อะไรจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย หลังประกาศ ‘ยุบสภาฯ’

ในวันนี้ (20 มี.ค.2565) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ. 2566 เพื่อให้คนไทยเลือกตั้งตัวแทนเข้ามาทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งภายใน 5 วันนับตั้งแต่วันนี้ ทาง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในราชกิจจานุเบกษา ภายใน 45 วัน (แต่ไม่เกิน 60 วัน)

หากมองผลกระทบต่อเศรษฐกิจว่า ประกาศยุบสภาฯ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง? ‘Business+’ มองว่า มีอยู่ 3 ปัจจัยหลัก ๆ ที่ส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจ ดังนี้

1. เกิดผลดีต่อเม็ดเงินที่จะสะพัดช่วงหาเสียง : โดยการประกาศยุบสภาฯ และการจัดการเลือกตั้งใหม่ จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนสะพัดจากการหาเสียงเลือกตั้งจำนวนมาก ซึ่งการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นปัจจัยบวกต่อการใช้จ่าย และนำไปสู่ตัวเลขเศรษฐกิจ (GDP) ที่สูงขึ้น

2. การเลือกตั้งใหม่ก็จะส่งผลดีต่อการพิจารณาโครงการเมกะโปรเจกต์ต่าง ๆ ที่อาจถูกดองจากรัฐบาลชุดเก่า : ซึ่งโครงการที่ต้องผ่านการอนุมัติงบประมาณจากภาครัฐจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่พัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น ยิ่งมีการเลือกตั้งเร็วเท่าไหร่โครงการเหล่านี้ก็มีโอกาสเริ่มได้อย่างรวดเร็ว และส่งผลดีต่อภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งเม็ดเงิน FDI นี้เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะนอกจากจะได้รับเม็ดเงินแล้ว เราจะได้รับการถ่ายทอดความรู้ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากต่างประเทศที่จะเข้ามาพัฒนาภาคธุรกิจของเรา

3. ส่งผลดีต่อการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) : สถานการณ์ทางการเมืองนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่คู่ค้าจะใช้ในการพิจารณาว่าจะเลือกทำการค้ากับประเทศใด หากประเทศที่การเมืองยังไม่นิ่ง หรือมีรัฐบาลที่ไม่น่าเชื่อถือในสายตาต่างชาติ ก็มักจะถูกดองสัญญาทางการค้าออกไปก่อน เพราะคู่ค้ามองว่าเสถียรภาพของเราไม่มั่นคง หากมีสัญญาที่ทำการเจรจาค้างเอาไว้ก็อาจจะถูกเลื่อนออกไปก่อนได้ แต่ถ้าหากยุบสภา และเปิดการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเรียบร้อย สัญญาเหล่านี้ก็อาจจะถูกพิจารณาได้รวดเร็วมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเจรจาการค้าจะสำเร็จหรือไม่นั้น ก็จะขึ้นอยู่สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศภายหลังเลือกตั้ง และความเชื่อมั่นในรัฐบาลชุดใหม่ต่อประเทศคู่ค้าด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การยุบสภาฯ ก็ยังมีผลกระทบด้านลบหากการเลือกตั้งล่าช้า เพราะการเลือกตั้งที่ล่าช้าจะส่งผลกระทบไปถึงการบังคับใช้กฎหมายทางการเงินหลายฉบับ เช่น พรบ. สถาบันประกันเงินฝาก และ พรบ. ธุรกิจสถาบันการเงิน ซึ่งจะต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดใหม่

นอกจากนี้ในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความไม่ชัดเจน หรือมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง อาจจะส่งผลลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ (โดยเฉพาะหากมีความรุนแรงจนถึงขั้นมีม็อบ หรือการประท้วง) ซึ่งเสถียรภาพทางการเงินที่ไม่ชัดเจนนี้จะมีผลต่อทั้งตลาดเงิน ในแง่ของค่าเงินบาทที่อาจจะอ่อนค่าได้ (คนอาจไม่เชื่อมั่นและทำการขายเงินบาททิ้ง) และอาจส่งผลต่อตลาดทุน (นักลงทุนถอนเงินลงทุนไปตลาดหุ้นอื่นที่เสถียรภาพทางการเงินมากกว่า) โดยคาดว่านักลงทุนและนักค้าเงินน่าจะยังคงติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่าง ๆ เพื่อที่จะประเมินแนวโน้มสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของเสถียรภาพของรัฐบาล โดยน่าจะกลับมาลงทุนอย่างจริงจังเมื่อมีความชัดเจนมากขึ้นแล้วเท่านั้น

ดังนั้น สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ อาจจะทำให้นักลงทุนยังคงทำการปรับพอร์ตการลงทุนไปหาสินทรัพย์ หรือหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือ ทองคำ ทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นลดน้อยลงได้เช่นเดียวกัน

ที่มา : https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/140A022N0000000000100.pdf?fbclid=IwAR1CpDyJrQco_l-EA0OVjZUHANA-1ZeAKNjm4sdYBMWMqyyQvwWEundBiaM