ส่งออกไทยไปต่อ!! รับบาทอ่อนค่า-PMI โลกแข็ง มันสำปะหลัง-ข้าว-น้ำตาลทราย สินค้า Hero

ถึงแม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจภาพรวมของไทยจะยังเติบโตแบบชะลอตัว โดยการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ถูกลดคาดการณ์เหลือเติบโตเพียง 2.5 – 3.5% (จากเดิมคาด 3.5-4.5%) จากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และยูเครน รวมทั้งราคาพลังงานในช่วงที่ผ่านมาที่ส่งผลถึงไปอัตราเงินเฟ้อให้เพิ่มสูงขึ้นด้วย
แต่สำหรับภาคการส่งออกไทยดูเหมือนจะยังติดลมบน โดยเฉพาะในช่วงที่เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง เพราะตามหลักการแล้วค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะทำให้สินค้าของไทยถูกลงในสายตาของชาวต่างชาติ ดังนั้นจึงดึงดูดให้มีการสั่งสินค้าจากไทยมากขึ้น
ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา รมว.พาณิชย์ เผยตัวเลขภาคการส่งออกมีมูลค่าอยู่ที่ 23,521.4 ล้านเหรียญฯ (ราว 801,256.49 ล้านบาท) ขยายตัว 10% จากตลาดคาด 14.6% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 25,429.8 ล้านเหรียญฯ (ราว866,266.14 ล้านบาท) ขยายตัว 21.5% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 1,908.4 ล้านเหรียญฯ (ราว 65,009.65 ล้านบาท) (คำนวณ ณ อัตราแลกเปลี่ย 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.065 บาท)
ซึ่งการขยายตัวในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา (เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14) หนุนให้ภาคส่งออกช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.65) มีมูลค่ารวม 97,122.8 ล้านเหรียญฯ (ราว 3,308,245.17) ขยายตัว 13.7%
โดยนอกจากค่าเงินที่อ่อนค่าแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนคือดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) ที่อยู่เหนือระดับ 50 โดยที่ PMI เป็นตัวชี้วัดที่นักเศรษฐศาสตร์ให้ความสำคัญมาก เพื่อดูทิศทางและแนวโน้มของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งภาคการผลิตและภาคบริการของโลกในปัจจุบันและอนาค
การที่ PMI อยู่ระดับ 50 แสดงให้เห็นว่า แนวโน้มเศรษฐกิจและภาวะธุรกิจโดยรวมมีทิศทางดีขึ้น เท่ากับว่าโลกยังมีความต้องการสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้น จึงทำให้การส่งออกไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป อินเดีย เกาหลีใต้ และอาเซียน
นอกจากนี้ ยังมีหลายปัจจัยที่เกื้อหนุนการส่งออกในอนาคต เช่น การเร่งรัดการส่งออกข้าว, การขยายความร่วมมือกับตลาดการค้าใหม่ๆ, การลงนามในมินิเอฟทีเอ, การประชุมเจทีซีไทย-เวียดนาม, การเจรจาระดับทวิภาคี, การส่งเสริมการส่งออกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์, ภาคการผลิตโลกยังมีการเติบโต และเงินบาทอ่อนค่า
ทีนี้มาดูข้อมูลเป็นรายกลุ่มกันว่า สินค้ากลุ่มไหนที่มีการเติบโตโดดเด่น ทั้งนี้หากดูมูลค่าของการส่งออกช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย. 2565) พบว่าสินค้าเกษตรกรรม (กสิกรรม,ปศุสัตว์,ประมง) มีมูลค่าส่งออกสูงที่สุดคือ 275,478.32 ล้านบาท คิดเป็น 8.65% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด โดยที่ข้าวยังเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงที่สุด
สำหรับสินค้าสำคัญที่มีการขยายตัวต่อเนื่องในเดือนเม.ย. ได้แก่
– สินค้าเกษตร ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง สินค้าสำคัญ ได้แก่ มันสำปะหลัง ขยายตัว 49.5% และข้าว ขยายตัว 44% ซึ่งคาดว่าปีนี้จะส่งออกได้ 7-8 ล้านตัน สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ เงาะสด มังคุดสด และ มะม่วงสด
– สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 14 เดือนต่อเนื่อง สินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำตาลทราย ขยายตัว 87.9% อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 24.7%
– สินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 14 เดือนต่อเนื่องเช่นกัน สินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ขยายตัว 53.2% อัญมณีและเครื่องประดับ ขยายตัว 48.5%
ส่วนตลาดส่งออกที่ขยายตัวได้ดี 10 อันดับแรก ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ เอเชียใต้ อาเซียน ตะวันออกกลาง แคนาดา ไต้หวัน แอฟริกา สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และ ฮ่องกง
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ามูลค่าการส่งออกของไทยจะเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง แต่หากมูลค่าการนำเข้าที่สูงขึ้นตาม และสูงมากกว่ามูลค่าการส่งออก (โดยเฉพาะในช่วงที่ต้นทุนพลังงานสูง) ก็จะส่งผลให้ประเทศขาดดุลการค้ากับโลก และเป็นตัวกดตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมในท้ายที่สุด ซึ่งเป็นที่มาของการปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจในปี 2565
ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ธุรกิจ #ส่งออก #การส่งออก #มูลค่าส่งออก #การค้า