เมื่อราคาน้ำมันทะยานไม่หยุด สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับ ‘ปตท.สผ.’ คืออะไร? จริงหรือไม่ที่รายได้จะสูงกว่าจุดเดิมที่เคยทำมา

ตอนนี้โลกเรากำลังเผชิญกับวิกฤตด้านราคาพลังงาน หลังจากราคาน้ำมันดิบทะยานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งราคาน้ำมันยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นอีกหากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่สงบ เพราะรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก (ปริมาณการผลิตน้ำมันมากเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองแค่สหรัฐ และซาอุดิอาระเบีย)

และเมื่อสงคราม 2 ประเทศรุนแรงขึ้น ทางฝั่งสหรัฐซึ่งไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่รุนแรงขึ้น ล่าสุดเตรียมสั่งห้ามเรือส่งน้ำมันรัสเซียเข้าเทียบท่าในสหรัฐ ทำให้ความตึงเครียดในตลาดน้ำมันมากขึ้นเพราะอุปทานน้ำมันในสหรัฐจะขาดแคลนอย่างรุนแรงกระทบต่อตลาดน้ำมันโลกในท้ายที่สุด (ยิ่งอุปทานน้อยราคาน้ำมันจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น)

โดยนักวิเคราะห์บางสำนักคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะสามารถขึ้นไปแตะ 185-200 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ได้เลยทีเดียว และเนื่องจากราคาน้ำมันเป็นต้นทุนที่เชื่อมโยงกับหลายธุรกิจ ส่งผลให้ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นกลายเป็นต้นทุนส่วนเพิ่มของภาคธุรกิจ

แต่สำหรับบริษัทในกลุ่มพลังงานโดยเฉพาะผู้ผลิตต้นน้ำในห่วงโซ่การผลิตน้ำมันอย่างผู้ขุดเจาะน้ำมัน รวมไปถึงก๊าซจะได้รับอานิสงส์จากราคาขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามตลาดโลก (ผู้ผลิตจะปรับราคาก๊าซธรรมชาติขึ้นตามราคาพลังงานที่สูงขึ้น) ขณะที่ผู้ผลิตต้นน้ำจะไม่ต้องแบกรับต้นทุนจากน้ำมันเหมือนอย่างกลางน้ำ และปลายน้ำ

หนึ่งในผู้เล่นในกลุ่มพลังงานรายใหญ่ของประเทศไทยที่จะได้รับอานิสงส์เต็ม ๆ คือ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) ซึ่งประกอบธุรกิจด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงธุรกิจขนส่งก๊าซทางท่อในต่างประเทศ

โดยข้อมูล ณ เดือนมี.ค.2565 ปตท.สผ. มีมูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization) เป็นอันดับที่ 2 ของกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภคในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยอันดับที่ 1 คือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT (บริษัทแม่ของ PTTEP)

เห็นได้ชัดจากข้อมูลของปี 2564 ที่ประกาศออกมาโดดเด่น รายได้แตะระดับ 234,631 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% จากปี 2563 ซึ่งมีรายได้รวม 167,418 ล้านบาท โดยรายได้ที่ออกมาในปีที่แล้วทำจุดสูงที่สุดในรอบ 4 ปี (2018-2021)

และในปี 2564 ปตท.สผ.มีกำไรสุทธิ 38,864 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68% จากปี 2563 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 22,664 ล้านบาท

โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้นจากปริมาณการขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 18% ประกอบกับราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 12% จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปี 2564 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งในปี 2564 ราคานํ้ามันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 69.4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ยในปี 2563 ที่ 42.3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล คิดเป็นการปรับตัวขึ้น 64.07%

และเมื่อราคาน้ำมันดิบดูใบในต้นปี 2565 ทะยานต่อเนื่อง ล่าสุดขึ้นไประดับ 114.95 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล (จากราคาเฉลี่ยปี 2564 ที่ 69.4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล) คิดเป็นการปรับตัวขึ้น 65.63% (หากค่าเฉลี่ยนปี 2565 ยังคงตัวระดับสูง เท่ากับว่าราคาเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นในปีนี้จะมากกว่าปี 2564 ด้วยซ้ำ)

