หากพูดถึงชาติที่ผลิตบุคลากรด้านเทคโนโลยี วิศวกรรม และซอฟต์แวร์ มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก คงหนีไม่พ้น ‘ประเทศอินเดีย’ ซึ่งเป็นแหล่งที่เต็มไปด้วยทรัพยากรที่เหมาะแก่การเรียนรู้ และภาครัฐก็ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี โดยจะเป็นการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการวิจัยและการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง ซึ่งกว่าที่อินเดียจะมาถึงจุดที่ผู้คนทั่วทั้งโลกต่างต้องการมาเก็บเกี่ยวความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีนั้น อินเดียได้นำองค์ความรู้ต่าง ๆ จากการร่วมทุนกับต่างชาติในอดีตมาต่อยอดและพัฒนาอยู่เสมอจึงส่งผลให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีและไอทีของอินเดียเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีผ่านมา ปัจจุบันอินเดียจึงอยู่ระดับแถวหน้าของวงการอุตสาหกรรมนี้
ล่าสุดอินเดียได้กลายเป็นประเทศที่ 4 ที่ส่งยานอวกาศ ‘Chandrayaan-3’ ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ โดยเป็นยานสำรวจลำแรกของโลกที่ลงจอดใกล้กับบริเวณขั้วใต้ (South pole) และเป็นประเทศที่ 4 ของโลก ที่ส่งยานอวกาศไปลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ ถัดจาก รัสเซีย (ในตอนนั้นคือสหภาพโซเวียต), สหรัฐอเมริกา และจีน ที่ลงจอดใกล้เส้นศูนย์สูตรของดวงจันทร์ จึงทำให้อินเดียถูกมองว่าเป็นผู้เล่นอันดับต้น ๆ ในอวกาศในเชิงภูมิศาสตร์มากขึ้น
ซึ่งนี่ถือเป็นความพยายามครั้งที่ 2 เพราะในปี 2562 อินเดียได้พยายามลงจอดที่บริเวณขั้วโลกใต้เช่นกัน แต่ปัญหาในด้านซอฟต์แวร์ทำให้ภารกิจ Chandrayaan-2 ล้มเหลว ถือได้ว่าอินเดียได้นำเอาความผิดพลาดมาเรียนรู้ และพัฒนาจนทำให้เกิดประสบผลสำเร็จ
ขณะเดียวกันในเรื่องของงบประมาณที่ส่งยานอวกาศขึ้นไปนั้นก็เป็นกระแสอย่างมาก จากรายงานโครงการสำรวจดวงจันทร์ของอินเดียใช้งบน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ สำหรับงบประมาณครั้งนี้ที่ส่งยานอวกาศ Chandrayaan-3 ไปบนดวงจันทร์ อยู่ที่ 74.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,600 ล้านบาท ขณะที่โครงการ ‘Apollo’ ของสหรัฐอเมริกาใช้งบประมาณ 830,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ถือได้ว่าอินเดียไม่เพียงแค่เป็นประเทศที่ผลิตบุคลากรเท่านั้น แต่การควบคุมทุกอย่างเป็นไปอย่างมีประสิทธภาพ อย่างในเรื่องการคำนวณค่าใช้จ่ายต่อการส่งยานอวกาศออกไป ซึ่งการส่งออกยานอวกาศขึ้นไปสำรวจบนดวงจันทร์ได้สำเร็จจะยิ่งทำให้อินเดียถือเป็นขุมทรัพย์ทางเทคโนโลยีที่นักลงทุนอยากเข้าไปเก็บเกี่ยว และร่วมลงทุนในอีกหลาย ๆ ด้าน ที่เกี่ยวเนื่องกัน
โดยหากย้อนมองอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในประเทศไทย เรียกได้ว่าอาจยังยึดติดกับระบบที่ล้าสมัย ถึงแม้จะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในเรื่องต่าง ๆ อย่างการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยในอุตสาหกรรมก็ตาม เห็นได้จากหน่วยงานภาครัฐแทนที่จะเป็นแกนหลักในการส่งเสริมพัฒนา และสนับสนุนเทคโนโลยียังยึดติดกับระบบดั้งเดิมอย่างเรื่องการจัดการระบบต่าง ๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามถึงแม้ไทยยังไม่ได้สนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมากเท่าประเทศอื่น ๆ ที่ส่งเสริมอย่างจริงจัง แต่ก็มีแผนที่จะส่งยานอวกาศขึ้นไปสำรวจบนอวกาศเช่นกัน โดยในอีก 6 ปีข้างหน้าไทยตั้งเป้าหมายจะเป็นชาติที่ 5 ของเอเชีย ที่สามารถผลิตยานอวกาศ และส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้ ถัดจากจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ สำหรับในทางปฏิบัติอาจมีการใช้วัสดุจากต่างประเทศ แต่ในเชิงปฏิบัติคนไทยออกแบบ และสร้างเอง
ขณะที่นัยแฝงของแผนส่งยานอวกาศขึ้นไปสำรวจดวงจันทร์ ก็คือ เพื่อให้ทุกคนหันมาสนใจในวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม เพราะมีอนาคต และสามารถเข้ามาช่วยเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศได้ไม่ให้น้อยหน้าชนชาติอื่น
สำหรับจากนี้จนถึงอนาคตในมุมมองของ ‘Business+’ การแข่งขันอุตสาหกรรมทางด้านอวกาศจะดุเดือดมากขึ้น ด้วยแต่ละประเทศก็ต้องการที่จะสร้างประวัติศาสตร์ และไม่เพียงแค่ประเทศแข่งขันกัน แต่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกันก็จะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น อย่าง อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการประกอบและผลิตเทคโนโลยี ทั้งนี้การที่ไทยมีแผนหรือเป้าหมายที่จะส่งยานอวกาศไปเยือนดวงจันทร์ก็ต้องเร่งเดินหน้าสนับสนุน และพัฒนาการวิจัยนวัตกรรมเทคโนโลยีให้มากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีพัฒนาอยู่ตลอดเวลา และไม่เคยหยุดนิ่ง ซึ่งเราก็ห้ามละทิ้งที่จะศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและเติบโตไปพร้อม ๆ กัน
.
ที่มา : CNBC, Blognone, Thaipbs, the101.world
.
เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