นมโรงเรียนหายไปไหน? คำถามคาใจผู้ปกครอง เจาะลึกเบื้องหลัง ภาครัฐกำลังทำอะไรอยู่?

เกิดเป็นกระแสคำถามในแวดวงผู้ปกครองขึ้นมาว่า “นมโรงเรียนหายไปไหน?” หลังเปิดภาคการศึกษาประจำปี 2565 มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมแล้ว แต่เด็ก ๆ ยังไม่ได้รับแจกนมเหมือนอย่างเคย แล้วภาครัฐกำลังทำอะไรอยู่? คงมีการตั้งคำถามกันขึ้นมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ เมื่อนมโรงเรียนเป็นหนึ่งในนโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนอาหารแก่เด็กนักเรียน

ต่อการตอบคำถามในเรื่องนี้ เราจำเป็นต้องย้อนไปดูที่มาที่ไปของโครงการนมโรงเรียนกันก่อน โดยนมโรงเรียนเป็นนโยบายของรัฐบาลไทยที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เพื่อแก้ปัญหาการขาดสารอาหารในเด็กวัยเรียน และสนับสนุนอุตสาหกรรมโคนมไทยโดยใช้น้ำนมดิบจากเกษตรกรในประเทศ นมโรงเรียนเป็นส่วนสำคัญของตลาดนมไทย โดยสัดส่วนน้ำนมดิบที่เข้าสู่โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนคิดเป็นร้อยละ 40 ของน้ำนมดิบที่ผลิตได้ทั้งหมดในประเทศไทย นมโรงเรียนทั้งนมยูเอชที และนมพาสเจอร์ไรส์ มีเฉพาะรสจืดเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันโครงการดำเนินบนหลักการที่กำหนดให้เด็กนักเรียนดื่มนมครบ 260 วัน/ปีการศึกษา

โดยในแต่ละปีจะมีการสรรหาผู้ประกอบการเพื่อเข้าร่วมในการผลิตนมโรงเรียน ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค เพื่อให้การจัดสรรนมเป็นไปอย่างทั่วถึงและถือเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กไปในตัว

ส่วนคำถามที่ว่า นมโรงเรียนหายไปไหน? จากข้อมูลฝั่งประธานในการประชุมคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนเผยว่าสาเหตุที่ยังไม่สามารถแจกนมโรงเรียนได้ มาจากการที่ยังไม่สามารถจัดสรรพื้นที่จำหน่ายให้กับผู้ประกอบการนมโรงเรียนทั้ง 5 ภาคได้ เนื่องจากในปีนี้ กรมปศุสัตว์ ออกหลักเกณฑ์ไม่คุ้มครองสาขา โรงงาน 5 ตัน/วัน เนื่องจากไม่ใช่รายเล็ก แต่เป็นรายใหญ่ที่แตกสาขาเพื่อหวังได้พื้นที่จำหน่ายนมโรงเรียนเพิ่มขึ้น เป็นการเอาเปรียบรายอื่นอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งจะต้องตรวจสอบความโปร่งใสก่อน

นอกจากนี้ ในยังมีปัญหาผู้ประกอบการบางรายในบางพื้นที่ ไม่ให้ปศุสัตว์ไปตรวจน้ำนมดิบตั้งแต่ปี 2564 ส่งผลให้ตัวเลขการเก็บน้ำนมดิบจะไม่ครบถ้วน ซึ่งในหลักเกณฑ์ต้องตรวจน้ำนมดิบ 12 เดือน พร้อมมีหลักฐานที่มีหนังสือไม่ให้เข้าไปตรวจด้วยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

อีกทั้งยังมีปัญหาการไม่เปิดซองตรวจรับเอกสารในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ประกอบการโดยทันทีในวันรับสมัครของบางพื้นที่ ทำให้เกิดความล่าช้า ส่งผลให้จนถึง ณ วันนี้ยังไม่ได้กำหนดไทม์ไลน์วันที่เด็กจะได้ดื่มนม

ขณะที่หนึ่งในผู้ประกอบการจาก ‘ทุ่งกุลาแดรี่ฟูดส์’ ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเปิดภาคเรียนการศึกษา ปี 2565 เด็กไม่ได้ดื่มนมตามประกาศหลักเกณฑ์ ในหมวดที่ 2  ข้อที่ 9.3 ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมต้องทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือกับหน่วยงานจัดซื้อให้แล้วเสร็จอย่างน้อยภายใน 5 วันก่อนทำการเปิดภาคเรียนแม้แต่ละภาคเรียนการศึกษา

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าทำสัญญากับ อ.ส.ค. ได้ในทันทีที่ได้รับการจัดสรรสิทธิ์ปี 2565 แล้วเสร็จ คือ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย ยังไม่คืนหลักทรัพย์ตามสัญญาเก่าปี 2564 ทำให้ไม่สามารถออกหนังสือค้ำประกันฉบับใหม่เพื่อค้ำประกันสัญญากับ อ.ส.ค. ในปี 2565 ทำให้ไม่สามารถทำสัญญา อ.ส.ค. ได้ตามประกาศหลักเกณฑ์ในหมวดที่ 4  เรื่องการทำสัญญาจัดส่งและการจัดเก็บนมในโครงการ ในข้อที่ 15, 16 และ 17

ในขณะเดียวกันก็จะทำให้ไม่สามารถเข้าเซ็นสัญญากับ อ.ส.ค. ได้ เนื่องจากการจัดสรรปีนี้ล่าช้า เด็กอาจได้ดื่มนมไม่ครบ 260 วัน ตามประกาศหลักเกณฑ์ปี 2565 และมติ ครม. ลงวันที่ 29 มีนาคม 2562  เรื่องขอทบทวนมติครมเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 เรื่องการทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียน

จากปัญหาเหล่านี้ คงพอจะเป็นคำตอบให้ได้ว่านมโรงเรียนไม่ได้หายไปไหน เพียงแค่ติดปัญหาในระหว่างการดำเนินการ ซึ่งก็คงมีคำถามต่อมาว่า แล้วเด็กจะได้ดื่มนมโรงเรียนเมื่อไหร่? แม้จะยังไม่ได้คำตอบที่แน่ชัด แต่จากข้อมูล พบว่าในการประชุมคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 3/2565 ในที่ประชุมเห็นชอบให้หน่วยจัดซื้อ/โรงเรียนเอกชนจัดซื้อนมโรงเรียนชดเชยตามจำนวนวันที่เด็กนักเรียนยังไม่ได้ดื่มนมโรงเรียน นับแต่วันเปิดภาคเรียน และจัดซื้อให้เด็กนักเรียนได้ดื่มนมโรงเรียนครบ 260 วัน/ปีการศึกษา โดยจะเร่งดำเนินการเพื่อให้เด็กได้ดื่มนมโรงเรียนได้เร็วที่สุด จากข้อมูลนี้ถือเป็นเรื่องดีที่นอกจากเด็ก ๆ จะได้รับนมในเร็ว ๆ นี้ ยังรวมไปถึงการได้รับนมเป็นการชดเชยในช่วงที่ขาดหายไปด้วย

ทั้งนี้ จากรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ปัจจุบันมีจำนวนเด็กเตี้ยเพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 9.7 เป็น 12.9 โดยส่วนสูงเฉลี่ยเด็กอายุ 12 ปี เพศชาย 147.1 เซนติเมตร เพศหญิง 148.1 เซนติเมตร ส่วนสูงเฉลี่ยอายุ 19 ปี เพศชาย 170.9 เซนติเมตร เพศหญิง 158.1 เซนติเมตร สอดคล้องกับข้อมูลเด็กไทยดื่มนมน้อย เฉลี่ยเพียงครึ่งแก้วต่อวัน วัยเรียนดื่มนมทุกวันเพียงร้อยละ 31.1 วัยรุ่นร้อยละ 14.9 เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ คนไทยดื่มนม 18 ลิตร/คน/ปี อินเดีย 59 ลิตร/คน/ปี ญี่ปุ่น 32 ลิตร/คน/ปี เกาหลีใต้ 30 ลิตร/คน/ปี ขณะที่ค่าเฉลี่ยของคนเอเชีย อยู่ที่ 66 ลิตรต่อคนต่อปี และทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 113 ลิตรต่อคนต่อปี

ที่มา : schoolmilkthai, องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย, สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, www.dla.go.th, thaigov.go.th,

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus