เปิดชื่อ 2 บริษัท Solar cell จากไทย ถูกใช้เป็นเครื่องมือหนีภาษีที่จีนจะนำเข้าสินค้าไปสหรัฐฯ จุดเริ่มต้นที่จะทำให้สินค้าจาก 4 ประเทศโดนเหมาะยกเข่ง!

หลังจากที่สหรัฐและจีนทำสงครามทางการค้า มาตั้งแต่ปี 2018 ก็ทำให้ผู้ส่งออกของทั้ง 2 ประเทศต้องเผชิญกับภาษีการส่งออก-นำเข้า ที่สูงขึ้น และกลายเป็นต้นทุนส่วนเพิ่มที่ทำให้ความได้เปรียบทางการแข่งขันน้อยลง

เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องพยายามหาลู่ทาง และโอกาสใหม่ๆ แต่หนึ่งในวิธีการที่ถูกนำมาใช้คือการ “Circumvention” หรือการหาช่องทางเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีเหล่านี้ จนนำมาสู่การฟ้องร้องขึ้น

ไม่กี่วันที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศคำตัดสินเบื้องต้น ว่า โรงงานผลิต solar cells และ solar modules ของประเทศจีน ได้ใช้ประเทศไทย มาเลเซีย กัมพูชา และเวียดนาม เป็นเส้นทางผ่านเข้าสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อหลบเลี่ยงภาษีนำเข้า 30% ที่สหรัฐฯกำหนดเก็บจากสินค้าส่งออกโดยตรงจากจีน

โดยคำตัดสินนี้ มาจากกรณีที่ International Trade Administration (ITA) ได้ทำการสอบสวนการนำเข้าสินค้า solar cells และ solar modules จากทั้ง 4 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม) เพราะได้รับคำร้องจากบริษัท Auxin Solar Inc. ที่เป็นโรงงานผลิต solar ของสหรัฐฯว่า สินค้า crystalline silicon photovoltaic cells และ modules ที่ผลิตในประเทศจีนถูกนำไปเข้ากระบวนการผลิตในระดับต่ำในประเทศไทย มาเลเซีย กัมพูชา และเวียดนามก่อนส่งออกไปสหรัฐฯ (โดยพบข้อมูลว่า เป็นการนำเข้าไปประกอบเท่านั้น ไม่ได้มีขั้นตอนซับซ้อนใดๆ ) แต่จีนได้ใช้การนำเข้ามาประกอบในประเทศเหล่านี้เป็นข้ออ้างเท่านั้น

ซึ่งการกระทำแบบนี้ถือได้ว่าเป็นการ “Circumvention” เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด (Antidumping Duty – AD) และภาษีตอบโต้ (Countervailing Duty -CVD) ที่สหรัฐฯกำหนดใช้กับสินค้าที่ผลิตในประเทศจีนปฏิบัติการ Circumvention ผิดกฎหมายการค้า และจะส่งผลสินค้า solar cells และ modules ที่สหรัฐฯนำเข้าจากประเทศเหล่านี้มีราคาสูงขึ้น

โดยทางกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯได้พิจารณาและเลือกสอบสวนบริษัทผลิต solar cell 8 บริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย มาเลเซีย กัมพูชา และเวียดนาม และตัดสินว่ามี 4 บริษัทที่มีปฏิบัติการ circumvention จริง โดยมี 2 บริษัทในประเทศไทยคือ Canadian Solar และ Trina

คำตัดสินเบื้องต้นนี้เป็นเพียงขั้นตอนแรก ขั้นต่อไปกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯจะทำการตรวจสอบ (audit) เจาะจงเฉพาะบริษัทอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่นำมาใช้ในการพิจารณาตัดสินก่อนหน้านี้ถูกต้อง และเพื่อฟังประชาพิจารณ์อีกครั้งก่อนที่จะประกาศคำตัดสินสุดท้ายที่กำหนดว่าจะกระทำในวันที่ 1พฤษภาคม 2023

ซึ่ง กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯระบุว่า การพบปฏิบัติ circumvention ของ 4 บริษัทใน 4 ประเทศข้างต้นครั้งนี้ ทำให้สงสัยว่ามีปฏิบัติการ circumvention แพร่หลายในประเทศเหล่านี้ จึงตัดสินแบบเหมารวมครอบคลุมทั้งประเทศ (country-wide) ในลักษณะที่เชื่อไว้ก่อน (by default) ว่า ทุกบริษัทผลิตสินค้า solar cells และ solar modules ที่ตั้งอยู่ในทั้ง 4 ประเทศมีปฏิบัติการ circumvention ถึงแม้ว่าสหรัฐฯจะไม่ห้ามการนำเข้าสินค้า solar cells และ modules จากประเทศเหล่านี้แต่สินค้าที่ผลิตในประเทศเหล่านี้ ในวันที่ 1 เมษายน 2022 และหลังจากนั้นเป็นต้นไป เมื่อนำเข้าสหรัฐฯจะถูกเก็บภาษี AD/CVD ในอัตราที่สหรัฐฯกำหนดไว้สำหรับสินค้านำเข้าที่ผลิตในประเทศจีนผู้นำเข้าต้องวางเงินสดเมื่อมีการนำเข้า คือร้อยละ 238.95 (ภาษี AD) และร้อยละ 15.28 (ภาษี CVD)

ซึ่งบริษัทผู้ผลิตในประเทศเหล่านี้ทุกบริษัท ยกเว้นบริษัทที่กระทรวงพาณิชย์ระบุในคำตัดสินเบื้องต้นว่ามีปฏิบัติการ circumvention สามารถหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเหล่านี้ได้ด้วยการหาหลักฐานมายืนยันรับรองว่าไม่ได้ทำ circumvention เพื่อหลีกเลี่ยงคำสั่ง AD/CVD ที่สหรัฐฯกำหนดกับสินค้าจีน

อนึ่งหน่วยงาน ITA มีหน้าที่หลักในการส่งเสริมและผลักดันการค้าและการลงทุนรวมไปถึงภาคการส่งออกของสหรัฐฯ ผ่านมาตรการทางการค้าและมาตรการทางกฎหมายต่างๆ เพื่อให้สินค้าของสหรัฐฯ มีความได้เปรียบทางการค้า

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส

เรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus