Retirement

เปิดข้อมูลอายุเกษียณทั่วโลก ‘น้อยสุด-สูงสุด’ ห่างกัน 11 ปี

การเกษียณอายุถูกนำมาพูดถึงมากมาย โดยเฉพาะประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ โดยเราจะเห็นข้อมูลว่า ประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะมีการกำหนดอายุเกษียณค่อนข้างสูง

ยกตัวอย่างสหรัฐที่กำหนดอายุอยู่ที่ 66 ปี ส่วนเยอรมันอยู่ที่ 65 ปี และฝรั่งเศสอยู่ที่ 62 ปี ส่วนญี่ปุ่นที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดมีอายุเกษียณที่ 62 ปี ส่วนค่าเฉลี่ยของโลกมีอายุเกษียณอย่างเป็นทางการอยู่ที่ประมาณช่วงอายุ 62-65 ปี

สำหรับประเทศไทยพบว่าส่วนใหญ่มักจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี และมีข้อมูลจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2564 ที่ประมาณการอายุขัยเฉลี่ยของคนไทย โดยผู้ชายเท่ากับ 73.5 ปี ผู้หญิงเท่ากับ 80.5 ปี

แต่หลังจากไทยเข้าสู่โลกสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวเป็นที่เรียบร้อยในปี 2564 (สัดส่วนประชากรอายุมากกว่า 60 ปีมีมากถึง 20% ของคนในประเทศ) พบว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้มีอายุเกษียณอย่างเป็นทางการอยู่ที่ประมาณช่วงอายุ 62-65 ปี (ผลสำรวจของคนไทยพบว่าคนที่เกษียณเร็วที่สุด คืออายุ 55 ปี และค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 60 ปี)

ทั้งนี้มาดูกันว่า แต่ละประเทศที่มีการกำหนดอายุเกษียณปกติในปัจจุบัน อ้างอิงจากการที่คนสามารถเบิกสวัสดิการเกษียณอายุของรัฐบาลได้ ซึ่งบางประเทศมีตัวเลือกการเกษียณอายุก่อนกำหนดตามเกณฑ์บางอย่างที่ไม่ได้แสดงไว้ พบข้อมูลว่า อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีอายุเกษียณต่ำมากอยู่ที่ 56 ปีเท่านั้น เมื่อเทียบกับประเทศที่มีอายุเกษียณสูงอย่างนอร์เวย์ แล้วห่างกันมากถึง 11 ปี
retire
อย่างไรก็ตามในปี 2566 ดูเหมือนประชาชนทั่วโลกจะมีแผนเลื่อนการเกษียณอายุออกไป หลังจากเผชิญกับปัญหาทางค่าครองชีพ และสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ทำให้รัฐบาลต้องวางแผนการเกษียณในอนาคตใหม่อยุ่เสมอ โดยไอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักรมีโอกาสที่จะขยายอายุเกษียณไปถึง 68 ปีเลยทีเดียวข้อมูลจาก ‘รันด์สตัด (Randstad)’ บริษัทจัดหางานจากเนเธอร์แลนด์ ระบุว่า วิกฤตค่าครองชีวิตส่งผลให้ประชาชนทั่วโลกเลื่อนแผนเกษียณอายุการทำงานออกไป โดยมีพนักงานเพียงครึ่งหนึ่งในผลสำรวจที่เชื่อว่า ตัวเองจะสามารถเลิกทำงานแบบถาวรได้ก่อนอายุ 65 ปี (ลดลงจาก 61% ในปีที่แล้ว)

โดยประเด็นที่ทำให้พนักงานหลายคนเลื่อนอายุเกษียณเป็นเพราะว่า เศรษฐกิจโลกซบเซา เงินเฟ้อสูง และความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ลดลง ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากกลับมาทบทวนแผนการเกษียณอายุการทำงานอีกครั้ง (รายงานประจำปีจากรันด์สตัดนี้ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 35,000 รายในตลาด 34 แห่งทั่วโลกเกี่ยวกับมุมมองที่มีต่อโลกของการทำงาน) ซึ่งมีประชาชนกว่า 70% ที่มีความวิตกกังวลเรื่องเงิน และทำให้คนเหล่านี้ไม่สามารถเพลิดเพลินไปกับวัยชราของตนเองได้

สำหรับประเทศไทยนั้น ในปี 2563 มีการชงเรื่องเพื่อให้รองรับกับสังคมผู้สูงอายุด้วยการเสนอนโยบายในการ “ขยายอายุเกษียณราชการออกไป โดยมีแผนที่จะขยายเบื้องต้นเป็นอายุ 63 ปี ในปี 2565 และขยายต่อเป็นอายุ 65 ปี ภายในปี 2575 เพื่อรองรับการปัญหาคนวัยเกษียณว่างงานที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในอนาคตอันใกล้

แต่ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ได้เลื่อนแผนการนี้ออกไป เพราะมองว่าการขยายอายุราชการออกเนื่องจากต้องการศึกษาเพิ่มเติมตามแผนปฏิรูปด้านสังคม รวมถึงพิจารณาผลกระทบจากปัญหา COVID-19 ที่ตามมา จึงหยุดการขยายอายุราชการไว้ก่อน

ทั้งนี้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (LPA) ของไทยได้กำหนดให้นายจ้างทุกคนจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งถูกเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ดังนั้นพนักงานที่เกษียณอายุจึงมีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับค่าชดเชยเมื่อถึงวัยเกษียณ โดยพนักงานสามารถเกษียณอายุได้เมื่ออายุ 60 ปี เว้นแต่กฎการทำงานของนายจ้างจะกำหนดอายุเกษียณที่ต่ำกว่า หากนโยบายการเกษียณอายุของนายจ้างกำหนดอายุเกษียณไว้ที่มากกว่า 60 ปีหรือไม่ได้กำหนดอายุเกษียณไว้ในนโยบาย พนักงานอาจยังคงเกษียณอายุที่อายุ 60 ปี พนักงานต้องแจ้งให้นายจ้างทราบเมื่อมีความประสงค์จะเกษียณอายุและการเกษียณอายุดังกล่าวจะมีผล 30 วัน นับจากวันที่แจ้ง

สำหรับเนื้อหาด้านผลกระทบในแง่มุมต่าง ๆ และประเด็นที่น่าสนใจที่เกี่ยวกับสงคมผู้สูงอายุอื่นๆ ‘Business+’ จะมานำเสนอในคอนเทนต์ไปกับแคมเปญพิเศษ “The Coming of a Hyper-aged Society” เฒ่าทันความสูงวัย ก่อนไทยเข้า Hyper-Aged ซึ่งสามารถรอติดตามอ่านกันได้ที่แฟนเพจ และเว็บไซต์ของ Business+ https://www.thebusinessplus.com/hyper_aged/?version=Bplus1

ที่มา : UN

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

Businessplus #Business #นิตยสารBusinessplus #สังคมผู้สูงอายุ #โมเดลธุรกิจผู้สูงอายุ #HyperAgedSociety #SuperAgedSociety