retirement

ระบบบำนาญไทยอันดับต่ำที่สุดในโลก!! ความน่าเชื่อถือน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 31%

ระบบบำเน็จ บำนาญจะกลายเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากหลังจากทั่วโลกเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) เพราะเงินบำนาญนี้จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี และไม่ต้องพึ่งพาลูกหลาน อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจและจัดอันดับในปี 2565 ที่ผ่านมา กลับพบว่า ประเทศไทยนั้น เป็นประเทศที่ถูกจัดอันดับระบบบำเน็จบำนาญที่แย่ที่สุดจาก 44 ประเทศที่ได้ทำการสำรวจ ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ระดับชาติที่ภาครัฐบาล และนายจ้างจำเป็นต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน

Mercer CFA Institute Global Pension Index 2022 (MCGPI) ที่ปรึกษาด้านการยกระดับด้านสุขภาพ ,ความมั่งคั่ง และการงานของบุคลากร ร่วมกับ สมาคมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนระดับสากลวิชาชีพ (CFA Institute) ได้เปิดเผยผลการจัดอันดับระบบบำนาญที่ดีที่สุดในโลก หรือ Mercer CFA Institute Global Pension Index 2022 (MCGPI) ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นการจัดอันดับครั้งที่ 14 จากสำรวจ 44 ประเทศทั่วโลกพบข้อมูลว่า ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้ต่ำที่สุดในโลก

โดยคะแนนเฉลี่ยรวมทั้ง 3 ด้านของประเทศไทยอยู่ในเกรด D และเป็นอันดับที่ 44 ซึ่งเป็นอันดับต่ำที่สุดมีคะแนน 41.70 คะแนน โดยค่าเฉลี่ยคะแนนทั้ง 3 ด้านของทั่วโลกคือ 65.03 คะแนน ถ้าเรามองผ่านๆ จะเห็นว่าคะแนนด้านความยั่งยืนของระบบบำนาญ Sustainability ของไทยคือ 36.4 ซึ่งเป็นคะแนนที่ต่ำสุดใน 3 ด้านของไทย แต่ถ้าเราเอาคะแนนแต่ละด้านเทียบกับค่าเฉลี่ยของตัวเองจะเห็นว่า ด้านที่คะแนนของไทยต่ำกว่าโลกมากที่สุดคือ ด้านความพอเพียงของระบำนาญ

  • ความพอเพียงของระบำนาญ Adequacy ไทยมีคะแนน 41.30 คะแนน จากค่าเฉลี่ย 63.03 คะแนน เท่ากับว่าไทยเราต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 37.11 %
  • ด้านความยั่งยืนของระบบบำนาญ Sustainabilityไทยมีคะแนน 36.40 คะแนน จากค่าเฉลี่ย 53.01 คะแนน เท่ากับว่าไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 31.33 %
  • ด้านความแข็งแกร่งและน่าเชื่อถือของระบบบำนาญ Integrity ไทยมีคะแนน 50.00 คะแนน จากค่าเฉลี่ย 72.85 คะแนน เท่ากับว่าไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 31.37%

ซึ่ง10 อันดับแรกของประเทศที่มีระบบบำนาญดีที่สุดมีดังนี้

โดยในการจัดอันดับระบบบำนาญแต่ละประเทศนั้นจะแบ่งเป็นระดับดีที่สุดไปจนถึงต่ำที่สุด คือ ระดับ A ไปจนถึง D และใช้ 3 เกณฑ์ในการพิจารณา คือ

1. ความพอเพียงของระบบำนาญ (Adequacy) พูดง่ายๆเป็นการมองว่าเงินช่วยเหลือหรือบำนาญที่ผู้สูงอายุได้รับเพียงพอกับรายจ่ายในชีวิตประจำวันของเค้าหรือไม่ โดยพิจารณาจาก เงินบำนาญขั้นต่ำ , การออกแบบระบบ , อัตราส่วนการออมต่อหนี้สินภาคครัวเรือน ,สัดส่วนการถือครองบ้านของประชาชน และอัตราการเติบโตของมูลค่าสินทรัพย์

2. ความยั่งยืนของระบบบำนาญ (Sustainability) คือเป็นการมองว่าระบบบำนาญที่มีอยู่มีความมั่นคงยั่งยืนมากน้อยแค่ไหน โดยพิจารณาจากความครอบคุมของแผนการเตรียมจ่ายเงินบำนาญให้กับลูกจ้างดังนี้ มูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนบำนาญ (เช่น กบข., กองทุนเลี้ยงชีพ) ต่อรายได้ประชาชาติ (GDP) ,ปัญหาด้านประชากร(เช่น จำนวนประชากรที่ลดลง) , จำนวนเงินที่ผู้อยู่ในระบบบำนาญต้องจ่ายเข้ากองทุน , อัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานสูงอายุ , ต้นทุนเงินบำนาญสาธารณะต่อหนี้สินภาครัฐ ,อัตราการเติบโตรายได้ประชาชาติแท้จริง (Real GDP Growth rate)

3. ความแข็งแกร่งและน่าเชื่อถือของระบบบำนาญ (Integrity) คือเป็นการมองว่าระบบบำนาญที่มีอยู่มีความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน พิจารณาจาก กฎระเบียบของแผนบำนาญส่วนบุคล , ข้อกำหนดด้านธรรมาภิบาลของแผนบำนาญ , การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของสมาชิกบำนาญ ,ช่องทางการสื่อสารกับสมาชิกบำนาญ และรายจ่ายการดำเนินงานของระบบบำนาญ

ที่นี้เรามาวิเคราะห์ค่าเฉลี่ยคะแนนของประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนทั่วโลก จะเห็นว่าคะแนนของไทยที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ ด้านความพอเพียงของระบบำนาญ Adequacy ที่คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 37.11% โดยคะแนนด้านนี้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลและกลุ่มนายจ้างของไทยจำเป็นต้องพัฒนาระบบำนาญในส่วนความพอเพียงของระบบบำนาญเป็นพิเศษ

ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะว่า สังคมไทยในปัจจุบันยังประสบปัญหาหลายด้าน เช่น ปัญหาด้านสังคมผู้สูงวัยที่จะส่งผลให้ปริมาณสมาชิกบำนาญในอนาคตจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านอัตราเงินเฟ้อที่ทำให้ความพอเพียงของรายได้สมาชิกบำนาญลดลงไปอีก นั่นยิ่งเท่ากับว่าเป็นการซ้ำเติมปัญหาเรื่องความพอเพียงของระบบำนาญอีก แต่ปัจจุบันรัฐบาลกลับยังไม่มีนโยบายที่เป็นรูปธรรมในการเตรียมรับมือกับปัญหาดังกล่าว

โดยในมุมนี้ ดร.เดวิด น็อกซ์ หุ้นส่วนอาวุโสและนักคณิตศาสตร์ประกันภัยประจำ Mercer พบว่าปัจจุบันนายจ้าง มีแนวโน้มการเปลี่ยนรูปการจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญ จากกองทุนแบบกำหนดประโยชน์ทดแทน (Defined Benefit : DB ) กลายมาเป็นแบบระบบบำนาญแบบกำหนดอัตรานำส่ง (Defined Contribution : DC) ซึ่งแบบอัตรานำส่งนั้น เป็นผลตอบแทนที่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่สมทบ จึงอาจทำให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงว่าเงินที่ได้ไม่พอจะดำรงชีวิต เพราะแตกต่างจากแบบบำเน็จบำนาญจากกองทุนแบบกำหนดประโยชน์ทดแทน ที่มีการประกันผลประโยชน์ของสมาชิกล่วงหน้าแน่นอน โดยรูปแบบง่ายเงินบำเหน็จประเภทนี้เช่น กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ และเงินบำนาญของข้าราชการไทยตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494

ทั้งนี้ในด้านของคะแนนด้านความพอเพียงของระบบบำนาญ Adequacy ซึ่งไทยมีคะแนนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกมากที่สุดนั้น เราค้นพบว่า รายได้ต่อเดือนระดับพอเพียงของไทยควรอยู่ที่ 18,248.00บาทต่อเดือน ขณะที่รายได้ต่อเดือนขั้นต่ำระดับสะดวกสะบายควรอยู่ที่ 22,431.00บาทต่อเดือน (งานวิจัย : เป้าหมายเงินก้อนขั้นต่ำสำหรับเกษียณอายุอย่างพอเพียง โดย รศ.ดร พรอนงค์ บุษราตระกูล และคณะ)

เพื่อให้มองเห็นภาพอย่างชัดเจน ‘Business+’ จะขอแบ่งกลุ่มผู้มีรายได้หลังเกษียณจำนวน 37.7 ล้านคน ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ข้าราชการ แรงงานในระบบ และแรงงานนอกระบบ ซึ่งรายได้ของคนแต่ละกลุ่มจะแบ่งดังนี้

1.ข้าราชการ มีจำนวน ในปี 2564 จำนวน 1.76 ล้านคน (สำนักงานก.พ.)

– ระบบบำเหน็จบำนาญ รายได้เฉลี่ย 20,000-30,000 บาทต่อเดือน

2.แรงงานในระบบ (ไม่รวมข้าราชการ) ในปี2564 มีจำนวน 16.34 ล้านคน (สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน)

– เงินบำนาญชราภาพ (เงินเดือนสูงสุดในการคำนวนคือ 15,000 บาท) มีบำนาญเฉลี่ย 2,000-3,000 บาทต่อเดือน

– เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500-1,000 บาทต่อเดือน

3.แรงงานนอกระบบในปี 2564 มีจำนวน 19.6 ล้านคน (สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน)

– เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500-1,000 บาทต่อเดือน

จะเห็นได้ว่าหากเราอิงตามวิจัยแล้ว จะมีเพียงกลุ่มข้าราชการซึ่งคิดเป็น 4.67 %ของแรงงานทั้งหมดเท่านั้นที่มีรายได้ต่อเดือนระดับพอเพียง ถึงระดับสะดวกสบาย ส่วนอีก 2 กลุ่มที่เหลือที่มีจำนวนถึง 95.33% ของแรงงานทั้งหมด (กรณีไม่มีรายได้ทางอื่นเลย)

ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องฝึกให้ประชาชนมีวินัยการออมเงินสูงขึ้น โดยในส่วนของภาครัฐควรมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือการออมของแรงงานเหล่านี้ ด้วยการเพิ่มการออมภาคสมัครใจและการออมภาคบังคับให้สูงขึ้น รวมถึงมีการเพิ่มการบริหารจัดการเงินออมโดยมืออาชีพ เช่น รูปแบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  เพื่อให้ผู้ที่สนใจออมเงินซึ่งไม่มีความรู้ในการลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการนำเงินออมไปลงทุนในตลาดเงิน ซึ่งจะช่วยให้รายได้ผู้ออมมีความพอเพียงมากขึ้น เพราะการออมเงินให้พอใช้หลังเกษียณถือเป็นปัญหาที่มีความท้าทายสูงมากสำหรับผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่รัฐบาล

โดยปัญหาดังกล่าวมีต้นเหตุมาจากรายรับที่ไม่พอสำหรับรายจ่ายของภาคครัวเรือนจึงส่งผลให้ไม่มีเงินเหลือเพื่อจะออม ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องเพิ่มรายได้ให้กับแรงงานหรือลดค่ารองชีพ โดยการกระทำทั้ง 2 อย่างล้วนส่งผลกับต้นทุนและรายได้ของผู้ประกอบการดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างระมัดระวังและรอบครอบเพื่อให้เกิดผลกระทบกับทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างน้อยที่สุด

สำหรับเนื้อหาด้านผลกระทบในแง่มุมต่าง ๆ และประเด็นที่น่าสนใจที่เกี่ยวกับสงคมผู้สูงอายุอื่นๆ ‘Business+’ จะมานำเสนอในคอนเทนต์ไปกับแคมเปญพิเศษ “The Coming of a Hyper-aged Society” เฒ่าทันความสูงวัย ก่อนไทยเข้า Hyper-Aged ซึ่งสามารถรอติดตามอ่านกันได้ที่แฟนเพจ และเว็บไซต์ของ Business+ https://www.thebusinessplus.com/hyper_aged/?version=Bplus1

ที่มา : Mercer CFA Institute Global Pension Index 2022 (MCGPI) 
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ผู้สูงอายุ #ผู้สูงอายุในประเทศไทย #สถิติผู้สูงอายุในไทย #agedsociety #hyperaged #สังคมผู้สูงอายุ