Ecotourism

‘Ecotourism’ ธุรกิจ High Value
กับโอกาสเติบโตขั้นต่ำ 16% ต่อปี

ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก ด้วยตัวเลขรายได้ที่มากถึง 3.08 ล้านล้านบาท แต่เมื่อเผชิญกับปัญหา 2 ด้านหลัก ๆ คือ พฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไปหลังการระบาดครั้งใหญ่ รวมไปถึงปัญหาด้านเงินเฟ้อทำให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายเงินน้อยลง จึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของธุรกิจท่องเที่ยวที่จะต้องทำการตลาด และปรับรูปแบบด้วยการท่องเที่ยวแบบพิเศษมาดึงดูด หนึ่งในการท่องเที่ยวที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญคือ Ecotourism ที่จะเข้ามาเพิ่ม Value Added ให้กับธุรกิจท่องเที่ยวและช่วยพัฒนาทั้งในเชิงของเศรษฐกิจ และสังคม อีกทั้งยังเป็นเทรนด์ธุรกิจใหม่ที่มีโอกาสเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 16% ยาวไปถึงปี 2571

ถึงแม้ว่าตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมาสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการท่องเที่ยวของคนในประเทศ และการท่องเที่ยวจากต่างชาติ ทำให้หลายฝ่ายต่างคาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวไทยปี 2566 จะยังคงเติบโตได้ดี จากแผนที่รัฐบาลได้มีส่งเสริมการท่องเที่ยวและจัดกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น เราเที่ยวด้วยกัน หรือการดึง Soft Power เข้ามาช่วยกระตุ้น

แต่หากเจาะเข้าไปดูการเติบโตในเชิงคุณภาพ ‘Business+’ มองว่ายังไม่ใช่การเติบโตที่มีศักยภาพสูงมากนัก แตกต่างกับการเติบโตในช่วงก่อนเกิด COVID-19 ที่มีการเติบโตเชิงคุณภาพ โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ในขณะนั้นสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยว แต่การฟื้นตัวหลัง COVID-19 ยังอ่อนแอ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มหลักอย่างจีน ที่นับตั้งแต่การกลับมาเปิดเส้นทางการบินจนถึงปลายปี 2566 ถูกคาดการณ์ว่าอาจจะยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 93 เที่ยวบินต่อวันในช่วงก่อนการระบาดในปี 2562 เนื่องจากจำนวนชาวจีนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศยังมีจำกัด และการจัดการด้านทรัพยากรรองรับเช่น เครื่องบิน นักบิน พนักงานภาคพื้นยังมีจำกัด หลังหลายสายการบินต้องปิดเส้นทางปิดลงไป

โดย 5 อันดับประเทศที่เข้าไทยมากที่สุดในช่วงเดือน ม.ค.- พ.ค.66 ที่ผ่านมาจีนยังเข้าไทยเพียง 1,098,604 คน เมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่สูงถึง 1,606,373 คน ซึ่งนักท่องเที่ยวมาเลเซียเคยเป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 2 ที่เข้าประเทศไทย รองจากประเทศจีน แต่ปัจจุบันกลายเป็นนักท่องเที่ยวที่เข้าไทยมากที่สุด สาเหตุคือจีนยังไม่ได้ฟื้นตัวเต็มที่ สวนทางกับมาเลเซียที่ได้มีการเปิดด่านทางบก การเพิ่มความถี่เที่ยวบินของสายการบิน การเปิดเส้นทางบินใหม่ ๆ สม่ำเสมอ

นอกจากนี้ การใช้จ่ายต่อทริปในไทยของชาวจีนในปี 2566 ไม่ได้ปรับตัวขึ้นมากนักหากเทียบกับช่วงปี 2562 เนื่องจากชาวจีนที่เดินทางท่องเที่ยวต้องกันค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางสูงขึ้น (ค่าตั๋วเครื่องบินและค่าประกันสุขภาพ) จากสถานการณ์เศรษฐกิจและรายได้ที่ไม่ได้ดีขึ้น ถึงแม้ว่าราคาบัตรโดยสารเครื่องบินระหว่างไทย-จีนได้ปรับลดลงมาอย่างมากเมื่อเทียบกับในช่วงที่จีนยังปิดประเทศ แต่ราคาบัตรของเส้นทางบินตรงยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนการระบาดถึง 1.5 เท่า และสูงขึ้น 200% ในเมืองที่ยังไม่มีเส้นทางบินตรง

