นโยบาย ‘ปูติน’ ทำส่งออก-นำเข้า ‘รัสเซีย’ เสียสมดุล บีบคู่ค้าพลังงาน-สั่งภาคธุรกิจแลกเปลี่ยนรายได้เป็นรูเบิล สร้างผลกระทบมากกว่าที่คิด!!

หลังจากเกิดสงครามระหว่าง ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ในช่วงที่ผ่านมาได้ทำให้รัสเซียถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียอ่อนค่าลงอย่างหนัก (ร่วงลงกว่า 70% ในช่วงแรก)

อย่างไรก็ตามค่าเงินรูเบิลดีดกลับมาสู่ระดับก่อนสงครามได้อย่างรวดเร็ว หลังธนาคารกลางรัสเซีย ได้ทำการปกป้องค่าเงินรูเบิลด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 9.5% สู่ 20% เพื่อที่จูงใจให้ชาวรัสเซียยังคงถือ และออมเงินเป็นเงินสกุลรูเบิล พร้อมออกมาตรการต่าง ๆ เช่น มาตรการควบคุมการไหลเข้าออกของกระแสเงินทุนจากรัสเซีย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการไหลออกของเงินทุนแบบฉับพลัน ซึ่งอาจนำมาสู่การล่มสลายของค่าเงินรูเบิล

นอกจากนี้ ประธานาธิบดี ‘วลาดิมีร์ ปูติน’ ยังเป็นผู้ลงนามในคำสั่งบังคับให้บริษัทต่าง ๆ แลกเปลี่ยนรายได้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศไปเป็นเงินรูเบิลอย่างน้อย 80% รวมไปถึงการใช้มาตรการบังคับให้ประเทศที่ไม่เป็นมิตรแต่ต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียต้องชำระค่าพลังงานด้วยเงินสกุลรูเบิลเท่านั้น

โดยมาตรการเหล่านี้ได้ทำให้ค่าเงินรูเบิลดีดกลับมาแข็งค่าได้อย่างรวดเร็ว โดยค่าเงินรูเบิลที่แข็งค่าขึ้นไปสถิติสูงสุดในรอบหลายปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ (แข็งค่าขึ้น 2.4% ในวันที่ 24 พ.ค.2565 ขึ้นมาที่ 56.61 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่สูงสุดในรอบกว่า 4 ปี)

ถึงแม้มาตรการเหล่านี้จะช่วยยับยั้งการแข็งค่าของค่าเงินรูเบิลได้ แต่หากค่าเงินแข็งเกินไปกลับเหมือนเป็นดาบสองคม เพราะค่าเงินที่แข็งค่านั้น มีทั้งผลดี และผลเสียในเชิงมหภาค โดยค่าเงินที่แข็งค่าจะทำให้ราคาสินค้าส่งออกโดยรวมปรับตัวสูงขึ้น และยังทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าต่ำลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ไม่ใช่พลังงาน

ขณะเดียวกันผลจากการถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ จะทำให้การส่งออกและนำเข้าสินค้าของรัสเซียเสียสมดุลย์ และผิดปกติ โดยการส่งออกที่ได้ประโยชน์ก็จะจำกัดอยู่ในอุตสาหกรรมพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับราคาสูงขึ้น ส่วนการนำเข้าก็ไม่สามารถนำเข้าสินค้าสำคัญหลายรายการที่ถูกคว่ำบาตร และในที่สุดการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้จะหดตัวอย่างรุนแรง

ในเดือนที่ผ่านมามีการประเมินว่าการนำเข้าหดตัวลงประมาณครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่าเทียบเท่ากับเมื่อสองทศวรรษที่ผ่านมานับเป็นสัญญาณไม่ดีกับประเทศต่าง ๆ รวมทั้งไทยที่ส่งออกสินค้าไปยังรัสเซีย

ซึ่งในมุมมองของ ‘Yevgeny Kogan’ ศาสตราจารย์ Higher School of Economics ของมอสโก มองว่า อัตราที่ค่าเงินรูเบิลที่แข็งแกร่งขึ้นจะยิ่งทำให้เกิดการขาดสมดุลย์มากยิ่งขึ้น เพราะจะทำให้สิ่งต่าง ๆ ยากขึ้น สำหรับผู้ส่งออก โดยจะเป็นการเพิ่มต้นทุนและทำให้มีรายได้ลดลง

ในแง่ของการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ขณะนี้รัสเซียต้องพยายามผ่อนคลายมาตรการควบคุมเงินทุน เนื่องจากค่าเงินรูเบิลได้พุ่งสูงขึ้นจนมีผลกระทบทำให้รายได้จากการส่งออกลดลง

โดยกระทรวงการคลังระบุในถ้อยแถลงว่าจะปรับลดสัดส่วนรายได้ของสกุลเงินต่างประเทศของผู้ส่งออกที่เคยถูกกำหนดให้ต้องแปลงเป็นเงินรูเบิลจาก 80% ลงเหลือ 50%

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ธุรกิจ #ค่าเงิน #รูเบิล #ส่งออกนำเข้า #รัสเซีย #สงครามรัสเซียยูเครน