มทร.ธัญบุรี ลงนามร่วม 5 บริษัทเอกชนทั้งในและต่างประเทศ พัฒนาและต่อยอดงานวิจัยเชิงพาณิชย์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ร่วม 4 บริษัท พัฒนาและต่อยอดงานวิจัยเชิงพาณิชย์

สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี จัดประชุมและลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา นำโดย วิรัช โหตระไวศยะ รักษาราชการแทน อธิการบดี มทร.ธัญบุรี พร้อมด้วย พงศ์พิชญ์ ต่านภูษา รองอธิการบดีดูแลทรัพย์สินทางปัญญา และ ผศ.ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา

พร้อมผู้บริหาร 4 บริษัทเอกชน ได้แก่ บุญชู สมบูรณ์ศักดิกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี.ซี.แอล.อินเตอร์ จิราทิพย์ ซูกิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอพรอสเพอร์ จำกัด คนิตพัฒน์ รีศิริวัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซฟเวอร์ เอนเนอจี อินโนเวชั่น เอนจิเนียริ่ง จำกัด รุ่งฤดี ชัยสว่างวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะบิสซิเนส เซ็นเตอร์ จำกัด และ Mr. Takashi Umeki กรรมการผู้จัดการ บริษัท Nanobest Japan Co.,Ltd. (ประเทศญี่ปุ่น) ณ ห้องประชุมรัตตอุบล ชั้น 4 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 48 พระชันษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี

วิรัช โหตระไวศยะ รักษาราชการแทนอธิการบดี เผยว่า ทางสถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.ธัญบุรี ได้ผลักดันงานวิจัยของนักวิจัย เพื่อนำไปพัฒนาและต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ทางมหาวิทยาลัยได้จดอนุสิทธิบัตรในชื่อของมหาวิทยาลัย ทางสถาบันวิจัยและพัฒนานำไปแสดงนิทรรศการตามเวทีต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยได้รับความสนใจจากบริษัทเอกชนจำนวนมาก สำหรับงานวิจัยที่ได้รับความสนใจในเชิงพาณิชย์ ประเภทกลุ่มเครื่องสำอาง สุขภาพความงาม นวัตกรรมด้านวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งทางบริษัทเอกชนได้เข้ามาหารือและขออนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของทางมหาวิทยาลัย

 

สำหรับงานวิจัยที่ได้รับการขออนุญาตใช้สิทธิในอนุสิทธิบัตรในครั้งนี้ประกอบด้วย สูตรและกรรมวิธีการสกัดสารจากตำรับสมุนไพรสำหรับบำรุงเส้นผม เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและอาหารเสริม สารสกัดเงาะสีชมพูสำหรับใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ยา เครื่องสำอาง และเสริมอาหาร อุปกรณ์ระบายความร้อนของคอยล์ร้อนโดยใช้น้ำกลั่นจากกระบวนการควบแน่นที่คอยล์เย็น และสินค้าน้ำแร่บำรุงผิวหน้า

 

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยและนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ ที่ทางมหาวิทยาลัยผลักดันและยกระดับศักยภาพการวิจัยมุ่งเป้าที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์พร้อมใช้อีกจำนวนมาก

ทางด้าน บุญชู สมบูรณ์ศักดิกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี.ซี.แอล.อินเตอร์ กล่าวเพิ่มเติม สำหรับผลิตภัณฑ์จัสท์โมเดิร์นอยู่ในตลาดมานาน โดยปัจจุบันผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มาจากธรรมชาติมากขึ้น ในการลงนามสัญญาอนุญาตโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์แก้ปัญหาผมร่วง จากสารสกัดต้นตำรับสมุนไพรไทยกับทาง มทร.ธัญบุรี เพื่อเป็นงานวิจัยต่อยอด และเพิ่มมูลค่าให้กับสมุนไพรไทย ซึ่งทาง มทร.ธัญบุรี มีงานวิจัยที่น่าสนใจ ประกอบกับเชื่อมั่นในศักยภาพของมหาวิทยาลัย โดยงานวิจัยสามารถต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ออกมาได้จริงในอนาคต และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสมุนไพรไทยอีกด้วย