ปีที่แล้วนับเป็นปีที่ย่ำแย่สำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยตามข้อมูลของบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ศึกษาตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวมของไทย ระบุว่า มูลค่ายอดขายรวมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลหดตัวแทบจะทุกประเภทที่อยู่อาศัยและทุกระดับราคา โดยเฉพาะบ้านทาวน์เฮ้าส์ที่ยอดขายปรับตัวลงถึง 30% จากปีก่อนหน้าในขณะที่ยอดขายคอนโดมิเนียมเองก็ปรับตัวลง 23% จากปี 2566 สอดคล้องกับมูลค่าการเปิดโครงการใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ลดลง 27% ท่ามกลางสถานการณ์ตลาดที่อุปทานยังมากกว่าอุปสงค์อยู่มาก
ด้านสายงานสินเชื่อธุรกิจของธนาคารเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP ก็มองว่า ยอดขายบ้านปีที่แล้วมีแนวโน้มลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 61,000 หน่วย ต่ำที่สุดในรอบ 8 ปี สอดคล้องกับยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยที่คาดว่าจะลดลง 15% จากปีก่อนหน้าไปอยู่ที่ 320,000 หน่วย ซึ่งเป็นยอดที่ต่ำที่สุดในรอบ 8 ปีเช่นกัน ในขณะที่การเปิดตัวโครงการใหม่ในปี 2567 ก็มีแนวโน้มลดลง โดยกลุ่มคอนโดมิเนียมอาจมียอดเปิดตัวลดลงถึง 50% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ภาวะชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์สะท้อนให้เห็นจากผลประกอบการของบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งที่มีกำไรหดตัวกัน โดยจากอินโฟกราฟฟิกนี้ มีเพียงแค่บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เท่านั้นที่มีผลกำไรเป็นบวกปรับขึ้น 3.3% จากปีก่อนหน้าไปอยู่ที่ 6189.5 ล้านบาท ส่วนอีก 9 บริษัทที่เหลือล้วนมีกำไรหดตัวหมด
สำหรับบริษัทที่มีการปรับลงของกำไรมากที่สุดคือบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ที่กำไรลดลงจากปีก่อนหน้า 79.3% มาอยู่ที่ 456.1 ล้านบาท จากยอดขายทาวน์เฮ้าส์ที่ร่วง 33.5% มาอยู่ที่ 5.9 พันล้านบาทและยอดขายคอนโดมิเนียมที่ปรับลง 44.2% มาอยู่ที่ 4.1 พันล้านบาท ทำให้รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทลดลง 22.4% มาอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท
สาเหตุที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์แย่ลงก็มาจากเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัว ประกอบกับการที่ช่วงปี 2565 – 2566 ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องจาก 0.50% เป็น 2.50% เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ทำให้การกู้ซื้อบ้านอาจมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้นถึง 5 เท่า ซึ่งด้วยเหตุผลทั้งสองอย่างนี้ก็ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องลดการใช้จ่ายลงและชะลอการซื้ออสังหาริมทรัพย์ออกไปก่อน
นอกจากนี้อีกปัจจัยหนึ่งคือ ภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงของประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์หันมาเพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณาปล่อยกู้มากขึ้น เนื่องจากว่าจำนวนหนี้ที่สูงทำให้มีโอกาสเกิดหนี้เสีย หรือ NPL มากขึ้น ซึ่งจะกลายมาเป็นความเสี่ยงกับธนาคารพาณิชย์เอง ดังนั้นเมื่อผู้บริโภคบางส่วนไม่สามารถขอสินเชื่อได้ ก็ทำให้ต้องชะลอแผนการซื้ออสังหาริมทรัพย์ออกไป
ทั้งนี้ ถ้าเราไปดูสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยในปี 2567 ก็จะพบว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 89.1% ปรับลดลงจากช่วงต้นปีที่อยู่ที่ 91.1% แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่
แต่ด้าน NPL ยังคงเพิ่มขึ้น โดยธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 ยอดคงค้างสินเชื่อ NPL ของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 5.3 แสนล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.78% ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 4.9 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.66%
ดังนั้นก็อาจสรุปได้ว่า สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้มีแนวโน้มแย่ลงอีก จากปัจจัยที่ได้กล่าวไปข้างต้นที่น่าจะเป็นปัญหาที่ต้องใช้เวลาแก้ไขนาน รวมถึงธนาคารพาณิชย์ที่จำเป็นต้องบริหารหนี้เสียผ่านการลดการปล่อยสินเชื่อต่อไปในปีนี้
ที่มา: คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการประจำปี 2567 ของบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน), ธนาคารเกียรตินาคินภัทร, ธนาคารแห่งประเทศไทย
ผู้เขียนและเรียบเรียง: พรบวร จิรภัทร์วงศ์
#BusinessPlus
#ธุรกิจ
#อสังหาริมทรัพย์
ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS