RMUTTกับภารกิจมุ่งสู่มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม

 

ภายใต้เป้าหมายใหม่ที่มุ่งสู่การเป็น Innovative University นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่มีรากฐานจากการมุ่งผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ มาสู่วิชั่นใหม่ที่มุ่งพัฒนาบัณฑิตที่สามารถสร้างงานด้วยนวัตกรรม เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิชาชีพและเทคโนโลยีชั้นสูงรองรับยุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ Industry 4.0 สถาบันการศึกษานับว่าเป็นบริบททางสังคมที่มีบทบาทอย่างมากในการผลิตบัณฑิตที่มีทักษะความชำนาญด้านวิชาชีพ โดยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

 

ทั้งนี้ รศ.ดร. ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เปิดเผยว่า ทิศทางของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี นับจากนี้จะมุ่งส่การเป็น Innovative University ภายใน 20 ปีข้างหน้า ซึ่งการที่จะพัฒนาไปสู่มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมได้นั้น ทางมหาวิทยาลัยได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาทั้งตัวบุคลากร และหลักสูตร

 

โดยเริ่มจากการพัฒนาที่ตัวอาจารย์เป็นอันดับแรก ซึ่งที่ผ่านมา มทร.ธัญบุรี ใช้ระบบการศึกษาแบบผสมผสานอยู่ 2 ด้านคือ ด้านที่ 1 พัฒนาครูที่เน้นการเรียนการสอนที่เน้นปฏิบัติ โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Aachen (อาเค่น) ประเทศเยอรมนี ในการส่งอาจารย์ไปอบรมในการเป็นไทยไมซ์เตอร์ทุกปิดภาคเรียน

 

ด้านที่ 2 คือ การพัฒนาศักยภาพคณาจารย์ผู้สอนด้วยรูปแบบการสอนจากภายในประเทศ เช่น การจัดการเรียนการสอนสะเต็ม (STEM Education) และต่างประเทศ ได้แก่ การจัดการเรียนการสอนซีดีไอโอ (CDIO-based Education) การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) โดยได้รับความร่วมมือจาก Temasek Foundation Internationals และ Singapore Polytechnic ประเทศสิงคโปร์ และ CDIO Worldwide Initiatives มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ Chalmers University of Technology ประเทศสวีเดน การสอนระดับมหาวิทยาลัยฟินแลนด์โมเดล (Finnish University Pedagogy) โดยได้รับความร่วมมือจาก Finland University และ University of Tampere ประเทศฟินแลนด์

 

และล่าสุด มทร.ธัญบุรี ยังได้เปิดสถาบันพัฒนาศักยภาพอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาต้นแบบ (Smart Teacher Training Academy) ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการในการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ Active Learning เพื่อนำมาพัฒนาคณาจารย์กลุ่ม 9 ราชมงคล

นอกจากนี้ รศ.ดร. ประเสริฐ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากการพัฒนาอาจารย์ที่มีศักยภาพแล้ว สิ่งต่อมาที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญไม่แพ้กัน คือ การผลักดันให้เกิดบัณฑิตนักปฏิบัติเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษานอกจากมีความรู้ตามสาขานั้นแล้ว จะต้องมีทักษะและความคิดในเชิงระบบ สามารถทำงานร่วมกับบุคคลที่หลากหลายเชื้อชาติ ถ่ายทอดและสื่อสารได้หลายภาษา

 

ทั้งนี้ มทร.ธัญบุรี ได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงหลักสูตร การเรียนการสอน โดยทุกหลักสูตรการเรียนการสอนหลังจากนี้จะต้องตอบโจทย์โลกอาชีพอนาคตใน 10 S-Curve

 

โดยมีหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่เป็นหลักสูตรนำร่อง ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้เปิดหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ระดับปริญญาตรี 8 หลักสูตร ซึ่งตอบโจทย์ 5 S-Curve ของรัฐบาล โดยเน้นไปที่อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ธุรกิจการบิน อิเล็กทรอนิกส์อากาศยาน รถไฟความเร็วสูง และสมาร์ตฟาร์ม

 

นอกจากพัฒนาหลักสูตรจนตอบโจทย์แล้ว10 S-Curve ทางมหาวิทยาลัยยังกำหนดให้หลักสูตร ทุกรายวิชา ทำการเรียนการสอนคู่ไปกับภาคเอกชน หรือภาคอุตสาหกรรม โดยทุกปิดภาคเรียน นักศึกษาต้องเข้าไปฝึกงานในภาคอุตสาหกรรม

 

ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยยังมีแผนที่จะรับงานจากภายนอก เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอน เพื่อให้นักศึกษานั้นได้ปฏิบัติอย่างจริงจัง ทำงานอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังกำหนดให้อาจารย์ทุกคนทำวิจัย และต้องเป็นงานวิจัยแบบมัลติสกิลที่เจาะจงไปที่อุตสาหกรรม 4.0 หรืออุตสาหกรรมอัตโนมัติ อาหารปลอดภัย วัสดุไบโอเทค นาโนเทค และสุขภาพ

 

รวมถึงความร่วมมือกับต่างประเทศ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้ร่วมมือประเทศจีน และเยอรมนี ในการพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ และเปิดหลักสูตรอิเล็กทรอนิกส์อากาศยานร่วมกับมหาวิทยาลัยอาเค่น ตลอดถึงการจัดการเรียนการสอนเรื่องรถไฟความเร็วสูง และออกแบบรางรถไฟ ร่วมกับมหาวิทยาลัยลิ่วโจว และมหาวิทยาลัยปักกิ่ง

 

นอกเหนือจากหลักสูตรพันธุ์ใหม่แล้ว มทร.ธัญบุรี ยังมีโครงการที่จะปรับปรุงหลักสูตรเดิมอีก 54 หลักสูตร ให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนที่จะเปิดการเรียนการสอนปีการศึกษาหน้า

 

“เราตั้งเป้าที่จะกลายเป็น Innovative University ในอีก 20 ปีข้างหน้า เราต้องพัฒนาที่ตัวผู้สอนก่อน หลังจากนั้นเราจะทำการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบนวัตกรรมทั้งหมด นักศึกษาต้องเรียนแบบเน้นการปฏิบัติ และฝึกงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม และต้องได้รับการฝึกทักษะ 4 สมรรถนะ ซึ่งได้แก่ ภาษา ICT ทักษะสังคม และทักษะของผู้ประกอบการ