‘พฤกษา’ ปรับกลยุทธ์สร้างความแตกต่าง มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์เทรนด์อนาคต

‘พฤกษา เรียลเอสเตท’ เป็นแบรนด์ที่สามารถดึงดูดความสนใจจากลูกค้าได้เสมอ ไม่ว่าพฤติกรรมของลูกค้าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม สาเหตุมาจากการเก็บข้อมูลความต้องการลูกค้าจากการทำวิจัยเชิงลึก ควบคู่ไปกับการสอบถามความต้องการจากลูกค้าด้วยตัวเองอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผลิตภัณฑ์ของพฤกษาสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง จนเป็นอีกปีที่พฤกษาสามารถคว้ารางวัล THAILAND TOP COMPANY AWARDS 2021 ประเภทอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ไปครอง

คุณปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้พฤกษาประสบความสำเร็จในแง่ของแบรนด์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้มากที่สุดแบรนด์หนึ่ง คือการใช้กลยุทธ์บริหารและออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยมุ่งเน้นความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ (Customer Focus) ด้วยการคำนึงถึง Customer Value ทั้ง 8 ด้าน ได้แก่ เรื่องของสถานที่ (Location) การใช้ประโยชน์ (Function) การออกแบบ (Design) ความสะดวกสบาย (Facility) ความปลอดภัย (Security) การบริการที่ดี (Service) รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมที่ดี (Environment) รวมไปถึงการสร้างความภักดีต่อแบรนด์ (Brand loyalty)

โดยพฤกษาได้เก็บข้อมูลความต้องการของลูกค้าด้วยการทำวิจัยในเชิงลึก รวมไปถึงเก็บข้อมูลจากพนักงานขายที่ได้พูดคุยและสอบถามความต้องการโดยตรงมาจากลูกค้า ซึ่งการเก็บรวบรวมข้อมูลในทุก ๆ ไตรมาส และนำข้อมูลเหล่านี้มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นเหตุผลที่ทำให้โครงการของพฤกษาสามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างรวดเร็ว
“วัฒนธรรมของพฤกษาคือ การรีเสิร์ชข้อมูลความต้องการจากลูกค้าตลอดเวลา เพื่อเจาะข้อมูลลูกค้าแต่ละกลุ่มว่ามี Lifestyle อย่างไร ต้องการสินค้าแบบไหน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ทำให้เราเข้าถึงลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น และสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าได้” คุณปิยะ กล่าว

กลยุทธ์การบริหารภายใต้วิกฤต
ถึงแม้ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์จะได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ลดลง แต่ทางพฤกษายังสามารถบริหารจัดการ และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อรับมือกับวิกฤตได้เป็นอย่างดี โดย คุณปิยะ กล่าวว่า พฤกษาได้มุ่งเน้นไปที่ลูกค้าที่เป็นเรียลดีมานด์ โดยเฉพาะโครงการแนวราบ และต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ที่พร้อมตอบสนองความต้องการได้ทันที อีกทั้งยังต้องนำเสนอผลิตภัณฑ์ในราคาที่จับต้องได้

อีกหนึ่งกลยุทธ์คือ การบริหารจัดการด้านสินค้าคงเหลือให้ดี โดยที่โครงการบ้านเดี่ยวที่อายุโครงการเกิน 6 เดือน ทางพฤกษาจะลดสต็อกลง เพื่อให้มีสินค้าคงเหลือให้น้อยที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีความคล่องตัว

ขณะที่ในช่วงที่หนี้สินครัวเรือนของประเทศไทยพุ่งสูงขึ้น ทำให้เกิดการปฏิเสธการให้สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก ทางพฤกษาได้จับมือกับพันธมิตรที่เป็น Non-bank เพื่อช่วยเหลือการจัดการทางด้านสินเชื่อ โดยหลักการคือการเข้าไปช่วยดูแลสุขภาพด้านการเงินเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ อีกหนึ่งกลยุทธ์ของพฤกษาคือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ และการให้บริการให้สอดคล้องกับธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูง (Mega Trend) โดยในช่วงที่ผ่านมาพฤกษาได้ออกแบบโครงการเพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้สูงอายุ อย่างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (Nursing Home) และมีบริการร่วมกับโรงพยาบาลสำหรับการตรวจเช็กสุขภาพให้ผู้อยู่อาศัยฟรี หรือแม้กระทั่งมีการออกแบบเพื่อจัดสรรพื้นที่ส่วนกลางให้เหมาะสมกับกลุ่มคนรักสุขภาพ โดยที่พฤกษาได้นำปัจจัยและความต้องการที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มเข้าไปในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งในส่วนนี้ทำให้โครงการของพฤกษาแตกต่างจากเจ้าอื่นอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ พฤกษายังมุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์เทรนด์ในอนาคตใน 3 เรื่อง คือ
1. พัฒนาผลิตภัณฑ์ตามเทรนด์สุขภาพ โดยการออกแบบโครงการให้เหมาะสมกับเทรนด์รักสุขภาพ เช่น การออกแบบศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งจะต้องให้แพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบบ้านให้เหมาะสำหรับการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ

2. พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ Lifestyle ของลูกค้า ยกตัวอย่างเช่น ในปัจจุบันลูกค้าจะต้องการบ้านที่มีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น และสามารถใช้บ้านเป็นที่ทำงานได้ ดังนั้น บ้านที่จะต้องตอบโจทย์คือบ้านที่มีการจัดสรรพื้นที่ได้ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่พฤกษาต้องออกแบบฟังก์ชันให้เหนือกว่าคู่แข่งเสมอ

3. พัฒนาผลิตภัณฑ์ตามเทรนด์รักษาสิ่งแวดล้อม และการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งในปัจจุบัน พฤกษาได้นำโซลาร์เซลล์มาใช้ในส่วนกลาง เช่น บ่อบำบัดน้ำเสีย คลับเฮาส์ต่าง ๆ ทำให้ประหยัดพลังงานไฟฟ้าพื้นที่ส่วนกลาง ขณะที่ในอนาคตโครงการบ้านเดี่ยวของพฤกษาจะสามารถกลายเป็นบ้านที่สร้างรายได้ แทนที่จะเสียค่าใช้จ่ายเพียงอย่างเดียว ด้วยการนำพลังงานโซลาร์เซลล์มาใช้
จะเห็นได้ว่า นอกจากพฤกษาจะมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่โดดเด่นแล้ว ยังเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เป็นอย่างมาก

ในด้านของการใส่ใจสิ่งแวดล้อม : พฤกษาเลือกที่จะนำนวัตกรรมด้านพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เพื่อลดพลังงานไฟฟ้า และติดตั้งในบ่อบำบัดน้ำเสียก่อนระบายลงสู่คลอง หรือแม่น้ำ ขณะที่โครงการของพฤกษาส่วนใหญ่จะใช้แบบสำเร็จรูปทำให้ขยะและมลพิษทางอากาศในโครงการก่อสร้างค่อนข้างน้อย

ในด้านของสังคม : หลังจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทางพฤกษาได้ออกแบบและสร้างโครงการที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้พื้นที่ในโครงการได้อย่างสะดวกสบาย นอกจากนี้ พฤกษายังจัดการฝึกอบรมให้ความรู้ความสามารถแก่ผู้พิการ แล้วจ้างงานให้เป็นพนักงานเพื่อช่วยยกระดับชีวิตของคนพิการ

ในด้านของธรรมาภิบาล : พฤกษาเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามหลักมาตรฐานสากล สะท้อนความมุ่งมั่นของบริษัทในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามหลักบรรษัทภิบาล โดยคำนึงถึงผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม และพฤกษายังเป็นหนึ่งในสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย หรือ Private Sector Collective Action against Corruption (CAC) อีกด้วย

ในตอนท้าย คุณปิยะ กล่าวกับเราว่า “พฤกษาพยายามจะออกแบบโครงการให้ Healthy มากที่สุด เหมือนเป็นสถานที่ที่ลูกค้าสามารถทำทุกอย่างได้ภายในบ้าน คือที่อยู่อาศัยที่สามารถตอบสนองการใช้ชีวิตได้ทุกอย่าง”

ที่มา : พฤกษา
.
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
.
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
.