‘สยามสตีล’ กับก้าวสำคัญแห่งการเปลี่ยนผ่านธุรกิจออฟไลน์สู่ออนไลน์ หนุนนำองค์กรสู่ความยั่งยืน

ในโลกที่การแข่งขันทางธุรกิจเป็นไปอย่างดุเดือด โดยต่างก็งัดเอากลยุทธ์ต่าง ๆ มาใช้ เพื่อดึงดูดลูกค้าและต่อยอดพัฒนาองค์กรเพื่อให้บรรลุสู่เป้าหมาย สยามสตีล’ นับเป็นตัวอย่างของการทลายกำแพงตัวเองในแง่ของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ทันต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคและสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

คุณสุรพล คุณานันทกุล ผู้อำนวยการ บริษัท สยามสตีลอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ SIAM กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จในแง่ของการเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมการผลิต โดยเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเดิมนั้น สยามสตีล เริ่มจากการประกอบธุรกิจเฟอร์นิเจอร์สำนักงาน ต่อจากนั้นได้ขยายไปทำอาคารสำเร็จรูป และเหมือง เพื่อส่งออกไปขายต่างประเทศ

นอกจากนี้ยังได้ขยายธุรกิจไปทำธุรกิจ Civil Engineering Product เช่น ผนังกั้นน้ำ แบร์ริเออร์ และมีการต่อยอดในส่วนของเฟอร์นิเจอร์ จากเดิมที่ขายเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ ขยายไปตั้งแต่การก่อสร้าง ตกแต่ง ปรับปรุง โดยผลงานที่ผ่านมา คือ การทำให้กับสนามบินเชียงใหม่ ทั้งการก่อสร้าง ทำงานระบบ และทำเฟอร์นิเจอร์

หลังจากนั้น มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ไปทางพลังงานทดแทน ที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างจะยั่งยืนในระยะยาว โดยลงทุนทำโซล่าฟาร์มที่ประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วยธุรกิจ Biomass, ขายเชื้อเพลิงชีวมวลที่ประเทศญี่ปุ่น

ผลประกอบการ

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1/65 งบการเงินรวมของบริษัทมีกำไรสุทธิ 19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11 ล้านบาท หรือคิดเป็น 148% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/64 ที่มีกำไรสุทธิ 8 ล้านบาท โดยบริษัทมีรายได้รวม 536 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 58 ล้านบาท หรือเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 12% โดยส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากรายได้กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ และผนังกั้นน้ำ

กลยุทธ์หลักสู่ความยั่งยืน

สยามสตีลเชื่อว่าความยั่งยืนขององค์กรมาจากคนเป็นอันดับแรก โดยเชื่อว่าพนักงานทุกคนเป็นจุดเชื่อมหลักระหว่างองค์กรกับสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผลิตสินค้า การบริการลูกค้า โดยการลงทุนกับบุคลากรในองค์กร จะส่งเสริมให้พนักงานกล้าคิด กล้าทำ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่บริษัทตั้งไว้ ดังนั้น บริษัทจึงให้ความสำคัญกับพนักงานทุกคนเหมือนเป็นคนในครอบครัว

เตรียมพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์

สยามสตีลได้มีการปรับตัวรับกับทุก ๆ สถานการณ์ รวมถึงสถานการณ์เงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้า บริษัทได้มีการปรับราคาสินค้าไปแล้ว 2 ครั้ง เนื่องจากเหล็กซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของบริษัทมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยบริษัทพยายามหาวิธีลดต้นทุน รวมถึงการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ให้ตอบโจทย์ต่อความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น โดยใช้วัตถุดิบที่สามารถรีไซเคิลได้ และให้เวลาลูกค้าในการตั้งรับต่อการปรับเพิ่มราคาสินค้า ซึ่งบริษัทพยายามประคับประคองในเรื่องของราคาสินค้าให้ได้มากที่สุด และมีการจัดหาโปรโมชันเพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระแก่ลูกค้า

ส่วนราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นนั้น บริษัทพยายามรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ของบริษัท รวมถึงซัพพลายเออร์ มีการปรับเปลี่ยนในเรื่องของการขนส่ง เช่น จากเดิมใช้การขนส่งผ่านรถยนต์ธรรมดา ให้เปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนช่วยในระยะยาว

สำหรับธุรกิจพลังงานทดแทนได้มีการปรับเปลี่ยนจากการใช้น้ำมันเตาให้เป็น Biomass ทั้งหมด ซึ่งนอกจากจะเป็นการประหยัดแล้ว อีกประเด็นคือญี่ปุ่นมีการรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องพลังงานสะอาดมาก และมีความต้องการใช้ Biomass ค่อนข้างสูง โดยบริษัทได้เริ่มลงทุนไป 2-3 โรงงาน เพื่อซัพพลายสินค้าให้กับทางโรงไฟฟ้าที่ญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นตลาดหลักที่ค่อนข้างชัดเจนและแน่นอนในอนาคต เนื่องจากทำสัญญาแบบ Long Term คือ 15-20 ปี

กลยุทธ์ฝ่าวิกฤต COVID-19

สำหรับช่วงสถานการณ์ COVID-19 บริษัทพยายามปรับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่องค์กรให้สามารถทำงานได้ทุกที่ และปรับตัวตอบรับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งปรับเปลี่ยนรูปแบบการขายสินค้าจากการขายออฟไลน์เป็นแบบออนไลน์มากขึ้น โดยบริษัทมีการพัฒนาช่องทางต่าง ๆ ทั้งเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ส่งผลให้ในปีที่ผ่านมาการขายผ่านช่องทางออนไลน์มีการเติบโตขึ้นมากกว่าเท่าตัว นอกจากนี้ ได้มีการปรับเปลี่ยนในส่วนของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ จากเดิมที่โฟกัสไปที่เฟอร์นิเจอร์สำนักงาน โดยมองเห็นโอกาสในด้านธุรกิจเฮลท์แคร์ที่ค่อนข้างเติบโต ซึ่งล่าสุดบริษัทได้มีการเข้าไปทำบิลต์อินให้โรงพยาบาลหลายแห่ง

ปรับตัว-ต่อยอด สู่ความยั่งยืน

ปัจจุบันบริษัทเน้นเรื่อง Digital Transformation โดยการนำเทคโนโลยีและ Innovation เข้ามาต่อยอดความรู้ ความชำนาญในธุรกิจ โดยมีการจัดเตรียมด้านโครงสร้าง การเปลี่ยนแปลงสู่ยุค Digitalization อย่างค่อนข้างชัดเจน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพพนักงาน โดยมีการทำ Digital Learning Program พัฒนาความรู้ ความสามารถ ให้พนักงานพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และไม่หยุดพัฒนาตัวเอง อีกทั้งพยายามที่จะพัฒนาระบบในองค์กรเพื่อให้มีการเพิ่มผลผลิต ลดข้อผิดพลาดที่เกิดจาก Human error โดยได้มีการนำโรบอตและเครื่องจักรออโต้เข้ามาใช้งานในบริษัทเพิ่มมากขึ้น

โดยบริษัทได้ใช้จังหวะนี้ในการปรับโครงสร้างองค์กรด้วย โดยหากปรับโครงสร้างองค์กรยุคนี้เสร็จ จะส่งผลให้บริษัทมีความพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ในอนาคต ซึ่ง COVID-19 ถือเป็นอาจารย์ใหญ่ที่ทำให้บริษัทต้องปรับตัวค่อนข้างมาก

คุณสุรพล กล่าวทิ้งท้ายว่า “สำหรับแผนงานต่อจากนี้ เราเน้นความยั่งยืนเป็นหลัก เนื่องจากธุรกิจเดิมในส่วนของเฟอร์นิเจอร์และก่อสร้างที่มีอยู่ค่อนข้างผันผวน ทำให้บริษัทต้องมองหาธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีผลตอบแทนแน่นอนในระยะยาว โดยเป้าหมายหลักคือการขยายสู่ธุรกิจสีเขียว นั่นคือธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งค่อนข้างโชคดีที่บริษัทมีกลุ่มลูกค้าในมือพอสมควร ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ยั่งยืนเพียงใด”