‘นารถนารี รัฐปัตย์’ ONE SME D Bank, ONE Team เบื้องหลังความสำเร็จ SMEs ไทย

The Success Story By Business+ เดือนนี้จะพาผู้อ่านมาพบกับธนาคารที่ถือเป็นร่มเงาสำหรับธุรกิจ SME ที่นอกจากจะช่วยส่งเสริมและดูแลให้ผู้ประกอบการ SME มีรากฐานที่มั่นคงแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่สำคัญที่ช่วยประคับประคองธุรกิจ SME ให้สามารถก้าวผ่านทุกสถานการณ์ไปได้อย่างราบรื่น

สถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ปี 2563 ถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจในวงกว้างและยาวนาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี  ซึ่งเดิมก็สายป่านสั้นอยู่แล้ว เป็นกลุ่มได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุดก็ว่าได้ ดังนั้น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank จึงมีบทบาทอย่างชัดเจน เป็นร่มที่เมื่อกางแล้วไม่มีวันหุบ คอยช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างเต็มที่ต่อเนื่องอย่างสุดกำลัง

คุณนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า วิกฤตครั้งนี้ตามมาด้วยภารกิจยิ่งใหญ่ที่ต้องประคับประคองผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ก้าวผ่านไปให้ได้ เราจึงถือโอกาสนี้ สร้าง Teamwork หลอมรวมหัวใจเป็นหนึ่งเดียว เรียกว่า “ONE SME D Bank, ONE Team” ซึ่งเป็นแนวทางการทำงานที่สำคัญมาก ๆ ในการพัฒนาองค์กร ทำความเข้าใจ เปิดใจ ร่วมใจ มุ่งเป็น Unity มีเป้าหมายเดียวกัน คือ  เอสเอ็มอีไทยต้องรอดและไปต่อ

แน่นอนที่สุดระหว่างทางย่อมมีข้อจำกัดและท้าทายต่าง ๆ เข้ามาให้ฝ่าฟันเสมอ แต่เราก็ไม่หยุดความมุ่งมั่น ในช่วงแรกที่สถานการณ์ COVID-19  กำลังรุนแรง  เจ้าหน้าที่ ธพว. ทั้ง 95 สาขาทั่วประเทศ ทำงานเชิงรุกลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประกอบการสอบถามความต้องการและให้ความช่วยเหลือทันที

อีกทั้ง ปรับกระบวนการทำงานในทุกภาคส่วนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ นำระบบไอทีมาใช้ในการอำนวยสินเชื่อ ปรับหลักเกณฑ์ในการให้สินเชื่อ พร้อมทั้งออกสินเชื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ทันท่วงที และบรรลุความมุ่งมั่นดังกล่าว

คำว่า “ร่มที่กางแล้วไม่มีวันหุบ” ไม่ใช่คำกล่าวอ้างลอย ๆ เรามีข้อพิสูจน์จากการที่พาผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเติมทุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 90,000 ล้านบาท ในช่วงปี 2563 – 2564 ส่งผลให้เอสเอ็มอีไทยและ Supply chain อยู่รอดถึง 30,000 ราย สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 420,000 ล้านบาท และสนับสนุนการจ้างงานได้กว่า 402,000 ราย

นอกจากการเติมทุนแล้ว ธพว. ยังช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบจากรายได้ที่ลดลงของลูกค้าด้วยการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ปรับโครงสร้างหนี้  มูลค่ารวมกว่า 93,500 ล้านบาท จำนวนกว่า 55,000 ราย  ซึ่งต้องขอบคุณมาตรการของทางการ และ ธปท. ที่มาด้วยได้ทันเวลามาก ๆ

ปี  2564 เป็นปีที่เราเติมทุนให้เอสเอ็มอีสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จำนวนกว่า 49,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 กว่า 16% รวมถึง ช่วยเหลือพาเข้ามาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ จำนวนกว่า 37,000 ราย วงเงินกว่า 66,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 มากกว่า 100%