ดังนั้น เมื่อไม่สามารถพึ่งพาจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มเดิม และการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อทริปต่ำลง ทางผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจึงต้องมองหาเป้าหมายใหม่ที่มีศักยภาพสูง ไม่ว่าจะเป็นการหาตลาดใหม่ รวมไปถึงการปรับรูปแบบการท่องเที่ยวให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้นเพื่อเป็นการสร้างมูลค่าให้กับการท่องเที่ยว (Tourism value added) นอกจากนี้ยังพบว่านักท่องเที่ยวยุคหลัง COVID-19 มีแนวโน้มสนใจการท่องเที่ยวในความสนใจพิเศษ (Speciallnterest Tourism) มากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีรูปแบบใหม่ๆ อย่างเช่น

  • การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Tourism)
  • การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism)
  • การท่องเที่ยวเชิงผจญภัย (Adventure Tourism)
  • การท่องเที่ยวเชิงศาสนา (Spiritual Tourism)
  • การท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sport Tourism)
  • และอีกหนึ่งในรูปแบบที่มีมูลค่าสูงอย่างต่อเนื่องคือ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism)

เพิ่ม Value การท่องเที่ยวด้วย Ecotourism Value Chain

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) เป็นรูปแบบหนึ่งของการท่องเที่ยวในปัจจุบันที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เพื่อการมุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศและนานาชาติ ตามหลักสากลว่าด้วยการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Environmentally Sustainable Development) โดย Ecotourism จะต้องให้ความสำคัญแก่การให้การศึกษาหรือการเรียนรู้ หรือมุ่งเน้นให้เกิดการอนุรักษ์มากกว่าการทำให้นักท่องเที่ยวพึงพอใจมากที่สุดเหมือนการท่องเที่ยวทั่วไป ดังนั้น การ Ecotourism จะต้องเป็นการท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบในแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ มีการจัดการรักษาสิ่งแวดล้อม และให้การศึกษาแก่นักท่องเที่ยว

ซึ่ง IUCN (World Conservation Union) ให้นิยามว่า การท่องเที่ยวเชิงนิเวศจะต้องช่วยส่งเสริมให้เกิดสำนึกรับผิดชอบ ท่องเที่ยวอย่างระมัดระวัง เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมน้อยที่สุด รวมทั้งชื่นชมต่อวัฒนธรรมและความหลากหลายของพื้นถิ่น สนับสนุนภารกิจงานอนุรักษ์ของชาวบ้าน เพื่อประโยชน์ที่ยั่งยืนแก่คนในชุมชน โดยเปิดให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

ด้าน ‘การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย’ ก็ได้ให้นิยาม Ecotourism เอาไว้ใกล้เคียงกันว่า การท่องเที่ยวเชิงนิเวศเป็นการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวใดแห่งหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษา ชื่นชม ทัศนียภาพธรรมชาต สภาพสังคม วัฒนธรรม และชีวิตของคนในท้องถิ่น บนพื้นฐานความรู้ความรับผิดชอบต่อระบบนิเวศ ซึ่งความน่าสนใจของการท่องเที่ยวประเภทนี้คือ สามารถสร้างงาน และสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นได้จำนวนมาก

ซึ่ง Ecotourism ไม่ได้เป็นเพียงแค่เทรนด์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อปลูกจิตสำนึก และการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ขณะที่ในมุมของภาคธุรกิจสามารถที่จะเพิ่มรายได้จากการนำเสนอประสบการณ์ใหม่ๆ และเพิ่มมูลค่าให้กับแพคเกจได้

