เชือด!! โปแลนด์และบัลแกเรีย สัญญาณเตือน รัสเซีย โคตรแข็งแกร่ง เรากำลังจะเห็นกำเนิด ‘เปโตรรูเบิล’ รึเปล่า?

เมื่อวานมีรายการเชือดไก่ให้ลิงดูหลัง 2 ประเทศอย่างโปแลนด์และบัลแกเรียอาจหาญประกาศว่าจะไม่ใช้แก๊สจากรัสเซียภายในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ (เดือนตุลาคม 2022) เพราะจะหันไปเพิ่งพาท่อแก๊สจากทางนอร์เวย์แทน (คาดว่าสร้างเสร็จช่วงตุลาคม 2022) เพราะท่อแก๊สจากทางนั้นดูเหมือนจะสร้างเสร็จแล้วและใกล้น่าจะพร้อมใช้เต็มแก่ อารมณ์เหมือนมีทางเลือกเยอะก็เลยเริ่มทำกร่าง ซึ่งแน่นอนทางรัสเซียก็ไม่รอช้าตัดสินใจสั่งสอนด้วยการระงับการส่งแก๊สไปทั้งสองประเทศทันทีโดยมีผลในวันที่ 27 เมษายน 2022 ที่ผ่านมา และผลจากเหตุการณ์นี้ก็ทำให้ราคาแก๊สพุ่งขึ้นไปมากกว่า 16% ใน 2 วันโดยราคาไปอยู่ที่ราว 107 ยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง ซึ่งการทำแบบนี้ก็มีแต่จะทำให้ตัวเองเจ็บตัวทั้งคู่สำหรับทั้งโปแลนด์และบัลแกเรีย

หากย้อนกลับไปในช่วงวันศุกร์ที่ 22 เม.ย. 2022 ทางคณะกรรมาธิการยุโรป European Commission ได้ออกมาบอกว่า การจ่ายค่าแก๊สผ่านรูปแบบที่ทางรัสเซียกำหนดไม่เป็นการละเมิดข้อตกลงที่ทำกันไว้ รูปแบบที่ว่าคือ : การจ่ายค่าแก๊สให้กับรัสเซียเป็นสกุลเงินรูเบิลผ่านธนาคาร Gazprombank JSC โดยบริษัทจากยุโรปที่ซื้อแก๊สจากรัสเซียจะต้องเปิดบัญชี 2 บัญชี บัญชีแรกเป็นบัญชีสำหรับสกุลเงินต่างชาติ และอีกบัญชีสำหรับสกุลเงินรูเบิล เวลาจ่ายบริษัทในยุโรปจะจ่ายเป็นดอลลาร์สหรัฐเข้ามาในบัญชีแรก และทาง Gazprombank JSC จะทำการเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐไปเป็นรูเบิลให้ ต่อจากนั้นทางธนาคารก็จะโอนเงินไปให้บริษัทผู้ผลิตแก๊สของรัสเซียอีกต่อหนึ่งซึ่งก็คือ Gazprom

จริง ๆ ก่อนหน้านี้ก็ทำท่าว่าจะไม่ยอมสำหรับสหภาพยุโรป แต่ในความเป็นจริงนั้นยากมากที่จะไม่ยอมรัสเซียได้ เพราะอย่างที่ได้เคยบอกไปว่าสหภาพยุโรปพึ่งพาแก๊สรัสเซียในปริมาณที่สูงมาก โดยสัดส่วนนำเข้าก๊าซจากรัสเซียมากถึง 45% เลยทีเดียวในปี 2021 ขณะที่นอร์เวย์อันดับ 2 ที่ 24% ขณะที่ตอนนี้โปแลนด์นำเข้าก๊าซรัสเซียมากถึง 45% ขณะที่บัลแกเรียยิ่งแล้วใหญ่นำเข้ามากถึง 90% จากรัสเซีย คำถามคือแก๊สจากนอร์เวย์มีเพียงพอรึเปล่าที่จะรองรับความต้องการของยุโรปที่จะแบนรัสเซียทั้งหมดรึเปล่า ถ้าไม่พอจะไปหามาจากไหน เพราะถ้ามองไปที่แอลจีเรียซึ่งเป็นอันดับ 3 ที่ 13% และสหรัฐอเมริกาอันดับที่ 4 อยู่ที่ 7% ซึ่งประเทศเหล่านี้ไม่ได้ส่งผ่านท่อแน่นอนต้องอัดใส่เรือแล้วส่งมาราคาก็จะแพงกว่าที่ใช้จากรัสเซียอีกไม่รู้กี่เท่า ตรงนี้ก็จะไปดันเงินเฟ้อให้พุ่งและส่งต่อไปสู่ราคาอาหาร สินค้า และบริการต่อไป

เมื่อประชาชนเผชิญสถานการณ์เช่นนี้การประท้วงจลาจลก็จะตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ คราวนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะหยุดชะงักอีกครั้งและนำไปสู่การล่มสลายทางเศรษฐกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่มีก็หมายถึงไม่มีรายได้เช่นกัน (เหมือนที่ยูเครนเป็นอยู่ในตอนนี้ก็คืออยู่ในสภาวะสงครามเต็มตัวการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็แทบเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้เลย) แล้วหนี้สินทั้งหมดที่สร้างเอาไว้ผ่านตราสารหนี้ก็จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ตามมาเนื่องจากไม่มีเงินไปใช้หนี้เขา เมื่อผิดนัดชำระหนี้เขาเครดิตความน่าเชื่อที่จะกู้เงินก็ไม่มีและถ้าจะกู้เงินก็จะเจอดอกเบี้ยสูงเสียดฟ้าตามมา (รายละเอียดตรงนี้ยังขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นหนี้ในลักษณะไหนระหว่างเป็นในรูปสกุลเงินตัวเองหรือสกุลเงินต่างประเทศ)

เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นชะตากรรมที่กำลังรออยู่แบบนี้แล้วทุกชาติต่างก็รู้ดีแก่ใจว่ายังไงก็ต้องพึ่งพารัสเซียอย่างเลี่ยงไม่ได้ พวกเขาก็ต้องแก้เกมอย่างกรณีของ เยอรมัน ที่ได้ยึดบริษัทลูกของแก๊ซปรอมอย่าง Gazprom Germania มาเป็นของชาติ หรือการทำ Nationalization นั่นเอง (กระบวนการแปลงทรัพย์สินของเอกชนมาเป็นของรัฐบาล) โดยยึดครั้งนี้ก็น่ารักเป็นการยึดแบบมีกำหนดเวลา (อารมณ์ประมาณว่าเดี๋ยวคืนให้นะ ตรงนี้เยอรมันกับรัสเซียคงคุยกันแล้ว) วันที่คืนคือหลัง 30 ก.ย. 2022 คำถามคือทำไมต้องทำแบบนี้

คำตอบง่ายมากเพราะถ้าหากยังคงเป็นของรัสเซียอยู่บริษัท Gazprom Germania ก็ไม่สามารถนำเข้าน้ำมันและก๊าซจากนานาชาติได้ เพราะรัสเซียถูกแซงก์ชั่นทางการเงินและเศรษฐกิจอยู่ไม่สามารถขอเครดิตได้ แต่ถ้าทำการเปลี่ยนเจ้าของมาเป็นของประเทศเยอรมันไปเลยก็จะสามารถขอเครดิตดำเนินการซื้อขายน้ำมันและก๊าสในระดับนานาชาติต่อไปได้ และล่าสุดเมื่อวานนี้ (27 เมษายน 2022) รัฐบาลอิตาลีก็กำลังจะทำแบบเดียวกันกับเยอรมัน ด้วยการยึดโรงกลั่นน้ำมัน ISAB ของบริษัท Lukoil มาเป็นของชาติซึ่งก็คาดว่าจะแก้เกมตรงนี้เช่นกัน โดยโรงกลั่นของ ISAB น้ำเข้าน้ำมันจากรัสเซียมากกว่า 30% และจากชาติอื่น ๆ อีก 70% (มีปริมาณสัดส่วนการกลั่นมากถึง 22% ใหญ่ที่สุดในประเทศ ตั้งอยู่บนเกาะซิซิลี ของอิตาลี) ซึ่งตอนนี้ซื้อขายในส่วน 70% ไม่ได้แล้วกับนานาชาติก็เหลือแต่กับรัสเซียที่ดูเหมือนในไม่ช้าก็จะต้องถูกแบนไปด้วย เพราะฉะนั้นทางออกก็คือยึดแล้วเดี๋ยวค่อยคืนให้แบบเยอรมัน

แต่ก็มีรายงานข่าวเมื่อไม่นานมานี้ออกมาว่าสุดท้ายแล้วชาติที่ผลักดันให้แบนนั่นแบนนี่ของรัสเซีย ดันกลายเป็นผู้ที่ซื้อของรัสเซียเสียงเองแล้วก็เอามาขายต่อให้ชาติในยุโรปอีกต่อหนึ่งทำกำไรซึ่งนั่นก็คือ สหรัฐอเมริกา เราจะเห็นว่าสุดท้ายแล้วยังไงสินค้าโภภัณฑ์ของรัสเซียนาทีนี้ก็ดูเหมือนจะขายได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่ดี และเมื่อถูกบังคับให้ขายเป็นรูเบิลมากขึ้นเรื่อย ๆ ความต้องการรูเบิลก็จะมากตามไปด้วย เราจึงเห็นค่าเงินรูเบิลที่มีทรัพยากรของชาติหนุนหลังอยู่แข็งค่าไม่หยุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 73.05 รูเบิล (28/04/2022) แม้ดอลลาร์สหรัฐจะดูแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินต่าง ๆ ทั่วโลกด้วยกันก็ตามมา แต่ต้องไม่ลืมว่าพวกนั้นสกุลเงินพวกนั้นก็ไม่มีอะไรหนุนหลังเหมือนกัน

และสัญญาณบวกอีกอันสำหรับรูเบิลก็คือ Uniper บริษัทไฟฟ้าเยอรมันได้ประกาศแล้วว่าจะยอมจ่ายค่าก๊าซให้กับรัสเซียเป็นรูเบิล!! รวมไปถึงข่าวอีกชิ้นจากทาง Blomberg ที่ว่าตอนนี้กลุ่มประเทศใน อียู ยังดูงงกับแนวทางการห้ามจ่ายค่าพลังงานให้กับรัสเซียเป็นรูเบิลอยู่ในขณะนี้ ตรงทาง คณะกรรมาธิการยุโรป หรือ European Commission ได้คุยกับเอกอัครราชทูตประเทศต่าง ๆ แบบเป็นความลับ โดยสมาชิกประเทศต่าง ๆ ได้ยกประเด็นเรื่องความชัดเจนว่าผู้ซื้อจะต้องไม่ใช้วิธีขัดตาทัพใดเพื่อยอมทำตามความต้องการของทางเครมลิน

เขียนและเรียบเรียง : เอกพล มงคลพัฒนกุล

ที่มา : Reuters, RT, Bloomberg

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #โปแลนด์ #บัลแกเรีย #ก๊าซรัสเซีย #รัสเซียยูเครน #พลังงาน #เงินเฟ้อ #ราคาก๊าซ #แก๊สรัสเซีย