เปิดนโยบาย 4 พรรคการเมืองใหญ่ ให้ความสำคัญกับ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ มากแค่ไหน

เข้าสู่ช่วงนับถอยหลังการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.2566 ภายหลังจากยุบสภา ซึ่งทำให้การหาเสียงของแต่ละพรรคการเมืองเริ่มเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง อีกหนึ่งในนโยบายที่ถูกนำมาใช้หาเสียงและถูกพูดถึงกว้างขวางนอกจาก ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ คือ การเพิ่มสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ

สาเหตุเป็นเพราะว่าประเทศไทยได้กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอนาคตจะกลายเป็นระดับสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Hyper Aged Society) จึงทำให้หลายพรรคการเมืองต้องหันมาเพิ่มสวัสดิการ รวมถึงออกนโยบายที่จะช่วยเหลือสังคมผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้พรรคการเมืองต้องให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุคือ ฐานเสียงของผู้สูงอายุในประเทศไทยปัจจุบันมีจำนวนมากถึง 25.80% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดอีกด้วย ดังนั้น พรรคการเมืองใหญ่จึงไม่รีรอที่จะออกนโยบายมาดึงดูดฐานเสียงจำนวนมากนี้

ทั้งนี้ ‘Business+’ ได้ทำการสำรวจข้อมูลด้านประชากรศาสตร์ของไทยในปี 2566 โดยพบว่า หากเราใช้จำนวนผู้มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ที่มีสัญชาติไทยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (ข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566) เพื่อประมาณการจำนวนผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งจะพบว่า ผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งมีจำนวน 52,346,554 คน

หากเราพิจารณาผู้ที่มีอายุอยู่ในช่วงตั้งแต่ Baby Boomer ขึ้นไปหรือผู้สูงอายุถือมีจำนวนถึง  13,504,461คน คิดเป็น 25.80% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ดังนั้นผู้สูงอายุจึงเป็นฐานเสียงสำคัญที่พรรคการเมืองต่างมุ่งเป้าเพื่อแย่งชิงฐานเสียงตรงนี้

โดย ‘Business+’ ขอหยิบยก นโยบายสวัสดิการต่างๆที่ดึงดูดผู้สูงอายุของ 4 พรรคการเมืองใหญ่มาเปรียบเทียบให้ดูกันแบบชัดๆ ว่าแต่ละพรรคมีนโยบายอย่างไรกันบ้าง เบื้องต้นเราขออธิบายสิทธิที่ผู้สูงอายุได้รับเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันคร่าวๆ  4 ส่วนด้วยกัน

  1. เงินบำนาญชราภาพผู้มีสิทธิได้รับคือ แรงงานในระบบที่มีสัญชาติไทย และอายุ 60 ปีบริบูรณ์ยกเว้นข้าราชการ เงินส่วนนี้คือเงินเดือนที่ถูกหักเข้าประกันสังคมทุกเดือน จนถึงวันเกษียนรวมกับเงินประกันสังคมส่วนที่นายจ้างสมทบ และผลประโยชน์ที่ได้รับเพิ่มจากกองทุนประกันสังคม ซึ่งเงินบำนาญชราภาพที่แรงงานได้รับหลังเกษียณโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 2,000-3,000 บาท/เดือน
  2. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ผู้มีสิทธิได้รับคือประชาชนทุกคนที่มีสัญชาติไทย และอายุ 60 ปีบริบูรณ์ ยกเว้นข้าราชการ เป็นเงินช่วยเหลือค่าครองชีพผู้สูงอายุจะจ่ายแบบขั้นบันได โดยแบ่งตามอายุ 60-69 ปี 600บาท/เดือนอายุ 70-79 ปีอ700 บาท/เดือน อายุ 80-89 ปี 800บาท/เดือนอและอายุ 90 ปีขึ้นไป 1,000บาท/เดือน
  3. บัตรสวัสดิ์การแห่งรัฐผู้สูงอายุ (ที่สามารถซื้อสินค้าธงฟ้าได้) ผู้มีสิทธิได้รับคือประชาชนทุกคนที่มีสัญชาติไทย และอายุ 60 ปีบริบูรณ์ยกเว้นข้าราชการ โดยผู้สูงอายุจะได้รับเป็นบัตรเติมเงินซึ่งสามารถใช้จ่ายได้เฉพาะร้านค้าธงฟ้าและร้านค้าที่ร่วมโครงการของรัฐเท่านั้น หรือจริงๆแล้วก็คือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ผู้ถือมีอายุ 60 ปี ขึ้นไปนั่นเอง โดยรัฐจะมีการเติมเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแบบทั่วไปให้ทุกเดือน เดือนละ 200-300 บาท แต่กรณีที่ผู้สูงอายุถือหรือเรียกว่า บัตรสวัสดิ์การแห่งรัฐผู้สูงอายุรัฐจะเติมเงินให้เพิ่มอีก 50-100 บาท/เดือน
  4. บัตรทอง 30 บาท รักษาทุกโรคผู้มีสิทธิได้รับคือผู้ที่มีสัญชาติไทยแต่ไม่มีสิทธิใดๆจากหลักประกันอื่นหลังจากเข้าใจรายละเอียดของสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุจากนโยบายเหล่านี้แล้ว เรามาดูกันว่า 4 พรรคใหญ่ที่มีฐานเสียงค่อนข้างสูงจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่าน ๆ มา มีนโยบายเกี่ยวกับ Aged Society อย่างไรบ้าง?

นโยบายสวัสดิการ ของ 4 พรรคการเมืองใหญ่ เพื่อเอาใจผู้สูงอายุ

AGED


จะเห็นได้ว่า “พรรคพลังประชารัฐ และพรรคก้าวไกล” จะเน้นไปด้านเพิ่มค่าครองชีพของผู้สูงอายุ ส่วนพรรคเพื่อไทยจะเน้นไปด้านการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลในส่วนที่ยังไม่ครอบคุมของสิทธิบัตรทอง 30 บาท ส่วนพรรคประชาธิปัตย์มีแนวคิดจะเน้นไปด้านเพิ่มค่าครองชีพของผู้สูงอายุเหมือนกับพรรคพลังประชารัฐและพรรคก้าวไกล

ซึ่งนโยบายแต่ละพรรค จะแตกต่างกันตรงจำนวนเงินที่มาในการใช้ดำเนินนโยบาย โดย พรรคประชาธิปัตย์ ใช้เงินจากการออมภาคบังคับที่เพิ่มขึ้นของประชาชนรวมกับเงินที่รัฐสมทบมาช่วยขับเคลื่อนนโยบาย ขณะที่นโยบายของพรรคพลังประชารัฐ และพรรคก้าวไกล นั้นใช้งบประมาณของภาครัฐในการดำเนินนโยบายเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ทั้ง 2 แนวคิดนี้นั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน ซึ่งการดำเนินการนโยบายของแต่ละพรรคต่างมีความท้าทายสูงมาก โดยเฉพาะข้อจำกัดด้านงบประมาณ

ทั้งนี้หากเปรียบเทียบจำนวนเงินกับงบประมาณในปี 2565 จะเห็นว่าปีดังกล่าวรัฐบาลอนุมัติจัดสรรงบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ วงเงิน 83,999 ล้านบาท และมีการจัดสรรงบเพิ่มเติมอีก 8,348 ล้านบาท ซึ่งสามารถจ่ายเบี้ยยังชีพเฉลี่ยให้ผู้สูงอายุได้รายละ 600-1,000บาท/เดือน ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปีงบ 2566 รัฐบาลจัดสรรงบเบี้ยผู้สูงอายุไว้ที่ 8.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากเราดำเนินการตามนโยบายเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3,000บาท/เดือน หรือเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาท/เดือน (ตามพรรคพลังประชารัฐ และพรรคก้าวไกล) จะเท่ากับว่าประเทศไทยจะต้องใช้งบมากกว่าเดิมอย่างมหาศาล

โดย ‘Business+’ พบข้อมูลจากงานวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์ช่องว่างทางการคลัง แหล่งรายได้ และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมือง ของการจัดตั้งระบบบํานาญแห่งชาติ” ของ ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้วิเคราะห์เอาไว้ว่า การเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็น 3,000บาท/เดือน รัฐบาลจะต้องใช้งบในปีแรกราว 3.7 แสนล้านบาท จะเห็นได้ว่ารัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณสูงกว่าเดิมถึง 4 เท่าตัว ในการเพิ่มรายรับให้ผู้สูงอายุเป็น  3,000 บาท/เดือน ซึ่งในความเป็นจริงงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลมีความยืดหยุ่นน้อยมาก

ซึ่งโครงสร้างงบประมาณปี 2566 จำนวน 3.19 ล้านล้านบาท มีรายจ่ายส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายประจำ 2.40 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 75% งบประมาณรายจ่ายทั้งหมด  และ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 9.30 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 3% จึงทำให้เหลืองบประมาณในการลงทุนโครงการต่างๆเพียง 6.95  แสนล้านบาท คิดเป็นเพียง 22% (ที่มา สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง)

ดังนั้น หากพรรคพลังประชารัฐ และพรรคก้าวไกลต้องการใช้งบประมาณ 3.7 แสนล้านบาทเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงอายุ เท่ากับว่าจะต้องใช้เงินงบถึง 53.23% ของงบประมาณการลงทุนในการเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นจำนวนเงินมหาศาล และอาจทำให้ประเทศไม่มีงบประมาณในการลงทุนโครงการอื่น ๆ ดังนั้น นอกจากจะมีการแจกเงินแล้ว ทั้ง 2 พรรคควรจะมีนโยบายที่สร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน เช่น การจ้างงานที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ และในอีกด้านต้องเร่งสนับสนุนให้คนมีลูก เพื่อแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย โดยนโยบายที่ภาครัฐสามารถทำได้คือ การใช้นโยบายให้สิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตร และนโยบายเพิ่มสิทธิลาคลอดเพื่อจูงใจให้คนอยากมีบุตรมากขึ้น

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง , สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง  , สำนักงบประมาณ

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/