vote

ฐานเสียงเลือกตั้ง Gen ไหนเยอะที่สุด?

ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งพรรคการเมืองจะต้องหานโยบายที่ใช้พัฒนาเศรษฐกิจ และระบบสังคมของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และเป็นนโยบายที่ดึงดูดให้ประชาชนหันมาเลือกพรรคของตนมากที่สุด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า แต่ละนโยบายก็เอื้อประโยชน์ให้คนแต่ละช่วงอายุแตกต่างกัน ดังนั้น พรรคการเมืองจะต้องหานโยบายที่โดดเด่น และเจาะกลุ่มช่วงอายุของคนที่มีฐานเสียงเลือกตั้งมากที่สุด และสำคัญที่สุดให้ได้

วันนี้ ‘Business+’ จะพามาเปิดข้อมูลว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในปี 2566 กลุ่มฐานเสียงจาก Generation ไหนที่มากที่สุด และสำคัญสำหรับพรรคการเมืองมากที่สุด? โดยจากการสำรวจข้อมูลด้านประชากรศาสตร์ของไทยในปี 2566 พบว่า จำนวนผู้มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ที่มีสัญชาติไทยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (ข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ณ เดือนก.พ.66) ในการประมาณการจำนวนผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งปีนี้ จะพบว่า ผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งมีจำนวนทั้งหมด 52,346,554 คน

สามารถแบ่ง Generation ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ดังนี้

  • GEN Z (ผู้มีอายุ18– 26ปี) 7,639,560 คน คิดเป็น  14.59%
  • GEN Y (ผู้มีอายุ 27– 42ปี) 15,116,509 คน คิดเป็น 28.88%
  • GEN X (ผู้มีอายุ 43– 58ปี) 16,086,024 คน คิดเป็น  30.73%
  • Baby Boomer (ผู้มีอายุ59– 77ปี) 11,248,515 คน คิดเป็น  21.49%
  • Silent Generation (ผู้มีอายุ78– 98 ปี) 2,220,007 คน คิดเป็น  4.24%
  • Greatest Generation และ Lost Generation (ผู้มีอายุ99– 133ปี) 35,939 คน คิดเป็น 0.069%

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ฐานเสียงของ Generation ที่สูงที่สุดคือ Gen X มีจำนวนมากที่สุดของฐานเสียงเลือกตั้งในประเทศไทย โดยมีสัดส่วนสูงถึง 30.73% ซึ่งกลุ่ม Gen X มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า Yuppie หรือ Young Urban Professionals คือ คนที่เกิดในช่วงปี 2508-2522 โดยคน Gen นี้มีรายได้มาก มีความรู้ ฐานะมั่นคง เพราะเกิดมาในยุคมั่งคั่ง ใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย เพราะเป็นยุคที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนาอย่างมาก และเป็นลูกหลานของ Gen Baby Boomer

โดย Gen นี้เติบโตมากับการพัฒนาของวิดีโอเกม คอมพิวเตอร์ และเป็นยุคที่รัฐบาลควบคุมอัตราการเกิดของประชากร เนื่องจากช่วง Gen Baby Boomer ส่งผลให้มีเด็กเกิดมากเกินไป และกลายเป็นปัญหาด้านทรัพยากรของประเทศที่ไม่เพียงพอต่อประชากรที่มากขึ้น

ลักษณะนิสัยในแง่ของการเงินนั้น ทางฝ่ายวิจัย ‘Krungsri The COACH’ ระบุว่า Gen x มีความ Work life balance สูง ทำงานแบบ Independence ได้ดี มีความเป็นตัวของตัวเองสูง เปิดกว้าง มีความคิดสร้างสรรค์ แต่ก็มีความขัดแย้งในตัวเองสูงเช่นกัน เช่น ต่อต้านสังคม ไม่ยึดกับขนบธรรมเนียม ส่วนลักษณะของการออมแล้วคนใน Gen X เป็น Gen ที่มีความพร้อมในการลงทุนมากที่สุด เพราะมีรายได้มาก มีความรู้ ฐานะมั่นคง แม้จะมีภาระมากมายก็ตาม

ดังนั้นกลุ่ม Gen X เป็นคนที่ชอบนิยมลงทุนในกองทุนรวม ทั้งประเภท LTF หรือ RMF เพราะลงทุนหุ้นในระยะยาว เพราะต้องการนำมาช่วยลดหย่อนภาษี (เมื่อมีรายได้มากก็จะต้องเสียภาษีมากตามไปด้วย จึงให้ความสำคัญกับการลดหย่อนภาษี และการออมเพื่อเพิ่มพูดความมั่งคั่ง)

อีกหนึ่งการลงทุน และการเลือกซื้อสินค้าที่เหมาะกับ Gen นี้ คือ การซื้อประกัน ทั้งประกันสุขภาพและประกัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นการเก็บเงินเอาไว้ใช้ในระยะ 10 – 20 ปีข้างหน้า เพื่อเป็นการวางแผนปัญหาสุขภาพที่จะตามมาพร้อมอายุ ดังนั้น หากต้องการดึงดูดคน Gen x อาจจะต้องพุ่งเป้าไปที่การสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว เน้นผลตอบแทนในการลงทุนที่ความเสี่ยงไม่มากนัก

ซึ่งในมุมมองของ ‘Business+’ แล้ว หากพรรคการเมืองใดต้องการเจาะฐานเสียงของ Gen x จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับนโยบายทางด้านภาษี สิทธิประโยชน์ด้านการออม รวมไปถึงการควบคุมคุณภาพของการผลิตสินค้าในประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพของกลุ่มคนวัยนี้

ส่วนในแง่ของการตลาดแล้ว นักการตลาดจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเจาะกลุ่มลูกค้า Gen X เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและมีหน้ามีตาในสังคม แต่เป็นกลุ่มที่ใช้เงินเป็นจึงพิถีพิถันในการเลือกซื้อสินค้าโดยต้องเป็นสินค้าที่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ Gen x ยังเป็นกลุ่มที่มีความภักดีต่อแบรนด์ (Loyalty) สูงมาก

ที่มา : สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง (ข้อมูล ณ เดือนก.พ.66)

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS