เปิดโผตัวเลขนักโทษทั่วโลก พบไทยมีผู้ต้องหามากสุด ติดอันดับ 6

ปัญหานักโทษล้นคุก ถือเป็นปัญหาของหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีจำนวนประชากรสูง หรือมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อย่างสหรัฐฯ และจีน

ถึงแม้ไทยจะเป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่กลับเผชิญปัญหาจำนวนนักโทษที่เพิ่มสูงขึ้น สาเหตุหลักอาจเป็นเพราะความเหลื่อมล้ำของคนในประเทศ และนักโทษส่วนใหญ่ถูกจับจากคดีเกี่ยวกับยาเสพติด (คิดเป็นราว 65% ของผู้ต้องขังทั้งหมด)

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ไทยต้องเจอกับปัญหาใหญ่มาตลอดหลาย 10 ปี คือ ไทยเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่อง “ปัญหานักโทษล้นคุก” โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า จำนวนนักโทษเป็นขาขึ้นมาโดยตลอด นับจากปี 2553 มีผู้ต้องขัง 102,234 คน มาสู่ระดับ 285,381 คน ในปี 2564


และในปี 2565 ถูกคาดการณ์จากกรมราชทัณฑ์ ว่าจำนวนผู้ต้องขังจะอยู่ที่ 268,992 คน ขณะที่ตามสภาพจริงแล้ว ในประเทศไทยนั้น มีพื้นที่มาตรฐานรองรับได้เพียงประมาณ 200,000 คน เท่ากับว่าในช่วงที่ไทยมีผู้ต้องขังสูงแตะระดับ 300,000 คน อย่างเช่นในเดือน ก.ค.2564 ผู้ต้องขังในเรือนจำจะต้องแออัดกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งตัวเลขที่มากขนาดนี้ ทำให้สภาพการดำรงชีวิตในทัณฑสถานอาจไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ

โดยที่ลักษณะของระบบราชทัณฑ์ของไทยมี 3 ข้อหลักๆ คือ
1) อัตราการคุมขังที่สูงทั้งชายและหญิง
2) ความแออัดสูง
3) ส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติด

และผลสำรวจในปี 2565 จาก Worldpopulationreview พบว่าไทยมีจำนวนผู้ต้องหามากที่สุดเป็นอันดับที่ 6 ของโลก โดยมีจำนวนนักโทษ 309,282 คน และอันดับที่ 1 ยังตกเป็นของสหรัฐฯ ซึ่งมีจำนวนนักโทษ 2,068,800 คน ส่วนอันดับ 2 คือ จีน ด้วยจำนวนนักโทษ 1,690,000 คน

โดยปัจจุบัน ประเทศไทยมีเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศทั้งหมด 143 แห่ง แบ่งออกเป็นการบริหารราชการส่วนกลาง ได้แก่ เรือนจำกลาง 33 แห่ง เรือนจำพิเศษ 4 แห่ง ทัณฑสถาน 24 แห่ง สถานกักกัน 1 แห่ง สถานกักขัง 5 แห่ง และการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ได้แก่ เรือนจำจังหวัด 50 แห่ง เรือนจำอำเภอ 26 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2563)

ซึ่งการที่จำนวนเรือนจำไม่สามารถรองรับนักโทษได้นั้น จะทำให้เรือนจำไม่สามารถดำเนินกิจกรรมในการแก้ไขอบรมผู้ต้องขังได้อย่างเต็มที่ และจะมีผลกระทบหนักในประเด็นของการแยกปฏิบัติต่อผู้ต้องขังประเภทต่างๆ เพื่อให้มีการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

โดยจำนวนผู้ต้องขังของไทยที่สูงมากนั้น มีสาเหตุมาจากการที่ประเทศไทยขาดมาตรการทางเลือกแทนการใช้โทษจำคุก และมาตรการลงโทษระยะกลาง จึงทำให้โทษจำคุกเป็นโทษหลักโดยไม่มีทางเลือกอื่น

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : ศูนย์ข่าวอาชญาวิทยา ,WorldpopulationReview

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/?hl=en
.
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #นักโทษ #ผู้ต้องขัง