ส่องกลยุทธ์การท่องเที่ยว 5 ประเทศที่น่าสนใจในเอเชีย ฟื้นตัวจากโควิด กลับมา 100% แล้วหรือยัง?

หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประเทศต่าง ๆ เปิดพรมแดนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางได้เต็มรูปแบบ ประเทศที่เคยทำรายได้จากการท่องเที่ยวได้ปีละมาก ๆ และคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ GDP ส่วนสำคัญของประเทศต่างเร่งทำคะแนนเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมาเดินทางที่ประเทศนั้น ๆ โดยการออกนโยบายดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวในประเทศเดินทาง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวแล้วแต่ละประเทศมีการฟื้นตัวมากน้อยแค่ไหน และใช้นโยบายและกลยุทธ์อะไรบ้าง ติดตามต่อได้ในบทความนี้

 

เริ่มต้นกันที่ประเทศแรก คือ ฮ่องกง เปิดตัวแคมเปญ Hello Hong Kong เพื่อส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวมาเยือนฮ่องกง แคมเปญที่ดึงดูดมากที่สุดคือการแจกตั๋วเครื่องบินฟรีไปและกลับจากฮ่องกง โดยมุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยการแจกบัตรโดยสารเครื่องบินกว่า 500,000 ใบ และยังมี “Hong Kong Goodies” ซึ่งเป็นบัตรกำนัลสำหรับนักท่องเที่ยว เพื่อนำไปรับเครื่องดื่มต้อนรับฟรีที่บาร์ ร้านอาหาร และโรงแรมที่ร่วมรายการ

 

รวมทั้งแคมเปญ Night Vibes Hong Kong ฮ่องกงจะจัดการรณรงค์ระยะเวลาตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกลางคืน (night-time economy) เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นอีกครั้ง โดยจะมีเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละพื้นที่ ส่งเสริมวัฒนธรรม มีกิจกรรมการแสดงตามประเพณี การฉายภาพยนตร์ การแจกส่วนลดเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ และเทศกาลอาหารและดนตรีในช่วงเวลากลางคืน

 

หลังการประกาศแคมเปญ การบริโภคกลับมาเติบโตสูงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยข้อมูลจาก Census and Statistics Department ของฮ่องกง ระบุว่า ยอดขายค้าปลีกในเดือนกุมภาพันธ์คิดเป็นมูลค่า 4.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตสูงถึง 31.3% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งสูงสุดในรอบ 13 ปี  และมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศกว่า 34 ล้านคน ฟื้นตัวกลับมา 60% เมื่อเทียบกับปี 2019 ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด ที่มีนักเดินทาง 56 ล้านคน และคาดว่านักท่องเที่ยวขาเข้าฮ่องกงจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับปี 2018 หรือ 65 ล้านคน ภายในสิ้นปี 2025 และ 94 ล้านคนในปี 2027

 

ประเทศที่สองคือ ญี่ปุ่น ซึ่งมีแคมเปญ Nationwide Travel Discount ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว ในช่วงต้นปี 2566 คือ สามารถใช้สิทธิได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งและชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่นก็สามารถใช้สิทธินี้ได้ โดยรัฐบาลจะช่วยออกค่าใช้จ่าย 20% ของค่าโรงแรมหรือค่าเดินทาง (ไม่เกิน 5,000 เยน สำหรับทริปค้างคืน หรือไม่เกิน 3,000 เยนสำหรับทริปไปเช้าเย็นกลับ) ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถลงทะเบียนขอรับสิทธิเมื่อซื้อแพ็กเกจท่องเที่ยวผ่านบริษัททัวร์หรือติดต่อกับโรงแรมโดยตรง

 

หลักจากการระบาดของโควิด-19 มีจำนวนนักเดินทางที่เข้ามายังประเทศญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น โดยปีนี้สำนักงานการท่องเที่ยวญี่ปุ่นวางแผนที่จะสนับสนุนการพัฒนาโปรแกรมการท่องเที่ยวส่งเสริมวัฒนธรรมอาหารในภูมิภาค โดยหวังว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้มาท่องเที่ยวในท้องถิ่นต่าง ๆ เนื่องจากการท่องเที่ยวเชิงอาหารได้รับความนิยมจากเหล่านักท่องเที่ยวมากขึ้น และเดินทางมาลิ้มลองอาหารในท้องถิ่น สัมผัสประสบการณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น

 

ในปี 2023 นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศใช้จ่ายในญี่ปุ่นที่ 5.29 ล้านล้านเยน ซึ่งสูงกว่าระดับในปี 2019 ที่ 4.8 ล้านล้านเยนก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทั้งนี้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะมุ่งความสนใจไปที่สถานที่ยอดนิยมที่สุดของประเทศ ญี่ปุ่นจึงหวังที่จะใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นเพื่อดึงนักท่องเที่ยวให้เดินทางมายังพื้นที่ชนบท

 

จากข้อมูลของ JNTO จำนวนนักเดินทางต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น ในปี 2023 มากกว่า 25 ล้านคน โดยฟื้นตัวประมาณ 80% จากปี 2019 ที่มีนักเดินทางเข้าประเทศ 31.88 ล้านคน

 

ถัดมาคือประเทศจีน ภาคการท่องเที่ยวของจีนกำลังฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ตลาดการท่องเที่ยวในประเทศได้กลับสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาด โดยรายงานรายได้รวมกว่า 1.48 แสนล้านหยวน (1 พ.ค. 66) แม้ว่าจีนจะกลับมาเริ่มกลับมาเดินทางออกนอกประเทศอีกครั้งเมื่อต้นปี 2566 แต่สัดส่วนของนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปต่างประเทศยังค่อนข้างน้อย เนื่องมาจากการที่สายการบินยังไม่ได้เปิดบริการเที่ยวบินทั้งหมด

 

และจีนมีแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ด้วยการการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น และสนับสนุนเงินร่วมกับธนาคารในท้องถิ่นและแพลตฟอร์มต่าง ๆ ในการจัดแคมเปญส่วนลด ยกระดับสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละพื้นที่ให้อยู่ในระดับ World Class พร้อมทั้งพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและระบบขนส่ง เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต

 

ทั้งนี้ในปี 2023 จีนมีการส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนโยบายปลอดวีซ่าไปยังพลเมืองจาก 6 ประเทศได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน และมาเลเซีย และกำหนดข้อตกลงการเดินทางโดยไม่ต้องขอวีซ่าร่วมกับสิงคโปร์เป็นเวลา 30 วัน หลังจากการปิดประเทศมาถึง 3 ปี จากนโยบาย Zero Covid-19 มีชาวต่างชาติเดินทางเข้า-ออกพรมแดนจีน 35.5 ล้านครั้ง และมีการฟื้นตัวกลับมาของนักชาวต่างชาติที่ 36% จากปี 2019

 

ทางด้านประเทศเกาหลีใต้ ยังคงส่งเสริม Soft Power ด้านการสร้างสรรค์ การเผยแพร่ผลงานศิลปะและวัฒนธรรมในต่างประเทศ เพื่อขยายความนิยมของวัฒนธรรมเกาหลีไปทั่วโลก โดยกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวจะมอบเงินสนับสนุนนโยบายนี้มูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.74 ล้านล้านวอนเกาหลี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของรัฐบาลในการดึงดูดนักท่องเที่ยว 20 ล้านคนในปีนี้

โดยปี 2023 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าเกาหลีใต้กว่า 11 ล้านคน ฟื้นตัวแล้วกว่า 70% จากปี 2019 ที่มีนักเดินทางถึง 15.7 ล้านคนเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้

นอกจากนี้ยังมีโครงการ Visit Korea ปี 2023-2024 โดยจะขยายการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าอิเล็กทรอนิกส์แบบกลุ่ม การขยายขอบเขตในการขอคืนภาษีทันทีสำหรับสินค้าปลอดภาษี และปรับปรุงบริการจองการเดินทางและวิธีการชำระเงิน

และส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลีอย่างเข้มข้นใน 25 เมืองในต่างประเทศผ่าน “K-Tourism Roadshow” งานใหญ่เช่น Korea Beauty Festival และคอนเสิร์ต K-Pop และการพัฒนางานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

ตั้งแต่ปี 2024 – 2033 จะมีการลงทุนในปูซาน กวางจู อุลซาน คยองนัม และจอนนัมประมาณ 3 ล้านล้านวอน เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม การเดินเรือ และการพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ของภูมิภาคทางใต้”

ภายในปี 2567 คาดว่ารายได้ในตลาดการเดินทางและการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้จะสูงถึง 14,460 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้คาดว่ารายได้จะมีอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR 2024-2028) ที่ 2.42%

 

และสุดท้าย ไต้หวัน กับแคมเปญ Taiwan the Lucky Land สุ่มแจก Voucher มูลค่า 5,000 NTD รวม 500,000 รางวัล ให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปไต้หวันด้วยตนเอง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2023 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2025 โดยจะให้รางวัลใน 2 รูปแบบ โดยให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ 1. รางวัลในรูปแบบบัตรแทนเงินสด pre-paid card 2. คูปองโรงแรม ซึ่งจะได้คูปอง 5 ใบ แต่ละใบมีมูลค่า 1,000 ดอลลาร์ไต้หวัน

 

อีกทั้งมีการโปรโมต ทำการตลาดในต่างประเทศอย่างจริงจัง เช่น ในประเทศไทย ก็มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด และแต่งตั้ง บอย-ปกรณ์ เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์คนแรกของการท่องเที่ยวไต้หวันประจำประเทศไทย

 

โดยเป้าหมายของการท่องเที่ยวไต้หวันในปี 2023 คือ ต้องมีนักเดินทางเข้าประเทศไต้หวัน 6 ล้านคน ซึ่งไต้หวันใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ ที่วางไว้ จนทำได้ตามเป้าหมายมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือน 6 ล้านคนในปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวไต้หวันฟื้นตัวกลับมาประมาณ 50% จากปี 2019  ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยว 11.84 ล้านคน

 

และยังคงทำการโปรโมตการท่องเที่ยวต่อเนื่องไปในปี 2024 นี้ โดยตั้งเป้าหมายใหญ่กว่าเดิม คือ ต้อนรับนักท่องเที่ยว 12 ล้านคนในปีนี้

 

ทางด้านประเทศไทย ในปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยทะลุเป้าหมาย 25 ล้านคน ไปถึง 28,042,131 คน สร้างรายได้กว่า 1.2 ล้านล้านบาท แต่ยังต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 1.6 ล้านล้านบาท ฟื้นตัวกลับมากว่า 70% จากปี 2019 ด้วยกลยุทธ์การใช้ Soft Power 5F คือ Food (อาหาร) Fashion (แฟชั่น) Fight (ศิลปะการต่อสู้ มวยไทย) Festival (เทศกาล ประเพณี) และ Film (ภาพยนตร์) ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางในประเทศไทย และส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน

 

รวมทั้งมีการอำนวยความสะดวกทางด้านต่าง ๆ เช่น วีซ่าฟรีให้กับประเทศต่าง ๆ มากกว่า 60 ประเทศ และในปีนี้ไทยยังดำเนินตามแผนเดิม และอยู่ระหว่างการตกลงเรื่องการฟรีวีซ่าถาวรให้นักท่องเที่ยวจีน ที่คาดว่าจะช่วยเพิ่มยอดนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของการท่องเที่ยวไทย และตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติต้องแตะ 35 ล้านคน และทำรายได้รวมการท่องเที่ยวเป็น 3.5 ล้านล้านบาท

 

เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว แต่ละประเทศใช้จุดเด่นของตัวเองในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ฮ่องกงมองเห็นถึงการมีไลฟ์สไตล์ Night Life ของนักท่องเที่ยว จึงชูจุดเด่น Night Vibes ในฮ่องกงที่หาไม่ได้หาที่ไหน และญี่ปุ่นก็ดึงเรื่องอาหารที่เป็นจุดแข็งที่ผู้คนชื่นชอบเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว จีนยังคงมุ่นเน้นการท่องเที่ยวในประเทศ สนับสนุนคนจีนให้เที่ยวจีนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ เกาหลีใต้ใช้ซอฟต์พาวเวอร์สำคัญอย่างการส่งออกศิลปวัฒนธรรมเกาหลีไปสู่สายตาคนทั่วโลก ทำให้คนอยากเดินทางมาท่องเที่ยว

 

และไต้หวันที่ให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกในการเดินทางและอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อให้คนเดินทางมาท่องเที่ยว ทั้งนี้หลาย ๆ ประเทศมีแนวทางร่วมกันอย่างหนึ่งคือการสนับสนุนการท่องเที่ยวในท้องถิ่น นอกจากลดความแออัดจากสถานที่เที่ยวยอดนิยม และกระจายรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชนอีกด้วย

 

จากข้อมูลทั้งหมด ไทยมีการฟื้นตัวที่ดีในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยว ที่กลับมาถึง 70% จากปี 2019 แม้รายได้ยังไม่กลับมาเท่าเดิม แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นถือว่าฟื้นตัวกลับมาได้ในลำดับต้น ๆ ในกลุ่มที่ยกมา เนื่องจากไทยเองก็มีนโยบายทางการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่งไม่แพ้ชาติอื่น ทั้งการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ และการโปรโมตการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึง

 

และอีกจุดสำคัญคือการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี ที่ต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นเพื่อจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วง Low Season รวมถึงการทำให้นักท่องเที่ยวกลับมาเดินทางซ้ำที่ประเทศไทย และการให้ความสำคัญด้านความปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวกังวล โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน ไทยจึงควรส่งเสริมมาตรการความปลอดภัย และการสร้างความเชื่อมั่นผ่านสื่อต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าไทย แม้ว่าคู่แข่งในระดับใกล้เคียงกันจะใช้กลยุทธ์ที่น่าสนใจมากแค่ไหนก็ตาม

 

ที่มา krungthai, japan-guide, GIT Information Center, ธนาคารแห่งประเทศไทย, statista, investkorea, globaltimes, thestandard, bangkokpost, thaibizchina

 

เขียนและเรียบเรียง : สีน้ำ แผ่วฉิมพลี
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS