เครื่องสลัดน้ำผักอินทรีย์ มทร.ธัญบุรี ลดการสูญเสีย

ยุทธศาสตร์ในเรื่องเกษตรอาหาร เป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่ทาง ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.ธัญบุรี) ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อตอบโจทย์ของทางภาครัฐในการเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารสู่การเป็นครัวโลกของประเทศไทย ขยายบทบาทสู่ภาคบริการ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร มุ่งสู่ เกษตร 4.0 ภายใต้ Thailand 4.0 โครงการพัฒนาคลัสเตอร์เทคโนโลยีทางการเกษตร ที่ทาง มทร.ธัญบุรี ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อให้ภาคการเกษตรในปัจจุบันมีการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในภาคการเกษตรมากขึ้น และยังเป็นการเพิ่มอาชีพให้กับเกษตรกร โดย “เครื่องสลัดน้ำผักอินทรีย์” เป็นเทคโนโลยีทางการเกษตรอีกหนึ่งชิ้นงาน คนหันมาดูแลสุขภาพรักและต้องการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยสูง ผักอินทรีย์ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ได้รับความนิยม เกษตรกรจึงได้หันมาปลูกผักอินทรีย์ จากรายเดี่ยวกลายเป็นวิสาหกิจชุมชน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มโน สุวรรณคำ ผู้อำนวยการกองกลาง และผู้ดูแลโครงการ เล่าว่า คลัสเตอร์เทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์กาฬสินธุ์ เป็นการรวมตัวของเกษตรกรในการปลูกผักสลัดอินทรีย์เพื่อวางจำหน่ายในSupermarket พบว่า ผักสลัดที่ตัด ต้องนำมาล้าง มาตกแต่งใบ การล้างต้องเอาน้ำออกจากผักให้หมด เพื่อรักษาคุณภาพและอายุของผัก ลักษณะของผักสลัดนั้นมีซอก มีความหยิกงอ เกษตรกรต้องสลัดด้วยมือ โดยกว่าน้ำจะออกหมดใช้เวลานาน บางครั้งแรงงานคนทำไม่ไหว ไม่ทันเวลา ถ้าทำช้า คุณค่าของอาหารจะลดลง ตามอุณหภูมิ สภาพแวดล้อม ถ้าสลัดน้ำออกไม่ให้ผักเน่าเสียเร็ว เมื่อนำไปแพ็คถุง หรือถ้าสลัดแรงเกินไปทำให้ผักช้ำ ซึ่งในระบบอุตสาหกรรมมีเครื่องจักรที่ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว ลักษณะเครื่องการวางผักบนสายพาน ใช้ระบบเป่าลมลงไปที่ผัก ด้วยราคาที่สูงเกษตรกรหรือกลุ่มวิสาหกิจไม่มีกำลังซื้อ ซึ่งได้มี ผศ.ดร.เกียรติศักดิ์ แสงประดิษฐ์ ผอ.หน่วยบ่มเพาะธุรกิจ มทร.ธัญบุรี ได้คิดค้นเครื่องสลัดน้ำผักอินทรีย์ขึ้นมา โดยเป็นเทคโนโลยีง่าย ๆ เกษตรกรสามารถประยุกต์ ทำเองได้ ซ่อมเองได้

ผศ.ดร.เกียรติศักดิ์ อธิบายว่า เครื่องสลัดน้ำผักอินทรีย์มีลักษณะการทำงานใช้แรงเหวี่ยงหนีศูนย์ ด้วยระบบมอเตอร์หมุนถัง และสลัดน้ำออกจากผักโดยใช้เวลาเพียง 1 – 2 นาที ตัวเครื่องทำจากสแตนเลส สูง 130 ซม. กว้าง 90×90 ซม. ควบคุมการทำงานด้วยมอเตอร์ด้านล่างถัง การใช้งานนั้น เกษตรกรนำผักสลัดที่ล้าง ตัดแต่งใบแล้ว ใส่ลงตะกร้า โดย 1 ตะกร้า สามารถใส่ผักได้ประมาณ 1 กิโลกรัม นำตะกร้าว่างลงไปในถัง ในถังสามารถวางผักสลัดได้ 3 ตะกร้า จากนั้นล็อคตะกร้าผักสลัด เปิดเครื่องมอเตอร์ด้านล่างถังหมุนเครื่อง (การทำงานเหมือนถังปั่นผ้า) การหมุนด้วยความเร็วรอบเพียงพอที่ไม่ทำให้ผักช้ำ ผักจะแห้ง ทำให้เกษตรกรนำไปแพ็คได้ทันที ลดต้นทุนแรงคนรวมถึงลดเวลาในการทำงาน รักษาคุณภาพของผักไม่ให้สูญเสีย ได้บริโภคผักที่มีคุณค่าทางอาหาร เกลือแร่และแร่ธาตุ สามารถยืดอายุการวางผักบนชั้นได้มากขึ้น

ซึ่ง ผศ.ดร.มโน เพิ่มเติมว่า ใน Value Chain ของการผลิตผักอินทรีย์ ตั้งแต่ Farm-to-Fork นั้น ต้องการผักอินทรีย์ที่มีคุณภาพ มีปริมาณผลการผลิตที่สม่ำเสมอ จะทำให้ผู้รับซื้อมีความมั่นใจในการขยายตลาด กำหนดราคาที่เป็นธรรม เกิดเป็น Value Chain ที่เกื้อหนุนต่อผู้ผลิต ผู้แปรรูป ผู้ขาย และผู้บริโภคได้ และขอเชิญชวนนักวิจัยช่วยกัน สร้างเกษตรกรให้มีความพร้อมในด้านการผลิต การเก็บเกี่ยว และช่วย SME ในกระบวนการแปรรูป จนถึงการเสิร์ฟต่อไป