ในการเข้าเติมทุนและเสริมสภาพคล่อง การทำ DR (ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขชำระหนี้) เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในสถานการณ์ COVID-19 อีกทั้ง เรายังไม่ทิ้งบทบาทและให้ความสำคัญยิ่งขึ้นในด้าน “การพัฒนา” เพื่อเพิ่มศักยภาพให้เอสเอ็มอีไทย  เติบโตอย่างยั่งยืน โดยเราใช้ความเชี่ยวชาญด้านการเงินของตัวเอง ไปผสมผสานกับความเชี่ยวชาญอื่น ๆ ของหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับและเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ครบวงจร

ไม่ว่าจะเป็นการ Upskill Reskill เพื่อ “เติมสิ่งที่ดี เพิ่มสิ่งที่ขาด” เช่น โครงการ “Phuket Sandbox” โดยร่วมกับสภาอุตสาหกรรรมแห่งประเทศไทย ช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ส่งเสริมเอสเอ็มอีเข้าสู่มาตรฐาน SHA/SHAPlus รวมถึง จับมือ สสว. (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) พาผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเข้าถึงแหล่งทุน “โครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย” ดอกเบี้ย 1% ต่อปี อีกทั้ง เติมความรู้ช่วยผู้ประกอบการ ขยายช่องทางการขาย  สร้างยอดขาย เพิ่มรายได้ให้ธุรกิจฟื้นกลับคืนมา

ปี 2564 จึงนับเป็นอีกปีแห่งความภาคภูมิใจของชาว ธพว. ที่หน่วยงานภายนอกเล็งเห็นถึงคุณค่า และกรุณามอบรางวัลเป็นกำลังใจให้พนักงาน ธพว. ทุกคน เช่น รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประเภท “รางวัลพัฒนาองค์กร ดีเด่น” จากการยกระดับองค์กรเริ่มเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานภายในองค์กรที่คนทั้งองค์กรร่วมมือร่วมใจกัน อีกทั้ง นำระบบออนไลน์มาใช้สามารถตอบโจทย์ช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้อย่างฉับไว โดยเฉพาะด้านเติมทุนคู่พัฒนาพาก้าวผ่านสถานการณ์ COVID-19 สำเร็จ

รางวัล ITA  Award การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่ง ธพว. ได้รับ 99.49 คะแนน ระดับ AA

และรางวัล “THAILAND TOP COMPANY AWARDS 2022” ประเภท “องค์กรเป็นเลิศด้านให้ความสำคัญกับคู่ค้า พันธมิตรทางธุรกิจ” จากการเป็นแกนกลางเชื่อมโยงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจากสถานการณ์ COVID-19 รางวัลเหล่านี้ ยืนยันได้เลยว่า ธพว. มีความสำคัญที่จะคอยเป็นร่มที่กางแล้วไม่หุบ อยู่คู่ดูแลเอสเอ็มอีไทยตลอดไป

ผลการดำเนินงานของ ธพว. ในช่วงครึ่งปีแรก 2565

คุณนารถนารี กล่าวว่า แม้สถานการณ์จะดูเหมือนคลี่คลายลง แต่ผลสำรวจเอสเอ็มอี ดูจะเหมือนว่ารายได้ยังไม่ได้กลับมาเหมือนเดิมแบบ 100%  เราจึงยังคงบทบาทที่จะดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด รวมทั้งต้องตอบสนองต่อลูกค้ารายใหม่ ๆ ที่อยากจะมาเป็นครอบครัว ธพว. มามีวงเงินกับ ธพว.  พร้อมทั้งได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมาตลอด 2 – 3 ปี ที่เรามุ่งให้ความสำคัญยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และให้บริการ “เติมทุนคู่พัฒนา” เสมอ ทำให้ทิศทางการดำเนินงานของ ธพว. เติบโตต่อเนื่อง  ช่วง 6 เดือนแรกปี 2565 พาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนไปแล้ววงเงินมากกว่า  32,000  ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2564 กว่า 51%

ตลอดทั้งปี 2565 นี้ เราวางเป้าหมายไว้ว่า จะต้องสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถกลับมาฟื้นธุรกิจได้อย่างราบรื่น ผ่านบริการเติมทุน วงเงินรวมทั้งปีไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท และช่วยยกระดับพัฒนาธุรกิจกว่า 21,000 ราย

เมื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเหล่านี้ กลับมายืนได้เข้มแข็งอีกครั้ง จะกลายเป็นพลังมหาศาลส่งต่อประโยชน์ สู่การจ้างงาน สร้างเงินหมุนเวียน เกิดการขับเคลื่อนให้ระบบเศรษฐกิจไทยกลับมาเดินหน้าได้เต็มศักยภาพอีกครั้ง

ความสำคัญกับรูปแบบธุรกิจ BCG

ธพว. ให้ความสำคัญกับรูปแบบธุรกิจ BCG หรือเศรษฐกิจชีวภาพที่มีต่อเอสเอ็มอีมายาวนาน เพราะตระหนักดีว่า หัวใจสำคัญที่จะยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เติบโตอย่างยั่งยืน คือ การนำเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม มาช่วยยกระดับธุรกิจ

ดังนั้น ได้ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีเงื่อนไขพิเศษมาก ๆ ทั้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย และระยะเวลากู้ยืมนาน เพื่อช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีต้นทุนการเงินที่ต่ำ และเหมาะสม  สามารถนำไปใช้ยกระดับธุรกิจเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่ ตามแนวทาง BCG Model  (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งความสำคัญให้การเติบโต ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เติบโตเคียงคู่กันไปอย่างสมดุลและคุ้มค่า

สินเชื่อดังกล่าว คือ “โครงการสินเชื่อธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ” หรือ  “BCG Loan” วงเงิน 1,000 ล้านบาทในปีแรก ดอกเบี้ยเริ่มต้น 3.99% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุด 12 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 24 เดือน  วัตถุประสงค์ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็น ลงทุน ปรับปรุง ขยาย หรือปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ หมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง หรือ Refinance แถมยัง ฟรี! ค่าธรรมเนียมวิเคราะห์โครงการด้วย

ควบคู่กันนั้น ธพว. ได้จัดโปรแกรม “พัฒนา” สนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียกระดับสู่ BCG Model เช่น ร่วมกับมูลนิธิยูนุสไทยแลนด์ คัดเลือกลูกค้าจำนวน 50 รายมาเป็นต้นแบบการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง BCG เพื่อจะขยายผลต่อยอดให้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายอื่น ๆ นำแนวทางดังกล่าวไปปรับใช้กับธุรกิจ เพื่อก้าวสู่ BCG ได้เช่นกัน นอกจากนั้น จับมือหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน จัดโครงการให้ความรู้เกี่ยวกับ BCG Model แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่อเนื่องตลอดทั้งปี  ผ่านระบบ Online และ Onsite

มุมมองภาพรวมของธุรกิจเอสเอ็มอีในอนาคตต่อจากนี้

คุณนารถนารี กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจเอสเอ็มอีจะค่อย ๆ ฟื้นตัว เหมือนคนป่วยที่กำลังจะฟื้นไข้จากโควิด ถ้าดูแลตัวเองดี อาการลองโควิดก็น้อย แต่ก็มิใช่ว่าจะไม่มีเลย ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายที่ต้องประคับประคองให้ผ่านช่วงกำลังฟื้นตัวไปให้ได้

โดยในปี 2566 ตามการคาดการณ์ของ World Bank จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ GDP ประมาณ 3% ส่วนประเทศไทย GPD ตามการประเมินของ ธปท. เติบโตประมาณ 4.2% (ณ มิ.ย. 65) แต่ภายใต้สถานการณ์เปราะบางเพราะยังมีปัจจัยเสี่ยง เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ล่าสุด ยังมีเรื่องจีน ไต้หวัน และสหรัฐฯ รวมถึงภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นที่อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม

ทั้งนี้ เรามองว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศเริ่มทยอยกลับสู่ภาวะปกติ จากภาคการท่องเที่ยวไทยฟื้น นักท่องเที่ยว ต่างชาติเริ่มทยอยกลับมา สนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศ ส่งเสริมธุรกิจเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ตลอดจนภาคเอกชนกล้าลงทุนมากขึ้น เพื่อรองรับกำลังซื้อมากขึ้นในอนาคต

ขณะเดียวกัน  ยังมีปัจจัยจากการส่งออกที่ดีต่อเนื่อง  อีกทั้ง การเบิกจ่ายลงทุนภาครัฐช่วยเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งตั้งงบลงทุน  ในปีงบประมาณ 2566 จะอยู่ที่ 20% ของกรอบวงเงินงบประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท นี่จะเป็นเครื่องยนต์ช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเติบโต

จากแนวโน้มดังกล่าว ในฐานะที่เราเป็นธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการเดินหน้าฟื้นธุรกิจได้เต็มกำลัง ด้วยเครื่องยนต์ของเรา ผ่านบริการ “3 ด้าน” ได้แก่ “การเติมทุน” เพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ คว้าโอกาสจากทิศทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว  โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องจะพลิกฟื้นธุรกิจ รับกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ

รวมถึง “DR” ปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ ยืดหยุ่นหลักเกณฑ์ บริหารจัดการธุรกิจไม่มีสะดุด ผลักดันเอสเอ็มอีไทยต้องไปต่อ ควบคู่กับ “การพัฒนา” เสริมแกร่ง เพิ่มศักยภาพธุรกิจ เหยียบคันเร่งกิจการพร้อมเดินหน้าเต็มสูบด้วยเครื่องยนต์ของ ธพว. ทั้ง 3 ด้าน จะเป็นส่วนสำคัญขับเคลื่อนเอสเอ็มอีไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

ตัวอย่างเช่น ด้านเติมทุน ธพว. ได้ผลักดันผลิตภัณฑ์ที่จะมารองรับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง เช่น “สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน” (Local Economy Loan) และ “สินเชื่อรายเล็ก Extra Cash” ที่สนับสนุนเอสเอ็มอีท่องเที่ยวเข้าถึงแหล่งทุนไปแล้ว วงเงินมากกว่า 60,000 ล้านบาท จำนวนมากกว่า 30,000 ราย ตามด้วยโครงการ “สินเชื่อ SMEs Re-Start” วงเงิน  2,000 ล้านบาท นำไปเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ หรือสำรองเป็นค่าใช้จ่าย

โดยเริ่มเปิดตัวโครงการเมื่อช่วงเดือนมีนาคม  2565  ที่ผ่านมา  ณ  สิ้นเดือนกรกฎาคม  2565  มียอดแจ้งความประสงค์ยื่นกู้เกือบ 1,000 ราย วงเงินมากกว่า 1,500 ล้านบาท และคาดว่าจะเต็มจำนวนวงเงินภายในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งธนาคาร กำลังขยายวงเงินให้กู้เพิ่มเติมอีก 3,000 ล้านบาท เพื่อจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้น ธนาคารยังจัดกิจกรรมสนับสนุนกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องในหลากหลายรูปแบบ เช่น จัดทำ E-Book “โปรดี๊ดี เอสเอ็มอีทั่วไทย” ช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการให้เป็นที่รู้จักและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างกว้างขวาง

พัฒนาโครงการใหม่ ๆ สนับสนุนการเติบโตของเอสเอ็มอีไทย

ธพว. เดินหน้ายกระดับการทำงานเพื่อสนับสนุนการเติบโตของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเสมอมา ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เปิดตัวโครงการ “SME D Coach” บริการให้คำปรึกษาธุรกิจแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจากกูรูมืออาชีพ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เลย มี 6 หัวข้อหลักในการให้คำปรึกษา

ประกอบด้วย 1. ด้านการตลาด เช่น E-Commerce, Business Matching 2. ด้านมาตรฐานการพัฒนาผลิตภัณฑ์  3. ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม 4. ด้านบัญชี การเงิน เขียนแผนธุรกิจ 5. ด้านการผลิต  และ 6. ด้านสนับสนุนเข้าถึงแหล่งเงินทุน บ่มเพาะผู้ประกอบการ

จุดเด่นของโครงการดังกล่าว คือ การเชื่อมโยงนำศักยภาพเด่นของหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษากว่า 30 แห่ง มาบูรณาการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างเป็นระบบครบถ้วนในจุดเดียว สามารถให้คำปรึกษาตั้งแต่อยากจะเริ่มต้นธุรกิจใหม่ หรือต้องการคำปรึกษาเชิงลึกเฉพาะด้าน

มีกระบวนการให้บริการที่สะดวกสบาย สามารถแจ้งความประสงค์เข้ารับคำปรึกษาได้เหมาะกับความสะดวกของตัวเอง โดยเลือกได้ทั้งหัวข้อที่ต้องการรับคำปรึกษา เลือกโค้ช เลือกช่วงเวลา เลือกวิธีรับคำปรึกษาผ่าน Onsite ณ สำนักงานใหญ่ ธพว. หรือ Online และสามารถเลือกขอรับคำปรึกษาได้ทั้งแบบตัวต่อตัว หรือเป็นกลุ่ม

สำหรับด้านการเติมทุน ธนาคารมุ่งช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง เช่น “โครงการสินเชื่อธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” หรือ “BCG Loan” และโครงการ “สินเชื่อ Re-Start” ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี ทางธนาคารจึงจะขยายวงเงินอีกหลายพันล้านบาท เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้มากขึ้นและต่อเนื่อง

นอกจากนั้น ด้านระบบหลังบ้าน ธนาคารได้เตรียมความพร้อมที่จะยกระดับสู่การเป็นดิจิทัลด้วยโครงการด้าน IT หลากหลาย  เพื่อจะเพิ่มศักยภาพด้านบริการด้วยการพัฒนาระบบ “Core Banking System” ตัวใหม่ จัดตั้ง DATA Warehouse เพื่อขับเคลื่อนองค์กรด้วย Big DATA พัฒนาแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น ซึ่งจะเป็นมิติใหม่แห่งการให้บริการผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบ ครบถ้วนทุกความต้องการ สะดวก รวดเร็ว

ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านโมบายแอปพลิเคชันที่สามารถแจ้งความประสงค์ขอสินเชื่อผ่านมือถือได้ทุกที่ทุกเวลา และรองรับการชำระเงินออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ อีกทั้ง เข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย อีกทั้ง เป็นการเพิ่มช่องทางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านการพัฒนา เช่น โปรแกรมยกระดับ ขยายตลาด จับคู่ธุรกิจ (Business Matching) เป็นต้น

ด้วยความพร้อมด้านเทคโนโลยีดังกล่าว ประกอบกับหัวใจของชาว ธพว. ทุกคนที่จะรวมกันเป็น “ONE SME D Bank, ONE Team” มุ่งมั่นและทุ่มเทเพื่อเอสเอ็มอีไทยเสมอ

อนาคตของ ธพว. ในบทบาท “ร่มที่กางแล้วไม่มีวันหุบ” จะสามารถแพร่ขยายการให้บริการได้ครอบคลุม กว้างขวาง และทั่วถึง   คอยเคียงข้างช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตลอดเส้นทางธุรกิจ ไม่ว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะต้องการความช่วยเหลือใด ๆ ก็ตาม ธพว. พร้อมเสมอ เพราะเรา คือ “ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย”

ท้ายนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการรับบริการ “เติมทุนคู่พัฒนา” สามารถติดต่อใช้บริการได้ที่สาขาของ ธพว. ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือ Call Center 1357  รวมถึงช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ เช่น Line OA เฟซบุ๊ก และเว็บไซต์ของธนาคาร (www.smebank.co.th) เพื่อที่ ธพว. จะเข้าไปช่วยเหลือท่านได้ทันท่วงที