณที่ดีของกาแฟไทย เมื่อเกษตรกรเองได้ความรู้เพิ่มขึ้นก็นำไปพัฒนาต่อยอด ในงานประกวดมีหน้าใหม่เข้ามาทุกปี และเราจะเห็นเกษตรกรส่งขายเมล็ดกาแฟเองโดยตรงผ่านโซเชียลมีเดีย การได้พูดคุยกับผู้บริโภคโดยตรงทำให้เกษตรกรได้รับฟีดแบคกลับมาพัฒนาผลผลิตของตัวเองต่อ”

เสียงจากคนปลูกกาแฟ

“เกษตรกรกาแฟไทยส่วนมากยังติดปัญหาเรื่องเงินทุนและ Know How” คำกล่าวของคุณอุเทน สมบูรณ์ค้ำชู เจ้าของ Lica Coffee Estate เกษตรกรรุ่นใหม่ที่เรียนรู้เส้นทางกาแฟ เพื่อนำมาปรับปรุงผลผลิตของที่บ้าน จนสามารถเติบโตร้านหน้าร้าน และส่งกาแฟจำหน่าย Roots ร้านกาแฟชื่อดังย่านสาทร ที่เน้นเสิร์ฟกาแฟไทย รวมถึงร้านอื่น ๆ ซึ่งเปิดโอกาสเล่าให้เราฟัง
คุณอุเทน บอกว่าเกษตรกรกาแฟไทยส่วนมากยังต้องการความช่วยเหลือในเรื่องของเงินทุน และ Know How เพื่อสร้างผลผลิตและคุณภาพของเมล็ดกาแฟให้คงที่ และมีปริมาณมากพอที่จะจำหน่ายในแง่อุตสาหกรรม
.
โดยหากต้องการให้กาแฟเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญ ต้องมีหน่วยงานช่วยเหลือที่ครอบคลุมและลงลึกกว่าทุกวันนี้ เพื่อให้ผลผลิตไทยก้าวออกจากการบริโภคแบบ Home User ไปยังอุตสากหรรม แล้วจึงต่อยอดสู่การส่งออกไปยังตลาดโลก
.
โดยคุณอุเทน เล่าถึงยอดขาย Specialty Coffee จากผลผลิตเมล็ดกาแฟของครอบครัวที่ไร่บ้านแม่แดดน้อย จ.เชียงใหม่ ในชื่อแบรนด์ Lica Coffee Estate สามารถมัดใจลูกค้าที่ร้าน Anna Coffee Micro Roasters จ.อุบลราชธานี หน้าร้านของ Lica Coffee จนยอดขายไม่มีตกแม้ช่วง COVID-19 ระบาด เป็นการยืนยันว่ากาแฟแบบพิเศษนั้นเริ่มมาแรงในประเทศไทยจริง ๆ
.
แน่นอนว่า อุตสาหกรรมกาแฟไทยนั้นมีแนวโน้มเติบโตแบบบวก ๆ แต่การเสริมเพิ่มและพัฒนาในหลายมิติ เพื่อให้กาแฟไทยสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิก็ต้องใส่เข้าไปอีกมาก
.
ซึ่งหากมีผู้ลงทุนและภาครัฐยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มประสิทธิภาพและครอบคลุมกว่านี้ สถานการณ์ของเกษตรกรไทยที่เพาะปลูกกาแฟน่าจะเพิ่มผลผลิตที่ทำให้เรียกเม็ดเงินให้ประเทศได้เพิ่มมากขึ้น นับเป็นการผลักดันพืชเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรไทยได้อย่างภาคภูมิใจ
.
เขียน : สุกัญญา ต๊ะพันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com