รู้จักเจ้าของแบรนด์ Skinsista ครีมซองยอดขาย 30,000 ต่อวัน ที่จะ IPO

รู้หรือไม่ว่า ตลาดผลิตภัณฑ์ด้านความงามในประเทศไทยกำลังเติบโตอย่างร้อนแรง โดย Euromonitor รายงานว่า ตลาดดังกล่าวในไทยมีมูลค่ามากถึง 150,000 ล้านบาท ในปัจจุบัน โดยแบ่งเป็นตลาดสกินแคร์ที่มีมูลค่ามากถึง 120,000 ล้านบาท และตลาดเครื่องสำอางอีก 30,000 ล้านบาท

มูลค่าตลาดที่สูงขนาดนี้ก็มาจากเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ที่หันมาให้ความสำคัญกับความสวยความงามกันตั้งแต่อายุยังน้อย จึงไม่น่าแปลกใจที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราจะได้เห็นแบรนด์สกินแคร์ใหม่ ๆ ลงมาชิงเค้กแข่งขันกันมากขึ้น

ซึ่งในแบรนด์ที่ได้รับความนิยมก็คือ Skinsista ที่มีเจ้าของคือบมจ. สกิน ลาบอราทอรี่ ที่ก่อตั้งในปี 2556 โดยคุณชาญวิทย์ เขียวนาวาวงศ์ษา และคุณณัฐพร พงษ์ชาญชวลิต

จุดเริ่มต้นของแบรนด์นั้นมาจากการที่คุณชาญวิทย์และคุณณัฐพรต่างมีความสนใจในเรื่องสกินแคร์ทั้งคู่ และต่างเห็นโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ จึงได้จัดตั้งแบรนด์ Skinsista ขึ้นมา โดยที่ชื่อแบรนด์มาจากความตั้งใจของคุณณัฐพรที่มีน้องสาวฝาแฝด จึงอยากจะพัฒนาสกินแคร์ที่ดีพอจะสามารถแนะนำให้น้องสาวของตัวเองได้

กลุ่มลูกค้าหลักของ Skinsista จะเน้นไปที่กลุ่มคนที่มีปัญหาเรื่องสิวหรือริ้วรอยเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นคนในช่วงอายุ  18 – 30 ปี จึงมีการเจาะกลุ่มเป้าหมายผ่านช่องทางทั้งออฟไลน์ ซึ่งก็คือร้านสะดวกซื้อทั่วไป และออนไลน์ หรือร้านค้าอิคอมเมิร์ซ และทำการตลาดเน้นไปที่ออนไลน์เป็นหลัก ผ่านแนวคิดว่า นอกเหนือจากการขายสินค้าแล้วก็จะต้องช่วยให้ความรู้ในการดูแลผิวที่ถูกต้องกับผู้บริโภคด้วย

หลังจากที่ก่อตั้งแบรนด์ ทางบริษัทก็ได้สังเกตเห็นเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปคือการความนิยมของ “ครีมซอง” ที่มากขึ้น โดยในอดีตก่อนนั้น กลุ่มผู้ซื้อหลักของครีมซองจะเป็นคนที่มีกำลังซื้อต่ำมาก่อน ในขณะที่ลูกค้าสกินแคร์ส่วนใหญ่ก็มี brand loyalty ที่สูง แต่ปัจจุบัน ผู้บริโภครุ่นใหม่ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้มากขึ้น ก็เริ่มหันมาลองใช้แบรนด์อื่น ๆ ที่แพร่หลายมากขึ้นและไม่ยึดติดกับแบรนด์อย่างเมื่อก่อน ครีมซองที่มีขนาดเล็กจึงตอบโจทย์ผู้บริโภคมากกว่าเดิม ส่งผลให้ได้รับความนิยมในกลุ่มลูกค้าที่แพร่หลาย

ด้วยเหตุนี้ Skinsista จึงได้หันมาเจาะกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการออกครีมซอง ที่มีราคาต่อชิ้นประมาณ 29 – 69 บาท แต่พัฒนาตัวครีมให้มีคุณภาพดี และมีงานวิจัยรองรับประสิทธิภาพอย่างครบถ้วน จึงได้รับความนิยมอย่างมาก ส่งผลให้ปัจจุบัน ยอดขายครีมซองคิดเป็นมากกว่าครึ่งของยอดขายทั้งหมด ในขณะที่ ยอดขายส่วนใหญ่ยังมาออนไลน์

ทั้งนี้ผลประกอบการในช่วงที่ผ่านมาของบมจ. สกิน ลาบอราทอรี่ คือ

ปี 2564 รายได้ 317 ล้านบาท กำไร 23 ล้านบาท

ปี 2565 รายได้ 283 ล้านบาท กำไร 12 ล้านบาท

ปี 2566 รายได้ 273 ล้านบาท กำไร 17 ล้านบาท

6 เดือนแรกของปี 2567 รายได้ 123 ล้านบาท กำไร 3.9 ล้านบาท

ในขณะที่ ผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้แก่ เซรั่ม, ครีมกันแดด, ครีมบำรุงผิวหน้า, ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า และผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยแบ่งเป็นสัดส่วนที่

เซรั่ม 60%

ครีมกันแดด 36%

ครีมทำความสะอาดหน้า 2%

ครีมบำรุงหน้า 1%

อื่น ๆ 1%

จากผลประกอบการก็จะวิเคราะห์ได้ว่า บริษัทกำลังเจอการแข่งขันที่รุนแรง ในขณะที่ยังคงพึ่งพารายได้จากสินค้าเซรั่มมากเกินไปอยู่ ด้วยเหตุนี้ ทางบริษัทจึงตั้งเป้าหมายเพิ่มรายได้เป็น 2 เท่า ภายในปี 2570 ผ่านการออกไลน์สินค้าใหม่ ๆ เช่น เครื่องสำอาง และขยายช่องทางการจำหน่ายไปอีกอย่างน้อย 50 จุด รวมถึงการวางงบการตลาดไว้ที่ 20% ของรายได้

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ออกแบรนด์ใหม่ชื่อ Dermie ซึ่งเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีปัญหาผิวแพ้ง่ายโดยเฉพาะ หรือเจาะกลุ่มที่แมสมากกว่า Skinsista โดยล่าสุดกำลังออกผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดสำหรับผู้ใช้ผิวแพ้ง่าย ที่ไม่ทำให้เกิดสิวออกมาด้วย

สำหรับจํานวนหุ้นที่เสนอขาย คือไม่เกิน 44,000,000 หุ้น คิดเป็น 30.55% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน จึงน่าติดตามต่อว่า บริษัทจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้หลักการ IPO ครั้งนี้ได้หรือไม่

ที่มา: Filing ของบริษัท, สัมภาษณ์ผู้บริหารโดยตรง

ผู้เขียนและเรียบเรียง: พรบวร จิรภัทร์วงศ์