นอกจากนี้ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นยังทำให้ราคาก๊าซเพิ่มสูงขึ้นตาม (เป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท) ดังนั้น อัตรากำไรสุทธิของทั้ง 2 ธุรกิจจึงปรับตัวขึ้นตามอย่างแน่นอน นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ ปตท.สผ. กลายเป็นบริษัทที่น่าสนใจในแง่ของผลประกอบการที่จะประกาศออกมาในปี 2565 โดยมีลุ้นว่ารายได้จะทำจุดสูงสุดต่อจากปี 2564 ได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลของ ‘Business+’ พบว่า การที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นสำหรับ ปตท.สผ. แล้ว ส่วนหนึ่งจะได้รับผลกระทบเชิงลบในแง่ของผลขาดทุนจากการทำสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน หรือ Oil Price Hedging ซึ่งข้อมูลล่าสุด ปตท.สผ. ได้ทำประกันความเสี่ยงไม่เกิน 70% ของปริมาณขายน้ำมันดิบและคอนเดนเสท

ซึ่งการทำ Hedging ราคาน้ำมันนั้น จะเป็นผลดีในแง่ที่ราคาน้ำมันตกต่ำกว่ากรอบราคาที่ประกันไว้ โดยบริษัทฯ จะได้รับเงินชดเชยจาก Hedging มาช่วยเสริมกระแสเงินสดที่ลดลงจากรายได้ที่ลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก

แต่ถ้าหากราคาน้ำมันสูงกว่ากรอบราคาที่ประกันไว้อาจจะเกิดขาดทุนจาก Hedging โดยเงินที่ต้องชำระไปก็เปรียบเสมือนต้นทุนที่บริษัทต้องเสียไป เพื่อทำประกัน

และเงินในส่วนนี้จะต้องรายงานผ่านงบกำไรขาดทุนจะถูกรวมอยู่ใน “Non-recurring Items” หากมีกำไรจากการ Hedging จะบันทึกอยู่ในรายได้อื่น ๆ (Other Revenues) แต่ถ้าหากขาดทุนจากการ Hedging จะบันทึกอยู่ในค่าใช้จ่ายอื่น ๆ (Other Expenses)

โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา ปตท.สผ. รับรู้ผลขาดทุนจํานวน 234 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 7,722 ล้านบาท) โดยหลักจากสัญญาประกันความเสี่ยงราคานํ้ามัน เนื่องจากราคาซื้อขายนํ้ามันปรับตัวเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในวันนี้จะส่งผลดีต่อราคาก๊าซในอนาคต (ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของ ปตท.สผ.)

โดยมีการประเมินจากนักวิเคราะห์ว่า แนวโน้มผลประกอบการปตท.สผ. ในปี 2565 จะยังเติบโตต่อเนื่อง คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2565 อยู่ที่ 39,700 ล้านบาท จากปัจจัยบวกราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และฝั่งอุปทานยังตึงตัวจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ประกอบกับผู้ผลิตน้ำมันบางประเทศไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ตามโควต้าเพราะขาดการลงทุนในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว

ด้านบริษัทหลักทรัพย์เอเชียเวลท์ มองว่า ปตท.ส.ผ. จะมีกำไรสุทธิปี 2565 ที่ 5.57 หมื่นล้านบาท เติบโต 43% จากปี 2564 จาก 3 ปัจจัยหลัก คือ
1.ราคาขายเฉลี่ยนมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากน้ำมันดิบที่ทรงตัวในระดับสูง
2.ปริมาณขายเพิ่ม่ขึ้น 12.2%
3. ต้นทุนผลิตที่คาดว่าจะลดลง 2-5%

ด้วยเหตุผลนี้ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนว่า นอกจากปตท.สผ.จะได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันโลกที่ปรับขึ้นเพราะเป็นผู้ผลิตต้นน้ำของห่วงโซ่การผลิตน้ำมันและก๊าซแล้ว ยังมีข้อดีจากการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันเอาไว้ ซึ่งทำให้ ปตท.สผ.สามารถรับมือกับภาวะความผันผวนของราคาน้ำมันได้เป็นอย่างดี

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : SET

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ราคาน้ำมัน #น้ำมัน #น้ำมันขึ้น