ทำไม 50 บาทซื้อ ‘ข้าวกะเพรา’ ได้ แต่ซื้อ ‘สลัดผัก’ ไม่ได้?

หากพูดถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีความต้องการที่หลากหลาย และมักเปลี่ยนแปลงไปตามเทรนด์ ตามกระแสนิยม หรือ ตามกาลเวลา ซึ่งพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงล่าสุดของผู้บริโภค ก็คือ การหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น โดยจะเน้นอาหารที่มีประโยชน์ อย่างพวกผัก การลดหวาน การลดเครื่องปรุงหรือตัวชูรส การเลือกรับประทานควินัวเนื่องจากควินัวมีไฟเบอร์สูง ช่วยในเรื่องของการย่อยอาหาร และยังช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ทำให้หลายผู้ประกอบการเห็นช่องทางในการทำธุรกิจ จึงได้มีการพัฒนาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพออกมาอย่างมากในท้องตลาด

แต่ทั้งนี้สินค้าที่ได้มีการนำออกมาวางจำหน่ายก็อยู่ในระดับสูง ซึ่งผู้ประกอบการก็มีการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดอย่างการโฆษณาในเรื่องวัตถุดิบเป็นหลัก เพื่อให้ผู้บริโภคคล้อยตาม และไร้ซึ่งการตั้งคำถามในเรื่องของราคา โดยในตลาดอาหารเพื่อสุขภาพนั้นส่วนมากกลุ่มเป้าหมายลูกค้าจะอยู่ในระดับกลางถึงบน เพราะการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพไม่สามารถกินแค่วันเดียวแล้วจะเห็นผล แต่ต้องกินอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเครื่องปรุงอาหารสุขภาพก็มีราคาที่แพงกว่าเครื่องปรุงทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น น้ำปลาสูตรลดน้ำตาลและเกลือโซเดียมราคาจะเฉลี่ยอยู่ที่ 45 บาท ในขณะที่น้ำปลาสูตรปกติ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 30 บาท เป็นต้น โดยจะเห็นได้ว่าสินค้ามีความต่างของราคาค่อนข้างมาก โดยจากการอ้างอิงข้อมูลของ Statista ระบุว่า มูลค่าตลาดอาหารเพื่อสุขภาพในไทยคาดจะสูงถึงกว่า 9 พันล้านเหรียญในปี 2568

สำหรับอาหารเพื่อสุขภาพที่ผู้บริโภคให้ความนิยมมาก ก็คือ สลัดผัก สลัด โรล แซนวิชสลัด สลัดแรปโรล ไข่ต้ม อกไก่ มันหวาน โปรตีนเชค กล้วย เนื่องจากสามารถหาได้ง่ายตามร้านสะดวกซื้อ และตามท้องตลาดต่าง ๆ แต่ถึงแม้จะหาได้ง่ายก็ยังสวนทางกับราคา เพราะหากเทียบในเรื่องของปริมาณที่ต้องรับประทานให้อิ่ม หรืออยู่ท้องนั้นราคาก็ยังอยู่ในระดับสูง แม้จะขายในราคา 55 บาทก็ตาม

ทั้งนี้ ‘Business+’ จึงได้ลองเปรียบเทียบอาหารปกติ กับ อาหารเพื่อสุขภาพทั้งในเชิงของปริมาณ และราคา ปรากฎว่า ราคาสลัดผักที่พบตามท้องตลาดนั้นราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 55 บาท แต่ปริมาณที่ได้รับไม่เพียงพอต่อความต้องการในร่างกาย หรือเข้าใจง่าย ๆ ก็คือไม่อิ่มอยู่ท้อง ขณะที่ตามห้างสรรพสินค้าจะขายสลัดผักแบบชั่งขีด เริ่มต้นเฉลี่ยที่ขีดละ 39-45 บาท และจากผลการทดสอบในการตักแต่ละครั้งจะอยู่ที่ 2-3 ขีดขึ้นไปรวมน้ำสลัดผัก ซึ่งราคาในการซื้อแต่ละครั้งก็จะแตะ 100 บาท

แต่เมื่อลองเปรียบเทียบการซื้อข้าวกะเพรา ข้าวหมูทอดกระเทียม ตามร้านอาหารตามสั่งทั่วไปจะมีราคาเพียงแค่ 50 บาท ซึ่งก็จะเห็นถึงความต่างอย่างชัดเจนทั้งในเรื่องปริมาณที่อิ่มอยู่ท้อง นอกจากสองเมนูนี้แล้วยังมีอีกหลายเมนูที่สามารถซื้อได้ในราคา 50 บาท และให้พลังงานที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อีกทั้งยังมีเมนูข้าวที่มีราคาต่ำกว่า 50 บาทด้วย ซึ่งแตกต่างกับอาหารเพื่อสุขภาพที่หาได้ยากในราคา 50 บาท

ทั้งนี้จึงทำให้เกิดข้อสงสัยในการตั้งราคาขายของอาหารเพื่อสุขภาพที่ว่า ไทยได้ชื่อว่าเป็น ‘อู่ข้าวอู่น้ำ’ อีกทั้งยังเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก เรียกได้ว่ามีความอุดมสมบูรณ์อย่างมากแต่ทำไมราคาขายอาหารในประเทศถึงมีราคาแพง ทั้งที่เพาะปลูกเอง และมีวัตถุดิบที่หลากหลายไม่ได้ใช้วัตถุดิบนำเข้ามาเป็นส่วนประกอบในเมนูด้วยซ้ำ ซึ่งอาจจะอนุมานได้ว่าการเกษตรต้องเผชิญกับหลายปัจจัยทำให้การเก็บเกี่ยวแต่ละครั้งไม่ได้ตามเป้าหมาย แต่ขณะที่พวกเนื้อสัตว์ก็ต้องเผิชญสิ่งเหล่านั้นเหมือนกันแต่การขายที่นำมาแปรรูปแล้วกลับมีราคาที่ถูกและจับต้องได้มากกว่า

อย่างไรก็ดีแม้ราคาจะอยู่ในระดับสูงแต่ความต้องการก็ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงทำให้ผู้ประกอบการอาจไม่ได้คำนึงถึงการตั้งราคาขาย แต่เป็นการเฟ้นหาวัตถุดิบคุณภาพเพื่อสร้างความแตกต่าง และสร้างแบรนด์เพื่อให้เป็นที่จดจำของผู้บริโภค ซึ่งยิ่งผู้บริโภคมีความต้องการมากเท่าไหร่ผู้เล่นในตลาดนี้ก็จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

.

ที่มา : statista, cnbc

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

.

#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #อาหารเพื่อสุขภาพ #ข้าวกะเพรา #สลัดผัก #อาหารสุขภาพ