โดยเราพบข้อมูลว่า การเติบโตของมูลค่าตลาด Ecotourism ทั่วโลกเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง และยังถูกคาดการณ์ว่ามูลค่าการเติบโตเฉลี่ยจะอยู่ที่ราวๆ 16.13% ต่อปี (CAGR) ในช่วงปี 2566-2571 (ที่มา : marketdataforecast)

ทั้งนี้ปัจจุบันอเมริกาเหนือเป็นผู้นำตลาดด้าน Ecotourism และจะยังเห็นการเติบโตต่อเนื่องปีละ 8.9% ขณะที่เอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ก็เป็นอีกหนึ่งภูมิภาคที่มีจุดแข็งด้านทรัพยากร และวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ จึงทำให้ปัจจุบันมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของมูลค่าตลาด Ecotourism ทั่วโลก

ทั้งนี้เมื่อทำการสำรวจ เราพบว่า Market Key Players ใน Ecotourism ระดับโลกที่น่าสนใจมีดังนี้

  1. Intrepid Travel สัญชาติออสเตรเลีย รายได้ 478 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
  2. G.Adventure สัญชาติ แคนาดา รายได้ 92.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
  3. Adventure Alternative Ltd สัญชาติ อังกฤษ รายได้ 6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
  4. Arcari Travel สัญชาติเปรู รายได้ 4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ที่มา : marketdataforecast

โดยผู้เล่นรายแรกคือ Intrepid Travel จากออสเตรเลีย ซึ่งมีรายได้ถึง 478 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 15,774 ล้านบาท โดย Core Business จะเน้นรูปแบบการเดินทางที่พานักท่องเที่ยวไปสัมผัสกับชุมชน จุดแข็งของแบรนด์คือการสร้างเครือข่ายพันธมิตระดับชุมชนและพันธมิตรในท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประสบการณ์ใหม่ให้นักเดินทางได้เชื่อมต่อกับคนในท้องถิ่นและสร้างผลกระทบเชิงบวกในด้านเม็ดเงินหมุนเวียน นอกจากนี้ยังช่วยอนุรักษ์โลกสำหรับนักเดินทางรุ่นต่อไปที่จะเข้าไปเยือน มีตั้งแต่การปลูกป่าที่ขับเคลื่อนด้วยการเดินทางแห่งแรกในเคนยา ไปจนถึงการให้ทุนสนับสนุนโครงการฟื้นฟูสาหร่ายทะเล

ซึ่งบริษัทแห่งนี้มีกลุ่มลูกค้าเป็นระดับพรีเมียและมีแพคเกจท่องเที่ยวราคาสูง เช่น การทัวร์เคนยาและแอฟริกาตอนใต้แบบเจาะลึก ในระดับราคา 28,600 เหรียญสหรัฐฯ หรือราว 943,800 บาท ซึ่งจะพานักท่องเที่ยวไปสัมผัสแก่นสารของแอฟริกาตะวันออกในมาไซมารา ค้นหาสัตว์ป่าในภูมิภาคเกรทเทอร์ครูเกอร์ ตื่นตาตื่นใจกับน้ำตกวิกตอเรียที่โดดเด่น

อีกหนึ่งบริษัทที่เจาะตลาดระดับบนคือ G.Adventure บริษัทท่องเที่ยวสัญชาติแคนาดา ซึ่งทำรายได้สูงถึง 92.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 3,062.4 ล้านบาท เป็นบริษัทที่มีความโดดเด่นในแง่ของการท่องเที่ยวผจญภัยกลุ่มเล็กมานานกว่า 30 ปี ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาและเพิ่มรูปแบบทัวร์ที่หลากหลาย ทั้งการเดินป่า ล่องเรือ

ตัวอย่างของแพคเกจที่น่าสนใจคือ เดินป่าคิลิมันจาโร ถือเป็นทัวร์ที่จับกลุ่มลูกค้าระดับบน ด้วยราคาตั้งแต่ 2,212 ไปจนถึง 4,987 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคน หรือราว 72,996-164,571 บาท โดยจะเป็นทัวร์ที่พานักท่องเที่ยวเดินทางตามรอยเท้าของนักสำรวจและนักปีนเขาที่มีชื่อเสียงไปยังยอดเขาที่สูงที่สุดของแอฟริกา ซึ่งการเดินทางนี้จะพานักท่องที่ยวได้เดินป่าผ่านป่าฝนและทะเลทรายอัลไพน์ ข้ามธารน้ำแข็ง ซึ่งจะช่วยให้นักท่องเที่ยวได้เห็นถึงความสำคัญของธรรมชาติ และปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีจนเกิดเป็นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (Sustainable Tourism)

อีกหนึ่งบริษัทที่น่าสนใจคือ Adventure Alternative Ltd บริษัทท่องเที่ยวเชิงผจญภัยจากอังกฤษก่อตั้งในปี 2544 ที่เป็นแบรนด์ที่เน้นการเดินทางที่หลากหลายตั้งแต่การเดินทางบนภูเขาสูง การเดินป่ารอบโลก ซาฟารีในแอฟริกาตะวันออก การสำรวจโรงเรียน และปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารโดย Gavin Bate นักปีนเขาเอเวอเรสต์ โดยความโดดเด่นของ Adventure Alternative คือการเป็นบริษัทท่องเที่ยวที่ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ และยังลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาลในวิสาหกิจในท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลภาคพื้นดินและจัดหาอาชีพมากมายในประเทศกำลังพัฒนา ขณะที่ทำการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวด้วยการเปิด Blog ให้รีวิว พร้อมใช้ช่องทางสื่อสารทาง Social Media อย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างทัวร์ Ecotourism ที่น่าสนใจอย่างเช่น ทัวร์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมออกหากินเวลากลางคืนบนเกาะบอร์เนียว ทริป 15 วันในราคา 4,000 ปอนด์ หรือราว 177,099 บาท และถ้ำมูลูและสวนบาโก รัฐซาราวัก ซึ่งจะพานักท่องเที่ยวสำรวจไฮไลท์ของซาราวัก ตั้งแต่กูชิงเชิงวัฒนธรรมไปจนถึงอุทยานแห่งชาติบาโก และถ้ำมูลูที่มีชื่อเสียงระดับโลก พร้อมทริปเสริมเพื่อเยี่ยมชมชนเผ่าปีนัง หรือปีนภูเมามูลูทริป 1 วันในราคา 645 ปอนด์ หรือราว 28,557 บาท โดยรายได้ของ Adventure Alternative Ltd อยู่ที่ 5.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 185 ล้านบาท

อีกหนึ่งตัวอย่างบริษัทที่โดดเด่นในตลาดระดับโลก คือ Arcari Travel จากประเทศเปรู ซึ่งบริษัทแห่งนี้มีรายได้ราว 178 ล้านบาท ถือว่าเป็นผู้บุกเบิกการเดินทางส่วนตัว แบบหรูหราในอเมริกาใต้ ตั้งแต่ปี 2539 โดยมี Ecotourism ที่น่าสนใจอย่างเช่น การเดินทางส่วนตัว 2 สัปดาห์ในเปรู ที่สร้างประสบการณ์และแนะนำนักท่องเที่ยวให้รู้จักกับชุมชนแอนเดียนดั้งเดิม พร้อมทั้งสนับสนุนความคิดริเริ่มด้านการท่องเที่ยวที่ดำเนินการโดยท้องถิ่น ถือเป็นการกระตุ้นให้เกิดความใส่ใจเกี่ยวกับผลกระทบของการเดินทางที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่ไปสัมผัส ซึ่งราคาของแพคเกจ 14 วัน /13 คืน ในราคา 7,400 เหรียญสหรัฐฯ หรือราว 244,200 บาท

จะเห็นได้ว่าทัวร์แบบ Ecotourism นอกจากจะช่วยให้เกิดความยั่งยืน ส่งเสริมวัฒนธรรม และเพิ่มการจ้างงานให้กับท้องถิ่นได้อีกทั้งยังเพิ่มมูลค่าให้ตลาดท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามทัวร์เหล่านี้ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ และไกด์ท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายที่บริษัทนำเที่ยวต้องลงทุนเพิ่มจากการท่องเที่ยวแบบธรรมดา แต่หากเทียบกับรายได้จากแพคเกจทัวร์เหล่านี้ที่บวกเพิ่มเข้าไปแล้วก็ถือว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับทัวร์ได้เป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลดีต่อรายได้และกำไรของบริษัทในท้ายที่สุด

แต่ความยากของ Ecotourism คือต้องดึงดูดความน่าสนใจได้มากพอ จึงต้องสร้างความแปลกใหม่ หรือเน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยวมากกว่ารูปแบบอื่น ๆ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่ ค่านิยมทางสังคมที่โดดเด่น ขณะที่มีความพร้อมด้านทรัพยากรมาอย่างยาวนาน นั่นถือเป็นจุดแข็งที่จะทำให้สามารถเกิด Ecotourism ได้มากกว่าประเทศอื่นๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า Ecotourism อาจไม่ได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เท่าการท่องเที่ยวประเภทอื่นๆ ที่อาจมีความตื่นเต้น และเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ได้ง่ายกว่า ดังนั้น จึงต้องอาศัยการสื่อสาร สร้างการรับรู้ และอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวมากกว่าการท่องเที่ยวประเภทอื่น หนึ่งในนั้นคือการปั้นกระแสผ่าน Social Media และสร้าง Soft Power

หนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก คือ เกาหลีใต้ ซึ่งอาศัยจุดแข็งจาก Soft Power ที่มีจุดแข็งคือฐานผู้ติดตามจำนวนมาก มากระตุ้นให้เกิดเป็นกระแส ทั้งวงการอาหารเกาหลีดั้งเดิม การท่องเที่ยวเมืองวัฒนธรรม ผ่านทั้งศิลปิน K-Pop หรือซีรีย์เกาหลี อย่างไรก็ตามเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จกับการสร้าง Soft Power เป็นอย่างมากจากวงการเพลงที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ซึ่งอาจจะแตกต่างจากประเทศไทยที่ธุรกิจในวงการเพลง และคอนเสิร์ตยังไม่ได้มีมูลค่าสูงเท่าจึงเป็นเรื่องยากที่จะสร้าง Soft Power จากศิลปินหรือดารา

โดย ‘Business+’ มองว่า หากต้องการทำให้กระแส Ecotourism เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ จะต้องสร้างให้เกิดเป็น Ecosystem ร่วมกันทั้ง Supply Chain เริ่มต้นตั้งแต่การสร้างเครือข่ายกับชุมชนเพื่อศึกษาวัฒนธรรม และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม เพื่อดึงจุดเด่นแต่ละพื้นที่ออกมานำเสนอ รวมไปถึงต้องมีการค้นหาสินค้าท้องถิ่นที่โดดเด่น นำมาออกแบบผลิตภัณฑ์ของฝาก เพิ่มความเป็นสินค้าอัตลัษณ์ และนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทยเหล่านี้สู่กลุ่มตลาดเป้าหมายอย่างตรงจุด ด้วยการใช้ Content Marketing เป็นตัวนำให้เกิดกระแส และเกิดเป็นการมีส่วนร่วมของผู้คนอย่างเป็นธรรมชาติตามพฤติกรรมของคนยุคใหม่ที่มักไม่เชื่ออะไรง่ายๆ โดยเฉพาะการนำเสนอในรูปแบบที่ Hard Sale จนเกินไปที่ทำให้เกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อแบรนด์ จึงต้องเลือกใช้ Influencer marketing ที่ตอบโจทย์ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีกับแบรนด์ และต้องมีการรีวิวอย่างตรงไปตรงมากกว่าเน้นการขายเพียงอย่างเดียวเหมือนการตลาดในยุคเดิม

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : zoominfo ,intrepidtravel , marketdataforecast
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS