แอมป์ พิธาน

เปิดพอร์ตแอมป์ ‘พิธาน’ หลังเข้าซื้อ ‘ช่องวัน’ หากขายหุ้นทั้งหมดที่ถือวันนี้รับเงินกว่า 8 พันล้าน!

เป็นกระแสโด่งดังทั้งวงการสื่อบันเทิง และวงการหุ้น หลังจาก พิธาน องค์โฆษิต (ไฮโซแอมป์) เจ้าของบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ‘เคซีอี อีเลคโทรนิคส์’ หรือ KCE ได้เข้าซื้อหุ้น บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ หรือช่องวัน จากแพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ตระกูลที่เป็นเจ้าของธุรกิจเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ และเจ้าของสายการบินบางกอกแอร์เวย์

ซึ่งประเด็นนี้ถูกพูดถึงจนกลายเป็นกระแสนั้นเป็นเพราะว่า แอมป์ พิธาน เป็นนักธุรกิจที่คบหาอยู่กับดาราสาว ‘ออม สุชาร์’ ซึ่งเป็นบุคคลมีชื่อเสียงกันทั้งคู่ นอกจากนี้หากพูดถึงตระกูล องค์โฆษิต ของไฮโซแอมป์ยังติดท็อปตระกูลเศรษฐีของไทยที่มีหลากหลายธุรกิจ ทั้งธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงธุรกิจเครื่องสำอางอย่าง THE FACE SHOP (ประเทศไทย) และ ธุรกิจอาหารอย่าง มอส เบอร์เกอร์ (MOS Burger)

นอกจากนี้แล้ว ไฮโซแอมป์ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในอีก 3 บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั่นคือ บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ , บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) เจ้าของสายการบินแอร์เอเชีย ,บมจ.เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ หรือ ‘ช่องวัน’ ซึ่งหากเราคำนวณมูลค่าพอร์ตหุ้นของแอมป์ จากจำนวนหุ้นทั้ง 3 บริษัท ที่ราคาปิดวันที่ 29 ก.พ. 2567 จะมีมูลค่ามากถึง 8,501 ล้านบาท

โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น และข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

แอมป์ พิธาน

ส่วนในมุมของการบริหารธุรกิจนั้น มีจุดที่น่าจับตามองต่ออย่างมาก ซึ่งอาจเกิดคำถามขึ้นว่า การที่ตระกูลองค์โฆษิต ขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นเบอร์ 2 ของช่องวันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านไหนบ้าง เพราะที่ผ่านมาไฮโซแอมป์มักเข้าลงทุนในหลายธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต และนำธุรกิจมาต่อยอดกับธุรกิจอื่นๆ ที่ตัวเองเป็นเจ้าของอยู่ และทั้ง 3 ธุรกิจที่แอมป์เข้าไปถือในตลาดหุ้นนั้น มีธุรกิจที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเลยทีเดียว

ซึ่งข้อมูลของช่องวันที่ ‘Business+’ มองเห็นคือ จุดอ่อนในความสามารถทำกำไร และรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ละครและซีรียส์ที่ลดลง ทำให้ผลประกอบการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงขาลง

ทั้งนี้ช่องวันมีกำไรสุทธิปี 2564 อยู่ที่ 828.38 ล้านบาท และปี 2565 ลดลงมาอยู่ที่ 738.53 ล้านบาท ส่วนปี 2566 นั้น เหลือเพียง 505.09 ล้านบาท ซึ่งในปีล่าสุดถึงแม้จะมีรายได้ในหลายๆส่วนเพิ่มขึ้น ทั้งจากธุรกิจจัดคอนเสิร์ตและกิจกรรม การบริหารจัดการศิลปิน การขายสินค้า รายได้จากการผลิตรายการวิทยุ แต่ปัญหาของช่องวันในปี 2566 นั้น คือ เรื่องของต้นทุนขายและบริการที่เพิ่มขึ้น ภายหลังจากบริษัทได้ใช้กลยุทธ์ใหม่ โดยเฉพาะต้นทุนจากธุรกิจจัดคอนเสิร์ต และบริหารกิจกรรมที่มีต้นทุนสูงทั้งต้นทุนจัดงานและต้นทุนการจ้างศิลปิน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการตลาดและประชาสัมพันธ์ุสำหรับคอนเสิร์ตใหญ่ๆ อีกด้วย ดังนั้นสิ่งที่น่าจับตาคือ การปรับปรุงแนวทางการบริหารต้นทุน และกลยุทธ์ในการควบคุมค่าใช้จ่าย ซึ่งจะส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิสูงขึ้น

อีกส่วนที่น่าสนใจคือ ธุรกิจขายลิขสิทธิ์ละครและซีรีส์จะพลิกฟื้นได้อย่างไร เพราะก่อนหน้านี้รายได้ในส่วนนี้ลดลงไปถึง 26.5% เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งเกิดจากการที่บริษัทใช้นโยบายเน้นการผลิตคอนเทนต์คุณภาพ และสร้างแบรนด์แอพพลิเคชั่น oneD และ แบรนด์ใหม่ oneD Original เพื่อเน้นการขายคอนเทนต์ของตัวเอง จึงได้ขายคอนเทนต์ไปยังแพลตฟอร์มอื่นที่เป็นคู่ค้าเดิมลดลง จึงกลายเป็นที่น่าติดตามต่อว่า ภายหลังจากแบรนด์ติดตลาดแล้วจะสร้างรายได้จากคอนเทนต์เองจะสูงขึ้นจริงหรือไม่

อ่านคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องย้อนหลังได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/onee-2/

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : SET

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ช่องวัน #หุ้นIPO #IPO #ตลาดหุ้น #ตลาดหุ้นไทย #SET #mai