vote

ประชันนโยบาย 5 พรรคการเมือง กระตุ้นการเกิด-ช่วยเหลือคนแก่

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากเป็นอันดับ 4 ในเอเชีย และเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน ซึ่งในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าประเทศไทยถูกประเมินว่าจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Hyper-Aged Society) จากปัจจุบันมีประชากรสูงอายุทั้งหมด  12 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 18% จากประชากรทั้งประเทศ 71 ล้านคน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์นี้จะทำให้เกิดผลกระทบทั้งในมุมของสังคม และเศรษฐกิจต่อประเทศชาติ ทั้งในแง่ของรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น และรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ลดลง รวมไปถึงอาจจะต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนแรงงานในอนาคต

ดังนั้น นักการเมือง ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาประเทศชาติ จึงต้องให้ความสำคัญกับสังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) ที่ไทยกำลังเผชิญในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อปฏิรูปนโยบาย และแนวคิดเพื่อรับมือกับปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมกับต้องพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุ และกระตุ้นการมีบุตรของคนไทยไปพร้อม ๆ กัน

โดยก่อนหน้านี้ ‘Business+’ ได้ทำการสำรวจและรวบรวมนโยบายของพรรคการเมืองที่ให้ความสำคัญด้านสังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) ในแง่ของสวัสดิการผู้สูงอายุไปแล้วกับคอนเทนต์ ‘เปิดนโยบาย 4 พรรคการเมืองใหญ่ ให้ความสำคัญกับ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ มากแค่ไหน’ แต่จริงๆ แล้วการจะทำให้ประเทศชาติสามารถรับมือกับสังคมผู้สูงอายุได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องเกิดทั้ง 2 ด้าน คือการกระตุ้นให้ประเทศมีประชากรวัยทำงานมากขึ้น และการให้ความสำคัญกับสวัสดิการของผู้สูงอายุทั้งการเพิ่มคุณภาพชีวิต และการนำผู้สูงอายุกลับเข้ามาทำงานใหม่ ซึ่งการจะทำให้ผู้สูงอายุยังสามารถทำงานได้นั้น จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานและสวัสดิการที่เอื้อต่อการทำงานของผู้สูงอายุ

ซึ่งเราพบข้อมูลว่า ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566​ จะจัดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม นี้ มีพรรคการเมืองที่ออกนโยบายด้านการให้ความสำคัญกับการมีบุตร และสวัสดิการผู้สูงอายุที่โดดเด่น และเป็นรูปธรรมทั้งหมด 5 พรรค คือ พรรคก้าวไกล ,พรรคเพื่อไทย,พรรคพลังประชารัฐ,พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคประชาธิปัตย์ ดังนี้

Hyper Aged Society

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ เป็นพรรคที่มีนโยบายด้านสังคมผู้สูงอายุที่น่าสนใจมากมาย อย่างไรก็ตามนโยบายเหล่านี้จะสามารถทำได้จริงหรือไม่นั้น จำเป็นต้องวิเคราะห์ควบคู่ไปกับงบประมาณของภาครัฐที่จะนำมาใช้จ่ายว่าเหมาะสมหรือไม่ และจะเกิดประสิทธิภาพในระยะยาวได้มากน้อยแค่ไหน?

ซึ่งหากเราวิเคราะห์นโยบาย การเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่จะเป็นนโยบายชูโรงที่ได้รับฐานเสียงจากกลุ่มผู้สูงอายุจำนวนมาก แต่หากมองในแง่ของประสิทธิภาพในระยะยาว เรามองว่าอาจจะยังมีปัญหาเรื่องของการก่อหนี้สาธารณะของไทยอาจจะเพิ่มสูงขึ้น ถ้าหากพรรคการเมืองไม่มีแหล่งที่มาของงบประมาณจากส่วนอื่นนอกเหนือจากการกู้เงิน โดยปัจจุบันหนี้สินสาธารณะของไทย ณ เดือน ก.พ.2566 อยู่ที่ 10,724,775.89 ล้านบาท คิดเป็น 61.13% ของ GDP (คาดการณ์ GDP ที่ 17,544,472 ล้านบาท)

และสวัสดิการผู้สูงอายุนั้น หากเรานำมาเปรียบเทียบกับงบประมาณในปี 2565 จะเห็นว่าปีดังกล่าวรัฐบาลอนุมัติจัดสรรงบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ วงเงิน 83,999 ล้านบาท และมีการจัดสรรงบเพิ่มเติมอีก 8,348 ล้านบาท รวมเป็น 92,347 ล้านบาท ซึ่งสามารถจ่ายเบี้ยยังชีพเฉลี่ยให้ผู้สูงอายุได้รายละ 600-1,000บาท/เดือน เท่านั้น ซึ่งหากเราดำเนินการตามนโยบายเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3,000บาท/เดือน หรือเป็น 5,000 บาทต่อเดือน จะเท่ากับว่าประเทศไทยจะต้องใช้งบมากกว่าเดิมอย่างมหาศาลเลยทีเดียว

ขณะที่นโยบายกระตุ้นการมีบุตร โดยเฉพาะการให้ทุนเรียนฟรี รวมไปถึงให้เงินสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็ก คาดการณ์ว่าจะไปเพิ่มรายจ่ายในส่วนของงบประมาณรายจ่ายของกระทรวจศึกษาธิการ ซึ่งเป็นกระทรวงที่ในปี 2565 ได้รับการจัดสรรมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ด้วยงบประมาณ 332,398 ล้านบาท (รองจากงบกลาง 571,047 ล้านบาท) ซึ่งการสนับสนุนเลี้ยงดูเด็ก หรือแม้แต่พัฒนาการศึกษาก็จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ‘Business+’มองว่าการจะพิจารณาว่า นโยบายไหน ของพรรคใด จะทำได้จริงหรือไม่นั้น เราจำเป็นต้องมองไปถึงแนวทางในการจัดสรรงบประมาณว่าจะหามาจากไหนประกอบร่วมด้วย โดยที่ผ่านมา หลายพรรคได้เสนอแนวคิดการลดทอนงบประมาณที่ไม่จำเป็นออกไป รวมถึงไปเพิ่มรายได้ของประเทศด้วยเพื่อให้มีงบประมาณที่จะสามารถนำมาใช้รับมือกับปัญหาเหล่านี้ ซึ่งงบประมาณที่มากเพียงพอ และไม่ก่อหนี้สาธารณะมากจนเกินนั้น จะช่วยสร้างสมดุลให้กับตลาดแรงงานของไทยเพื่อรับมือกับสังคมผู้สูงอายุได้ในอนาคต 

ที่มา : เว็บไซต์พรรคการเมือง , pdmo

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/