PTTEP

ปตท.สผ. ขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จ รับความท้าทายการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน

ในช่วงปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมพลังงานเป็นภาคธุรกิจหนึ่งที่เผชิญกับความท้าทายในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาภาวะโลกร้อน ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย Net Zero ขณะเดียวกันก็ต้องปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินธุรกิจให้รับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) หนึ่งองค์กรที่สำคัญในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่าง ‘ปตท.สผ.’ ได้วางกลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมาย Net Zero ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ

คุณมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัทฯ ตระหนักเป็นอย่างยิ่งว่า นอกจากการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศแล้ว การสร้างความสมดุลในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานก็มีความสำคัญไม่ด้อยไปกว่ากัน บริษัทฯ จึงกำหนดแผนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ 3 แนวทางหลัก ได้แก่ การขับเคลื่อนและเพิ่มมูลค่าธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (Drive Value) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonize) และการเติบโตในธุรกิจใหม่ (Diversify) ด้านพลังงานแห่งอนาคตและเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเชื่อมั่นว่าแผนกลยุทธ์ดังกล่าว นอกจากจะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานแล้ว เป้าหมายการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ และการพัฒนาแหล่งพลังงานรูปแบบใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน จะช่วยสร้างความมั่นคงและยั่งยืนด้านพลังงานต่อไปในอนาคต

ในด้านการสร้างความมั่นคงทางพลังงานนั้น บริษัทได้เพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการ G1/61 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อราคาพลังงานในประเทศไทย และสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศไทย นอกจากนี้ยังชนะการประมูลแปลงสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทยอีก 2 แปลง คือ แปลงจี 1/65 และแปลงจี 3/65 ซึ่งทั้ง 2 แปลงอยู่ใกล้กับโครงการที่บริษัทฯ ดำเนินการอยู่แล้ว จึงคาดว่าจะสามารถพัฒนาการผลิตปิโตรเลียมได้เร็วขึ้น

ด้านการขยายฐานการลงทุนในต่างประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย ปตท.สผ. ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงใหม่เพิ่มเติม และประสบความสำเร็จในการสำรวจพบแหล่งปิโตรเลียม ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตและสร้างการเติบโตให้กับบริษัทฯ ในอนาคต นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถรักษาต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) ให้อยู่ในระดับต่ำได้ตามเป้าหมาย ซึ่งจะช่วยรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในระยะยาวแม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์ราคาน้ำมันผันผวน

นอกจากการสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่องแล้ว ปตท.สผ. ยังได้ขยายธุรกิจไปสู่พลังงานสะอาดทั้งในและต่างประเทศ โดยได้รับสิทธิการพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ ในรัฐสุลต่านโอมาน ร่วมกับ 5 บริษัทชั้นนำของโลก ซึ่งโอมานเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาพลังงานทดแทน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมอันดับต้น ๆ ของโลก และพร้อมที่จะผลักดันการพัฒนาโครงการไฮโดรเจนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ยังขยายการลงทุนในพลังงานทดแทนนอกชายฝั่งเป็นครั้งแรก โดยได้เข้าลงทุนโดยอ้อมในโครงการ Seagreen Offshore Wind Farm ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดในสกอตแลนด์ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้บริษัทฯ ได้ทันที การลงทุนใน 2 โครงการดังกล่าว ยังเป็นโอกาสในการศึกษาและเรียนรู้การพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานสะอาดและพลังงานรูปแบบใหม่ ซึ่งจะส่งเสริมสร้างบริษัทไทยมีประสบการณ์และความชำนาญมากยิ่งขึ้นในการพัฒนาโครงการพลังงานสะอาดต่าง ๆ เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานในอนาคต

สำหรับการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น ปตท.สผ. ได้ประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 โดยวางแนวทางการดำเนินงานผ่านแนวคิด EP Net Zero 2050 ซึ่งในปี 2566 บริษัทฯ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมได้มากกว่า 2.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เมื่อเทียบกับความเข้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปีฐาน 2563

นอกจากนี้ ในด้านการพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) ที่แหล่งอาทิตย์ในอ่าวไทยนั้น ขณะนี้ บริษัทฯ ได้เสร็จสิ้นขั้นตอนการออกแบบด้านวิศวกรรม (Front-End Engineering Design) แล้ว คาดว่าจะเริ่มใช้เทคโนโลยีนี้ได้ในปี 2570 ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตได้ประมาณ 700,000-1,000,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

นอกจากความก้าวหน้าของการดำเนินงานด้านต่าง ๆ แล้ว ความสำเร็จของ ปตท.สผ. ยังสะท้อนผ่านผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง โดยในปี 2566 มีรายได้รวม 315,216 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 76,706 ล้านบาท ซึ่งประมาณ 40% ของกำไรสุทธิดังกล่าว มาจากโครงการในต่างประเทศ ทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออกกลาง  บริษัทฯ ยังได้นำส่งรายได้ให้แก่รัฐในรูปของภาษีเงินได้ค่าภาคหลวง และส่วนแบ่งผลประโยชน์อื่น ๆ จำนวน 54,280 ล้านบาท เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาชุมชน การศึกษา และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น

แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายในหลาย ๆ ด้าน แต่ด้วยการวางกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจโดยมุ่งการสร้างความสมดุลในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ปตท.สผ. จึงสามารถรักษาความแข็งแกร่งของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมซึ่งเป็นธุรกิจหลักไว้ได้ ขณะเดียวกันได้ขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจพัฒนาพลังงานสะอาด เพื่อวางแนวทางการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับองค์กร ไปพร้อมกับความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

ปตท.สผ. จึงเป็นอีกหนึ่งองค์กรของไทยที่เป็นตัวอย่างในด้านการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม