ช้างเต้นระบำ เป้าหมายของ SCB ในยุค 4.0

ช้างเต้นระบำ เป้าหมายของ SCB ในยุค 4.0

เรื่องราวของธนาคารแห่งแรกของประเทศไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงที่มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทำให้ส่งผลกระทบต่อพื้นฐานธุรกิจอย่างรุนแรงจนนำไปสู่การปรับองค์กรครั้งใหญ่

“ผมจะไม่อยู่เป็นคนสุดท้ายของอุตสาหกรรมที่กำลังโดน Disrupt อยู่ในตอนนี้ แต่เราจะเปิดเกมก่อน และเชื่อว่า การที่เราเซ็ทเกมก่อน เราจะสามารถควบคุมเกมนี้ได้” อาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวระหว่างงาน 2020 SCB CEO Vision

 

SCB Transformation คือ พิมพ์เขียวที่ธนาคารเก่าแก่ที่สุด 112 ปีแห่งนี้ซึ่ง “อาทิตย์” บอกว่า ใหญ่และอุ้ยอ้าย ทำให้เขาและทีมผู้บริหารตัดสินใจครั้งสำคัญกับอนาคตของธนาคารผ่านกลยุทธ์ “Going Upside Down” ให้องค์กรขับเคลื่อนเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เหมือนช้างเต้นระบำ ภายใต้สมดุล 5 เรื่องที่สำคัญ ได้แก่

  1. Lean the Bank
  2. High Margin Lending
  3. Digital Acquisition
  4. Data Capabilities
  5. New Business Model

การบอกถึงเป้าหมาย วิธีการดำเนินกลยุทธ์ของ SCB คือการปรับเปลี่ยนการทำงานให้พร้อมสำหรับวันข้างหน้า กล่าวคือ วิธีการ approach จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

นั่นเพราะ SCB มองว่า พฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป ไม่จำเป็นต้องง้อนายธนาคารอีกต่อไป ขณะเดียวกันคู่แข่งที่ข้ามสายธุรกิจเข้ามาแข่งขัน ทำได้เร็วกว่า ตอบสนองได้ดีกว่า

ดังนั้น วิธีการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ กระบวนการที่เรียกว่า Lean the Bank ซึ่งเขาบอกว่า หัวใจของแนวทางนี้คือ ต้องทำให้ cost ลดลง 30%

แน่นอนที่สุดว่า ต้นทุนที่แพงที่สุดในตอนนี้คือ ลงทุนอัพเกรดเรื่องของเทคโนโลยี เพื่อนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต ซึ่งปัจจุบันได้ทุ่มทุนไปกว่า 18,000 ล้านบาท จากงบลงทุนทั้งสิ้น 40,000 ล้านบาท ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร

“ปัจจัยที่เคยนำมาซึ่งความสำเร็จในอดีตของธุรกิจธนาคาร อาจไม่สามารถนำไปสู่การเติบโตในอนาคตได้ เนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาท ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทำให้เกิดคู่แข่งและการแข่งขันที่เปลี่ยนไป

ผลกระทบที่จะเห็นได้ชัดในอนาคตอันใกล้ ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมทางการเงินที่ลดลง และการจัดการรูปแบบการให้บริการของสาขาต้องถูกปรับให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้ามากขึ้น

แน่นอนว่า เรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัลยังคงต้องดำเนินควบคู่ไปกับการสร้างความผูกพันและความไว้วางใจผ่านพนักงาน ดังนั้นธนาคารไทยพาณิชย์จึงพัฒนาพนักงานให้ก้าวไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สู่การเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (Advisory) ที่ลูกค้าไว้วางใจ”

คำกล่าวของอาทิตย์สะท้อนให้เห็นถึงแนวการทำงานจากนี้ว่า จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ห่วงโซ่อุปทานใหม่ถูกบังคับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก คู่แข่ง แม้แต่ลูกค้าที่หมุนเร็วขึ้นและเร็วขึ้น โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวกำหนดการเปลี่ยนแปลง (Disruptive)
วิธีคิดหรือตีความว่า สถานะที่ใหญ่ มีสินทรัพย์มากที่สุด หรือกำไรมากที่สุด ไม่ได้สะท้อนว่าองค์กรจะยั่งยืนตลอดไป

แบงก์ที่มีอายุ 112 ปีกำลังเปลี่ยนตัวเองขนานใหญ่ เพราะต้องก้าวทันเทคโนโลยีและสามารถสนองตอบบริการแบบ Always On ที่ต้องแปลงสถานะของนายแบงก์ไปสู่ธุรกิจ Platform

การมองเห็นภาพกว้าง Landscape และตกผลึกว่า ภาพการแข่งขันของสถาบันการเงินที่ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าอย่างตรงไปตรงมาถึงบริการนั้นจริง ๆ อาจไม่ต้องมีสาขามากเกินไป แต่ต้องสามารถสนองตอบต่อบริการได้ทันท่วงที

สถานการณ์ที่เกิดกับ SCB มีความเหมือนกับหลายๆ อุตสาหกรรมก่อนหน้านี้ อาทิ ธุรกิจสื่อหรือธุรกิจเพลงที่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดการหารายได้แบบใหม่

สูตรการหารายได้อย่างที่อาทิตย์ระบุในตอนต้นว่า เมื่อองค์กรมีต้นทุนที่ต่ำจากเดิม สามารถแข่งขันได้กับทุกคู่แข่งก็ต้องมาดูในมิติต่อไป

จะเห็นได้ว่า ทุกข้อที่กล่าวมา (High Margin Lending ,Digital Acquisition ,Data Capabilities และ New Business Model) SCB กำลังเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการกับระบบห่วงโซ่อุปทานหมดทั้งหมด

การนำข้อมูลทั้งจากบริการที่ร่วมกับพันธมิตร หรือหน่วยงานใหม่ที่ตั้งขึ้น เพื่อวิเคราะห์และนำเสนอบริการได้ทันที จะทำให้ลูกค้าเกิดประสบการณ์ที่ดีกับแบงก์

ขั้นตอนจากนั้น คนที่ส่ง Message ที่ดีที่สุดก็คือ Advisory ซึ่งอาทิตย์พูดอย่างชัดเจนว่า ธนาคารไม่มีนโยบาย Layoff แต่จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น

“ตั้งแต่ปีที่แล้ว เราฝึกอบรมจากพนักงานเคาเตอร์ที่เดิมลาออกเฉลี่ยปีละ 2,000-3,000 คน ให้ปรับบทบาทของตนเอง เพื่อก้าวไปกับธนาคาร โดยส่วนแรกที่ดำเนินการไปแล้วคือ Support ธุรกิจของ Wealth ส่วนต่อไปคือ SME”

การพยายามรักษาสมดุลในตอนนี้ ระหว่างการทำธุรกิจรูปแบบเก่าและเรียนรู้การทำธุรกิจรูปแบบใหม่ เป็นสิ่งที่ปฎิเสธไม่ได้ว่า นี่คือเส้นทางใหม่ที่ทุกๆ อุตสาหกรรมต้องเดิน

เช่นเดียวกับ SCB ซึ่งผู้นำอย่างอาทิตย์พยายามสื่อสารให้คนในองค์กรเข้าใจว่า นวัตกรรมรูปแบบใหม่จะเข้ามาช่วยเสริมธุรกิจหลักให้ดีขึ้นได้อย่างไร หมายถึงการสนองตอบของ Supply Chain ที่ต้องอาศัยแพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้สามารถตอบรับการใช้งานในชีวิตประจำวันหรือในธุรกิจของลูกค้าควบคู่กับความปลอดภัยสูงสุดในทุก ๆ ด้าน

ถึงเวลานั้น ช้างใหญ่ตัวนี้อาจเริงระบำอย่างที่อาทิตย์บอกไว้ก็เป็นได้